Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

Jonathan Livingston Seagull: Neil Diamond และ “ชัยพร นำประทีป”

คอลัมน์ : เซาะร่องเสียง 

โดย นกป่า อุษาคเณย์

จะกินอะไรไม่สน บินวนอยู่บนท้องฟ้า

มีเพียงเวลาอยู่เหนือทะเล ด้วยความเร็ว แรงและสง่า

เจ้านางนวลปีกงาม ตัดแผ่นฟ้า

สาดดวงตา ทายท้า กระแสลม

ใครจะประณาม​เหยียดหยาม นางนวลก็ยังบินไป

มีไปทำไมชีวิตถ้าคิดเพียงแย่งกันกิน ชิงแย่งกันอยู่

ออกโบยบิน บินไปได้เรียนรู้

โลกมีรัก รักมี สิทธิ์เสรี

*บิน บินให้เร็วเท่าความคิด

บิน จากกฎเกณฑ์ที่จำเจ

สติปัญญาเท่านั้น สมควรกับการรับรู้

นางนวลบินดู อุทิศใจกาย มองฟ้างาม

ไกลและกระจ่าง จากอารมณ์ ติดอัตตา ไม่เดียงสา

เกิดปัญญา โจนาธาน เจ้านางนวล

(บทเพลง: โจนาธาน (1) อัลบั้ม: แม่เงา ศิลปิน: เอี้ยว ณ ปานนั้น (ชัยพร นำประทีป)

Jonathan Livingston Seagull หรือ “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน: นางนวล” ฉบับภาษาไทย สำนวนแปล “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ต้นฉบับประพันธ์โดย Richard Bach นักเขียนชาวอเมริกัน

เรื่องราวของ “นกนางนวล” นอกแถว ที่ออกบินเพื่อค้นหาตัวตน และแสวงหาคำตอบให้กับชีวิต แทนที่จะหากินไปวันๆ “โจนาธาน” สร้างวิธีการบินของตนเอง และฝึกฝนในแบบที่นกนางนวลในโลกไม่เคยทำมาก่อน  ส่งผลให้เขาต้องถูกขับออกจากฝูง!

Jonathan Livingston Seagull ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1970 ตรงกับยุคแสวงหา และบทเพลงบุปผาชนก้องกังวานไปทั้งโลก

Richard Bach ใช้เวลาไม่ถึง 50 ปี Jonathan Livingston Seagull ก็ขึ้นชั้น “วรรณกรรมคลาสสิค” ด้วย “จิตวิญญาณแห่งโจนาธาน” ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่หนุ่มสาวรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้กล้าที่จะตั้งคำถามต่อปัจจุบัน!

ประดุจคัมภีร์อีกด้านของ The Catcher in the Rye

บทเพลง “โจนาธาน” ภาคภาษาไทย ของ “เอี้ยว ณ ปานนั้น” ดูเหมือนจะเป็นเพลงเดียวที่นำเนื้อหาจากวรรณกรรม Jonathan Livingston Seagull “โจนาธาน ลิฟวิงสตัน: นางนวล” มาเรียงร้อยเป็นบทเพลง

ด้วยรากฐานการเป็นนักอ่าน นักฟังเพลง นำสู่สถานะนักแต่งเพลง กวี และศิลปิน จึงเข้าใจไม่ยาก ว่าเหตุใด “โจนาธาน” จึงขึ้นชั้นเป็นงานระดับคลาสสิคของ “เอี้ยว ณ ปานนั้น” (ชัยพร นำประทีป)

“โจนาธาน” บรรจุอยู่ในอัลบั้ม “แม่เงา” ผลงานอัลบั้มลำดับที่ 3 ในปี พ.ศ. 2538

ถาม: แรงบันดาลใจตอนที่เขียนเพลง “โจนาธาน”

ตอบ: “โจนาธาน” ​เป็นวรรณกรรม​ที่คนในแวดวงหนังสือ​พูดคุย ​และบอกต่อจนรู้กันเป็นธรรมชาติมาตั้งแต่ยุค 14 ตุลา ​ว่าควรอ่าน ผมอ่านครั้งแรกก็ยังไม่ได้มีความคิดจะเขียนเป็นเพลง มาเขียนตอนอ่านครั้งที่เท่าไหร่​จำไม่ได้​ อาจจะ​ครั้งที่ 2, 3 หรือ 4 เนื่องจาก​ต้องอ่านจนคิดว่าจับใจความ และตีความได้ แล้วจึงมีความคิดที่จะเขียนเป็นเพลง โดยเอาความเข้าใจส่วนตัวบางส่วนเขียนเป็นคำร้องใส่ไปในเนื้อเพลง​ด้วย

