Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ราชสีห์ผู้กล้าหาญแห่งวงการเพลงไทย

คอลัมน์: เซาะร่องเสียง
โดย นกป่า อุษาคเณย์

“สุรสีห์ อิทธิกุล” เป็น “คนดนตรี” ในวงการเพลงไทยที่เป็นทั้งคนเบื้องหน้าและคนเบื้องหลังจำนวนไม่มาก เรียกได้ว่านับนิ้วได้ ที่ร่ำเรียนเขียนอ่านทางด้านการประพันธ์ดนตรีและการเรียบเรียงเสียงประสานโดยตรง

เพราะ “สุรสีห์ อิทธิกุล” สำเร็จการศึกษาทางด้านการประพันธ์ดนตรีและการเรียบเรียงเสียงประสานจาก University of Oregon ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2517

ที่เมือง Oregon ที่ “สุรสีห์ อิทธิกุล” พำนักพักอยู่และร่ำเรียนหนังสือ มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีความงดงามและเป็นสถานที่ซึ่งมีชื่อเสียงของเมืองOregon นั่นคือทะเลสาบ Triangle Lake

อันเป็นที่มาของชื่อวงดนตรี Trio หรือวง 3 ชิ้น ที่ชื่อ Triangle Lake โดยมีสมาชิก 3 คนประกอบด้วย “กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา” “จิรพรรณ อังศวานนท์” และแน่นอน “สุรสีห์ อิทธิกุล”

Triangle Lake เป็นวงดนตรีอาชีพ เล่นประจำอยู่ที่โรงแรมมณเฑียร ซึ่งเป็นศูนย์รวมมือพระกาฬแห่งวงการดนตรีไทยในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น The Impossible หรือ Oriental Funk ของ “เรวัต พุทธินันทน์”

อย่างไรก็ดี Triangle Lake ไม่ใช่วงดนตรีแรกของ “สุรสีห์ อิทธิกุล” เพราะเขาเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นนักแต่งเพลงชื่อดัง คืออาจารย์ “วิม อิทธิกุล”

เจ้าของผลงานการแต่งเพลงมากมายให้กับนักร้องลูกกรุงแถวหน้าของฟ้าเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น “ชรินทร์ นันทนาคร” “สุเทพ วงศ์กำแหง” “ธานินทร์ อินทรเทพ” “ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา” “มีศักดิ์ นาครัตน์” “สวลี ผกาพันธุ์” “รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส” “จินตนา สุขสถิตย์” “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” “ลินจง บุนนากรินทร์”

ตอนที่เรียนอยู่แค่ชั้น มศ. 5 “สุรสีห์ อิทธิกุล” กับเพื่อนๆ ได้ตั้งวง “ไดนามิค” แม้จะเป็นการรวมวงเพียงช่วงสั้นๆ ทว่า ในภายหลัง “สุรสีห์ อิทธิกุล” ได้ใช้ชื่อวง “ไดนามิค” ในการแสดงคอนเสิร์ต “กัลปาวสานนั้นนานเพียงใด” หรือ “จุดประกายคอนเสิร์ตซีรี่ย์ส #41”

แม้จะมีภาพจำ และมีความเชี่ยวชาญเครื่องดนตรีกีตาร์ ทว่า ในช่วงหัดเล่นดนตรีใหม่ เครื่องดนตรีที่ “สุรสีห์ อิทธิกุล” เริ่มจับกลับกลายเป็นเปียโน และฟลุท โดยในระหว่างที่เรียนอยู่ University of Oregon เขาได้ตั้งวงกับเพื่อนในสถาบัน ชื่อวงว่า Baby Fingers รับเล่นตามงานแสดงต่างๆ ของโรงเรียนๆ ใน Oregon

หลังจากสำเร็จการศึกษาจาก University of Oregon “สุรสีห์ อิทธิกุล” เข้ารับราชการกองดุริยางค์ทหารบก สร้างผลงานการประพันธ์บทเพลง “เลือดไทย” และแสดงฝีมือการเรียบเรียงเรียงเสียงประสานเพลง “วิภาวดีรังสิต” และ “เราสู้” เพื่อใช้ในการแสดงของกองดุริยางค์ทหารบกในขณะนั้น

รับราชการที่กองดุริยางค์ทหารบกได้ไม่นาน “สุรสีห์ อิทธิกุล” ก็ออกตามหาความฝันของเขาตั้งแต่เด็ก คือการเป็น “นักดนตรีร็อค”