คราวนี้เวลานำไปร้องสื่อสาร​กับผู้ฟังก็ใช้เป็นหัวข้อพูดคุยเรื่องอิสรภาพ​ เสรีภาพ​ ทัศนะ​การใช้ชีวิต​ได้ด้วย

ถาม: โจนาธาน จึงมี (1) และ (2) เหตุใดถึงแบ่งเป็น 2 เพลง

ตอบ: จริงๆ คือเพลงเดียว แต่เรียกว่า 2 เวอร์ชั่น​ อันหนึ่ง เป็น Rock อีกอันเป็น Folk-Rock

ถาม: กว่า 50 ปีที่ Richard Bach ตีพิมพ์ Jonathan Livingston Seagull และอาจารย์ชาญวิทย์ได้แปลเอาไว้ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา พี่เอี้ยวคิดว่าคนอ่านแต่ละรุ่นตีความวรรณกรรมเล่มนี้ต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ตอบ: อันนี้แล้วแต่ประสบการณ์​ของแต่ละคน ว่าจะตีความกว้าง-ลึกแค่ไหน บางคน บางกลุ่ม อาจตีความให้เป็นแค่เรื่องความคิดแหกคอกของนกขบถ ที่คิดใฝ่หาอิสรภาพ ​เสรีภาพ​ จากนั้นก็เอามานั่งถกเถียงเทียบเคียงกับค่านิยมตามขนบของสังคม​ที่ตัวเองเชื่อว่ามีการตีกรอบ บอกสอนให้คนในสังคมเชื่อและทำตามๆ กัน จากนั้น​ก็อาจคิดต่อไปว่าเราจะต้อง​แหกกฎ ทะลายกำแพงออกไป หรือบางคนอาจจะตีความให้ไปถึงเรื่องการเติบโตทางจิตวิญญาณ​ภายในก็ได้ อันนี้​ก็แล้วแต่ประสบการณ์​ของแต่ละคนหรือกลุ่มคน

แต่ส่วนตัวผม ตีความไปถึงเรื่อง​การลดอัตตา​ตัวตน เพราะโดยส่วนตัว​เชื่อว่า คนที่มีอัตตาตัวตนจะไม่มีทางค้นพบอิสรภาพ​ เสรีภาพ ​ในความหมาย​ที่​แท้จริง​ได้ เพราะอัตตานี้แหละเป็นต้นเหตุ​สำคัญ​ที่จะคอยฉุดรั้ง​ไม่ให้เราค้นพบอิสรภาพ​ในความหมาย​ที่แท้จริง คนที่มีอัตตามาก และส่วนใหญ่มักไม่รู้​ตัว  โดยมากมักชอบเอาชุดความคิดมาถกมาคุยกัน เรื่องที่คุยก็มักมีเรื่องอิสรภาพ ​เสรีภาพ ​รวมอยู่ด้วย คุยแล้วก็อาจเพลิน​จนคุยกันต่อไปว่าจะแหกขนบของสังคมออกไปอย่างไร อาจจะ​มีแอ็คชั่น​ตามมา จริงอยู่ที่มันอาจจะเป็นไปได้ว่า จุดเริ่มต้นของการค้นหาอิสรภาพ​ เสรีภาพ​ มันอาจจะ​เริ่มภายใต้อำนาจของอัตตา​ตัวตนที่ตัวเอง​รู้สึก​อึดอัด​กับกฎเกณฑ์​ต่างๆ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราต้องการ​ที่จะพบอิสรภาพ ​เสรีภาพ ​ในความหมาย​ที่แท้จริง ถึงจุดหนึ่งเราต้องละวางอัตตา​ตัวตนทั้งหมด​

ผมจึงไม่คิดว่าแค่ความคิดเรื่องแหกคอก หรือแอ็คชั่น​ ที่อยู่ใต้อำนาจอัตตา​ตัวตนมันคือ “จิตวิญญาณ​” ที่แท้ของ “โจนาธาน”​ คิดดู ถ้าอิสรภาพ ​เสรีภาพ​ ที่มันเกิดภายใต้อำนาจอัตตา​ตัวตน​ที่มีศักย​ภาพ​ในการคิด แล้วก็บอกว่า ฉันจะเป็นผู้ปลดปล่อย​ตัวเองให้มีอิสรภาพ ​เสรีภาพ​ ซึ่ง​เอาเข้าจริง เรื่องที่คิดตามอำนาจของอัตตา​ตัวตนที่ตัวเองอยากให้มีให้เป็น มันอาจจะ​เป็นแค่ความคิด ​ที่คิดบนพื้นฐาน​การเอาแต่ใจตัวเองก็ได้ และหากเป็นเช่นนั้นแล้ว มันจะเป็นอิสรภาพ ​เสรี​ภาพ ​ในความหมาย​ที่​แท้จริง​ได้อย่างไร

ส่วนตัว​จึงคิดว่า “โจนาธาน​” ไม่ใช่ “ความคิดเรื่องอิสรภาพ​ เสรีภาพ​” แต่ “โจนาธาน ​คืออิสรภาพ ​เสรีภาพ​ที่ไม่อยู่​ใต้อำนาจความคิดของอัตตาตัวตน” เนื้อเพลง​ท่อนสุดท้าย​จึงเขียนถึง​สติปัญญา​การละวางตัวตน

ถาม: เหตุใดจึงเขียนเมโลดี้ และการเรียบเรียงเพลงโจนาธาน (1) และ (2) ดังกล่าว

ตอบ: ตอนเขียนเพลงนี้ อันดับ​แรกเลย ผมตั้งใจจะให้เพลงนี้มีท่วงทำนองกระฉับกระเฉง​ ให้มันสอดคล้อง​กับ​จิตวิญญาณ​ขบถของคนหนุ่มสาววัยแสวงหา ส่วนดนตรี​ที่เรียบเรียงตามมา ที่ว่าเป็น 2 เวอร์ชั่น​ จริงๆ​ แล้วหลักๆ มันต่างกันแค่ไลน์กีตาร์​ริทึ่ม เวอร์ชั่น Rock เอาไลน์​กีต้าร์​ริทึ่มไฟฟ้านำ ส่วนเวอร์​ชั่น Folk-Rock เอากีต้าร์​โปร่งนำ

ถาม: นอกจาก Neil Diamond ที่ทำเพลงประกอบภาพยนตร์แล้ว ก็มีพี่เอี้ยวที่ทำเพลงโจนาธาน คิดว่าทำไมศิลปินคนอื่นถึงไม่ทำ

ตอบ: ผมว่าน่าจะ​มีคนทำอีกนะครับ เพียงแต่เราอาจจะ​ยังไม่เคยได้ยิน

เอี้ยว ณ ปานนั้น

“เอี้ยว ณ ปานนั้น” ชื่อจริง “ชัยพร นำประทีป” ศิลปินเพลงสร้างสรรค์สังคม ที่มีผลงาน 9 อัลบั้มในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ถือเป็นนักดนตรีเปิดหมวก และศิลปินใต้ดินยุคแรก ที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สิ่งแวดล้อม ช่วงหลังเขาได้ศึกษาธรรมะ และมีผลงานเพลงเกี่ยวกับธรรมะหลายอัลบั้ม งานส่วนใหญ่ของ “ชัยพร” เป็นแนว Folk

“โจนาธาน” เป็นอีกหนึ่งบทเพลงสร้างชื่อให้กับ “เอี้ยว ณ ปานนั้น” ที่ได้สังเคราะห์วรรณกรรมออกมาเป็นบทกวี และบทเพลงตามลำดับ ถูกขอให้เล่นทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวในที่สาธารณะ และสื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ถึงเพลง “โจนาธาน” ของ “เอี้ยว” อยู่เสมอ

เพลงประกอบภาพยนตร์ของ Neil Diamond ที่เราพูดถึง คือ Longplay ที่ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1973 พร้อมกับ Cassette และ CD เป็น Soundtrack Album จากหนังเรื่อง Jonathan Livingston Seagull (ออกฉายปีเดียวกัน)

เขียนบทและกำกับโดย Hall Bartlett โดยได้เจ้าของบทประพันธ์ Jonathan Livingston Seagull คือ Richard Bach มาร่วมเขียนบทด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=Bb5KOXuDbEo&list=PLAbSwpu-qbTlLXQC8jffzur_ymhNJ2Tnq

Jonathan Livingston Seagull (Soundtrack) ผลงานของ Neil Diamond คว้ารางวัล Grammy Awards ประจำปี ค.ศ. 1974 สาขา Album of Best Original Score Written for a Motion Picture or a Television Special โดย Neil Diamond ในฐานะ Composer

Neil Diamond ใช้ Orchestra วงใหญ่กว่า 100 ชีวิต ร่วมกับ Lee Holdridge วาทยากร และผู้เรียบเรียงเสียงประสาน มี Tom Catalano รับหน้าที่ Producer กลิ่นอายการเขียนเพลงใช้ Folk เป็นฐาน ร่วมกับการบรรเลงแบบ Big Band เสียงที่ออกมาจึงอลังการมาก