การได้พบกับ “ดนู ฮันตระกูล” ซึ่งชักชวนให้ “สุรสีห์ อิทธิกุล” เข้าร่วมวง “ภาคีวัดอรุณ” เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้จักกับกลุ่ม “คนดนตรี” ที่ต่อมาเป็นเบื้องหลังระดับแถวหน้าของวงการเพลงไทย นั่นคือ “บัตเตอร์ฟลาย”

เริ่มต้นด้วยการก่อตั้งวง Triangle Lake ร่วมกับ “กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา” และ “จิรพรรณ อังศวานนท์” สมทบด้วย “เกรียงไกร วิจักขณะ” “โยธิน ชีรานนท์” “อุกฤษฎ์ พลางกูร” ที่สามารถต่อกรกับ Oriental Funk ของ “เรวัต พุทธินันทน์” ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

การเข้าร่วมกับ “บัตเตอร์ฟลาย” ทำให้ “สุรสีห์ อิทธิกุล” มีชื่อในฐานะคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ถึง 4 อัลบั้ม คือ Butterfly (2525) Butterfly II (2526) เพลงประกอบภาพยนตร์เงิน เงิน เงิน (2526) และเพลงประกอบภาพยนตร์วัยระเริง (2527)

“บัตเตอร์ฟลาย” มีชื่อเสียงในด้านการปฏิรูปเพลงไทย ทั้งด้านรูปแบบ และเนื้อหา ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของวงการเพลงไทยในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด ซึ่งนำโดยแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่มีบุคลากรของ “บัตเตอร์ฟลาย” เข้าไปร่วมงานมากที่สุด แน่นอน “สุรสีห์ อิทธิกุล” คือหนึ่งในนั้น

ที่ประเดิมด้วยการออกอัลบั้มเดี่ยวกับ “แกรมมี่” ในปี พ.ศ. 2528 อัลบั้ม “กัลปาวสาน” ซึ่ง “เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์” แกนนำสำคัญคนหนึ่งของ “บัตเตอร์ฟลาย” รับหน้าที่เขียนเนื้อร้องให้ทั้งหมด 14 เพลง ส่วนทำนอง และการเรียบเรียงเสียงประสาน นั้น ผ่านฝีมือของ “4 ขุนพล บัตเตอร์ฟลาย” คือ “ดนู ฮันตระกูล” “กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา” “อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ” “อัสนี โชติกุล”

ภาพรวมของ “กัลปาวสาน” แนวเพลงเป็นป๊อป-ร็อคสะอาด เรียบง่าย โดดเด่นที่เนื้อหาของบทเพลงออกแนวปรัชญาแม้จะเป็นเพลงรักก็เป็นความรักแบบอุดมคติ ในส่วนของท่วงทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน และฝีไม้ลายมือการเล่นดนตรีในห้องอัด สามารถสู้เพลงสากลในยุคนั้นได้อย่างสบาย
แกนดนตรี และการถ่ายทอด เป็นรูปแบบของ “บัตเตอร์ฟลาย” อย่างชัดเจน ผนวกด้วยมุมมองป๊อปแบบแกรมมี่ยุคแรกที่กำลังหาทางขยายตลาดและสร้างกลุ่มคนฟัง ทำให้ภาพรวมของ “กัลปาวสาน” ที่แม้จะดูเหมือนฟังยาก จากกลิ่นอายของ Jazz และ Progressive แต่ถ้าฟังจริงๆ ก็สามารถฟังได้เรื่อยๆ แม้จะไม่มีเพลงฮิตระดับดังข้ามปี แต่ก็มีเพลงที่สามารถขึ้นชั้นคลาสสิคได้หลายเพลง ถ้าหากจะบอกว่า “กัลปาวสาน” คืออัลบั้มที่ “สุรสีห์ อิทธิกุล” รักมากที่สุด ก็คงจะไม่ผิดไปจากความจริง

อาจเป็นเพราะยอดขายไม่เป็นไปตามแผน หรือ “สุรสีห์ อิทธิกุล” มีงานเบื้องหลังจำนวนมาก ทำให้เขาห่างหายไปจากการออกอัลบั้มเดี่ยวนานถึง 5 ปี ไม่ว่าจะเป็น การกลับไปทำงานร่วมกับ “บัตเตอร์ฟลาย” อัลบั้ม Action! (2529) เมื่อตะวันเรือง (2531) และ “ลำนำแห่งขุนเขา” (2531) โดย “ดนู ฮันตระกูล” “ไหมไทย” และ “จรัล มโนเพ็ชร”