ฝีมือการเขียนเพลงของ Neil Diamond ออกทางกวีนิพนธ์ค่อนข้างสูง สอดคล้องกับบทประพันธ์ของ Richard Bach ที่มีท่วงทำนองแบบโศลกร้อยแก้ว พรรณาการเดินทางของ “โจนาธาน”

โดยทั่วไป เพลงประกอบภาพยนตร์มีแฟนติดตามกลุ่มเล็กๆ ส่วนมากเป็นแฟนภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ทว่า Jonathan Livingston Seagull (Soundtrack) ของ Neil Diamond ชุดนี้ นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิตยสาร Rolling Stone ยกนิ้วให้ ว่าเป็นอัลบั้มประกอบหนังที่ยอดเยี่ยม

Rolling Stone บอกว่า เป็นเพราะเนื้อหากวีนิพนธ์ที่ดุดัน และเสียงร้องที่ดำดิ่งในอารมณ์ของ Neil Diamond ร่วมกับการบรรเลงแบบ Hardcore ของวง Orchestra 110 ชิ้น ผนวกกับคณะนักร้องประสานเสียงชาย ทั้งหมดนี้ อยู่เบื้องหลังความแข็งแรงของตัวเพลงทั้ง 12

แม้ Tracklist จะเดินตามเส้นเรื่องของภาพยนตร์ แต่หากแยกฟังออกมาเป็นอัลบั้มเดี่ยวๆ จะพบการเรียงร้อยที่ให้ความรู้สึกเป็นอิสระจากเนื้อเรื่อง ขณะเดียวกัน หากฟังพร้อมกับพิจารณาบทหนังไปด้วยก็จะพบความสอดคล้องทั้งสองแบบอย่างน่าประหลาด

Rolling Stone ย้ำว่า ผลงานชุดนี้ของ Neil Diamond เข้าขั้น Masterpiece ที่บรรดานักวิจารณ์ต่างท้าทาย ว่า Richard Bach เองซึ่งเป็นเจ้าของบทประพันธ์ ไม่มีทางที่จะเขียนเพลงให้ออกมาได้ดีกว่า Neil Diamond ได้!

ที่ Rolling Stone กล่าวเช่นนี้ คงเป็นเพราะ เพลงในชุดนี้ มีเพลงบรรเลงที่ถูกนำไปใส่เนื้อ แต่บรรจุอยู่ในชุดเดียวกัน เมื่อฟังเปรียบเทียบ คือหากแยกฟังแล้ว มันจะกลายเป็นคนละเพลงกันไปเลย!

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Jonathan Livingston Seagull (Soundtrack) ของ Neil Diamond ขึ้นชั้นเพลงประกอบภาพยนตร์ระดับคลาสสิคอย่างรวดเร็ว คือใช้เวลาเพียง 50 ปี เช่นเดียวกับวรรณกรรม Jonathan Livingston Seagull ของ Richard Bach เลยทีเดียว!

Tracklist

Side One

  1. Prologue: And here begins our story-the sky, the sea, the flock. 3:19
  2. Be: Introduction of Jonathan-his flight and fall. 6:28
  3. Flight of the Gull: Jonathan is carried to the heights of ambition, and to near catastrophe. 2:23
  4. Dear Father: Battered, and near death, Jonathan asks for reasons. 5:12
  5. Skybird: Returning home to show what he has learned, his acrobatics only serve to anger the flock elders. He is put on trial, and forever…outcast. 1:12
  6. Lonely Looking Sky: Alone and adrift. 3:12

Side Two

  1. The Odyssey (Be-Lonely Looking Sky-Dear Father): And so begins a journey, an odyssey, a test of the spirit. 9:28
  2. Anthem: Transcend, purify, glorious. 3:03
  3. Be: Jonathan returns to teach the flock. 1:06
  4. Skybird: The lesson. 2:18
  5. Dear Father: Rebuked again by the elders, Jonathan attempts to rally the flock. 1:14
  6. Be: Recapitulation and farewell to Fletcher. 3:26

Neil Diamond

Neil Diamond ศิลปินชาวอเมริกัน เจ้าของผลงาน 32 สตูดิโออัลบั้ม 8 บันทึกการแสดงสด และ 2 เพลงประกอบภาพยนตร์ หนึ่งในนั้นคือ Jonathan Livingston Seagull และอีกอัลบั้มคือ The Jazz Singer ผลงานการกำกับของ Richard Fleischer ในปี ค.ศ. 1980 โดย Neil Diamond แสดงนำ

Neil Diamond ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปิน Adult Contemporary ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 รองจาก Barbra Streisand และ Elton John

Post a comment

8 + 14 =