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2533 “สุรสีห์ อิทธิกุล” กลับมากับอัลบั้ม “คนดนตรี” งานเดี่ยวชุดที่ 2 ซึ่งต้องถือว่าเป็นมาสเตอร์พีชทั้งยอดขาย ความดัง ความฮิต คำชม และขึ้นชั้นหนึ่งในอัลบั้มคลาสสิคของวงการเพลงไทย

เพราะ “คนดนตรี” มีเพลงฮิตระดับอมตะนิรันดร์กาล นั่นคือเพลง “ปราสาททราย”

นอกจาก “ปราสาททราย” ยังมีเพลงรักที่ฮิตรองลงมาคือ “ตะเกียง” และเพลงแนวปรัชญาอย่าง “ทะเลคน” เพลงแนวอนุรักษ์ธรรมชาติคือ “ต้นไม้” และเพลงจังหวะสนุกสนานอย่าง “อยู่ไปเพลินเพลิน”

นอกนั้นเป็นเพลงฮิตแบบเกาะกลุ่ม เช่น “เธอหรือเปล่า” “ไม่มีวันจะใกล้เธอ” และเพลงที่โชว์ดนตรีอย่าง “เฉพาะงานนี้” “พลุเพลิง” ปิดท้ายด้วย “ค้นเข้าไป”

ดนตรีในภาพรวมของ อัลบั้ม “คนดนตรี” ค่อนข้างหนัก เป็นป๊อป-ร็อคแบบแรงขึ้นจาก “กัลปาวสาน” มากเลยทีเดียว อาจเป็นเพราะช่วงนั้น งานเพลงป๊อป-ร็อคแบบหนักๆ และหยอดเพลงรักแรงๆ สร้างรายได้ให้ “แกรมมี่” อย่างเป็นกอบเป็นกำ

อย่างไรก็ดี “คนดนตรี” ยังไว้ลายศิลปินคุณภาพอย่าง “สุรสีห์ อิทธิกุล” ด้วยความแตกต่างในรายละเอียดของดนตรีที่ฟังแล้วค่อนข้างซับซ้อนกว่าป๊อป-ร็อคของ “แกรมมี่” หรือค่ายอื่นๆ ในยุคนั้น ทำให้ “คนดนตรี” ขึ้นชั้นเป็นหนึ่งในอัลบั้มคลาสสิคของวงการเพลงไทยที่ถูกพูดถึงอย่างไม่จบสิ้น

เห็นได้จากการรวมฮิตของ “สุรสีห์ อิทธิกุล” มักมีสัดส่วนจำนวนเพลงจากอัลบั้ม “คนดนตรี” รวมเข้ามามากกว่าอัลบั้มอื่นของเขา

จบจาก “คนดนตรี” “สุรสีห์ อิทธิกุล” ทิ้งระยะแค่ 2 ปี โดยระหว่างนั้น เขากลับไปร่วมกับ “บัตเตอร์ฟลาย” ทำอัลบั้มเวลาในขวดแก้ว (2534) และในปี พ.ศ. 2535 “สุรสีห์ อิทธิกุล” ออกอัลบั้ม “พอดี พอดี”

“พอดี พอดี” เสมือนการผสมผสาน “คนดนตรี” กับ “กัลปาวสาน” เข้าด้วยกัน คือมีทั้งเพลงระดับปรัชญาที่ฟังยาก และเพลงป๊อป-ร็อคหนักๆ ที่ฟังง่าย แต่สัดส่วนดนตรีมีความซับซ้อนมากกว่า 2 อัลบั้มแรกค่อนข้างมาก

แม้จะไม่สามารถกลับไปประสบความสำเร็จเฉกเช่นอัลบั้มมาสเตอร์พีชคือ “คนดนตรี” ได้ แต่ระดับความคลาสสิคและความนิยมในหมู่แฟนเพลงของ “สุรสีห์ อิทธิกุล” ก็ยังให้การต้อนรับ “พอดี พอดี” ในระดับที่น่าพึงพอใจ และสามารถส่งต่อผลงานให้สามารถยืนระยะไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิจารณ์เพลงต่างพากันให้การยอมรับ “พอดี พอดี” ในขั้นที่ดีเลยทีเดียว

 

หลังจากจากโปรเจคต์ “พอดี พอดี” ในปี พ.ศ. 2537 “สุรสีห์ อิทธิกุล” กลับมาอีกครั้งกับอัลบั้ม Cover เพลงดังของวง “เดอะ บีทเทิลส์” ชื่ออัลบั้ม The Beatles Profile แม้ยอดขาย และข่าวคราวจะไปแบบเงียบๆ ทว่า ในหมู่แฟนพันธุ์แท้ “สุรสีห์ อิทธิกุล” ต้องสะสมอัลบั้มชุดนี้ไว้ในครอบครอง ในฐานะการโชว์ฝีไม้ลายมือเรียบเรียงบทเพลงของ “เดอะ บีทเทิลส์” ในลีลาของ “สุรสีห์ อิทธิกุล”

หลังจากนั้น “สุรสีห์ อิทธิกุล” กลับไปทำงานเบื้องหลังในค่าย “แกรมมี่” ที่แตกตัวออกเป็นค่ายเพลงย่อยมากมายในสังกัด โดย “สุรสีห์ อิทธิกุล” อยู่เบื้องหลังบทเพลงฮิตจำนวนมากของ “แกรมมี่” ทั้งป๊อป และร็อค แถมด้วย “อาร์เอส” กับโปรเจคต์ “ไฮ-ร็อค” และค่ายเพลงอื่นๆ ของเพื่อนเก่า เช่น ผลงานของวง “คาไลโดสโคป” ยังไม่นับเพลงประกอบภาพยนตร์ ละคร โฆษณาอีกจำนวนมาก

ก่อนจะกลับมาออกอัลบั้ม The Project Album ในปี พ.ศ. 2543 ที่คราวนี้ “สุรสีห์ อิทธิกุล” กลับไปทำเพลงแบบ “กัลปาวสาน” อย่างเต็มตัวแบบไม่ประนีประนอมกับการตลาด สิ่งที่แตกต่างก็คือ ความยาก และความซับซ้อนของดนตรี ที่ Project Album มีมากกว่า “กัลปาวสาน” หลายเท่าตัว จากการเป็น  Progressive Rock ที่หนักหน่วง ทำให้ในระดับ Mass อัลบั้มนี้ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขาย แต่ประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์ และความชื่นชมที่แฟนเพลงมีให้

หลังจากวางแผง Project Album “สุรสีห์ อิทธิกุล” ทิ้งช่วงการออกผลงานไปนานถึง 20 ปี!

ก่อนจะกลับมาร่วมงานกับ “ดนู ฮันตระกูล” และวง “ไหมไทย” ออกอัลบั้ม “ไหมไทย สุรสีห์” โดย “สุรสีห์ อิทธิกุล” และวง “สนามหลวง”

เป็นการร่วมประพันธ์ เรียบเรียง และขับร้อง ร่วมกับการบรรเลงดนตรีของวงคลาสสิคอย่าง “ไหมไทย”

ที่ถือเป็นการพลิกขั้วการทำงานยิ่งกว่าครั้งไหนๆ เสมือน “สุรสีห์ อิทธิกุล” “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ทว่า เป็นการกลับคืนสู่สามัญด้วยดนตรีชั้นสูงอย่างออร์เคสตร้า

แม้จะเป็นอัลบั้มที่ขายเงียบๆ ในกลุ่มแฟน “ไหมไทย” และแฟนพันธุ์แท้ “สุรสีห์ อิทธิกุล” ในลีลาของดนตรีซิมโฟนี่ แต่มีเพลงระดับ “ซูเปอร์คลาสสิค” คือ “สนามหลวง” ซึ่งใช้ในสาธารณะแบบวงกว้างที่สุด ที่หลายคนไม่ทราบว่าเป็นผลงานการประพันธ์ของ “สุรสีห์ อิทธิกุล”

 

“ไหมไทย สุรสีห์” โดย “สุรสีห์ อิทธิกุล” และวง “สนามหลวง” ถือเป็นมาดใหม่ของ “สุรสีห์ อิทธิกุล” ที่หวังว่าจะไม่ใช่อัลบั้มสุดท้ายของเขา

“สุรสีห์ อิทธิกุล” เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2494 ปัจจุบันอายุ 72 ปี เป็นนักดนตรีที่ชื่นชอบแนวเพลง Blues-Rock

 


ผลงานการประพันธ์ของ “สุรสีห์ อิทธิกุล”

“เลือดไทย” และ “วิภาวดีรังสิต” (คำร้อง-ทำนอง) วงดุริยางค์กองทัพบก

Get Enough (คำร้อง-ทำนอง) Plastique (คำร้อง) Wish You Were Here (คำร้อง-ทำนอง) Dead or Alive (คำร้อง) Let Me In (คำร้อง-ทำนอง) Mr. (คำร้อง-ทำนอง) อัลบั้ม Butterfly II วงบัตเตอร์ฟลาย

“แรกเจอ” (คำร้อง-ทำนอง) เพลงประกอบภาพยนตร์เงิน เงิน เงิน วงบัตเตอร์ฟลาย

“ทดแทน” “น้ำพุ” “เงียบเหงา” (คำร้อง-ทำนอง) เพลงประกอบภาพยนตร์น้ำพุ วงบัตเตอร์ฟลาย

“ใจ” “สุขาใจ” (ทำนอง) อัลบั้มบทเพลง วงอีสซึ่น

“ลืมนะลืม” “ตัวเราของใคร” “จากแสงแดดถึงสายลม” “คำนึงชีวิต” “เวลา” (ทำนอง) อัลบั้ม “กัลปาวสาน”

Action, Dream Chaser, I Lost My Smile (คำร้อง-ทำนอง) Hammer Song, Phosphorus, Red Rose Queen (คำร้อง) อัลบั้ม Action! วงบัตเตอร์ฟลาย

“เต้นแร้งเต้นกา” “อย่าซื่อบื้อ” (ทำนอง) อัลบั้มดอกไม้ จดหมาย ความรัก นรินทร ณ บางช้าง

“ด้วยรักและผูกพัน” “ฟ้ายังมองเรา” “ขอบใจจริงๆ” “บอกหน่อยได้ไหม” “สบาย สบาย” “ละคอนฉากสุดท้าย” (เรียบเรียง) อัลบั้มเปียโนกับปลายนิ้ว ณัฐ ยนตรรักษ์

“อัตตา” (ทำนอง) อัลบั้มหุ่นกระบอก วงตาวัน

“ดาว” (ทำนอง) อัลบั้มฝันนั้นเป็นจริง นรินทร ณ บางช้าง

“ถอนหายใจให้กับฟ้า” (ทำนอง) อัลบั้มในฝัน นันทิดา แก้วบัวสาย

“คำที่ยิ่งใหญ่” (ทำนอง) อัลบั้มบ่งบอก นันทิดา แก้วบัวสาย

“ปราสาททราย” “ตะเกียง” “ค้นเข้าไป” (ทำนอง) อัลบั้มคนดนตรี

“โปรดฟังฉัน” “เช้าวันนี้” (เรียบเรียง) อัลบั้มโปรดฟังฉัน ผุสชา โทณะวณิก

“ไฟกับตะวัน” (ทำนอง) อัลบั้มผู้ชายธนู สมประสงค์ สิงหวนวัฒน์

“ฟังหูไว้หู” (เรียบเรียง) อัลบั้มคนพันธุ์ร็อก ไฮ-ร็อก

“สัญญาปากเปล่า” (ทำนอง) อัลบั้มสุดสุดไปเลย…ซิ นูโว

“เธอร้อนดังไฟ” (ทำนอง) อัลบั้มกระชากใจ คาไลโดสโคป

“ฟ้า ดาว ฉัน เธอ” “ไปให้ถึงดวงดาว” “น้ำ” “ทิ้งฝัน” (ทำนอง) อัลบั้มพอดี พอดี

“เรื่องธรรมดา” “ยอมจำนน” “เปลวไฟในห่าฝน” “สายน้ำ” “สวรรค์” “ไม่เคยเปลี่ยน” “คุ้มกันไหม” “สูงสุดฟ้า” (ทำนอง) อัลบั้ม Project Album

 

ลงเสียงร้องในอัลบั้ม

Medley Queen, Still Got the Blues อัลบั้ม Guitar Man Project

“ขวานไทยใจหนึ่งเดียว”

“สาธุชน” อัลบั้ม 25 ปีคาราบาว

 

ลงเสียงร้องในเพลงประกอบภาพยนตร์และละคร

“หยาดเพชร” “แค่คืบ” (เพลงประกอบภาพยนตร์เงิน เงิน เงิน)

“ยุโรป” “เฮฮาปาร์ตี้” “ทิวเขา-แมกไม้-สายธาร” “ดนตรีในดวงใจ” “ชีวิตนี้ของใคร” (เพลงประกอบภาพยนตร์วัยระเริง)

“ทดแทน” “น้ำพุ” “เงียบเหงา” (เพลงประกอบภาพยนตร์น้ำพุ)

“กุหลาบในเปลวไฟ” (เพลงประกอบละครกุหลาบในเปลวไฟ)

“หน้าที่กับความรัก” (เพลงประกอบละครอยากหยุดตะวันไว้ที่ปลายฟ้า)

“ดาว” (เพลงประกอบละครเมืองมายา)

Walk You Home (เพลงประกอบภาพยนตร์ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้)

 

Post a comment

nineteen − 10 =