Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เทียบฟอร์ม COVER เพลง “ครูไพบูลย์”

คอลัมน์: เซาะร่องเสียง
โดย นกป่า อุษาคเณย์

         ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการนำเพลง “ครูไพบูลย์” มา COVER ใหม่อย่างน้อย 2 ชุดที่น่านำมาพูดถึง เนื่องจากเป็นคนดนตรีร่วมสมัย อนาคตไกล

         หนึ่งคือผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร. นรอรรถ จันทร์กล่ำ กับผลงานชุด “คลาสสิกไพบูลย์ บุตรขัน” สองคือผลงานของ อ.บรรณ สุวรรณโณชิน

         ใครที่ติดตามอัลบั้มของ “อาจารย์บรรณ” ภายใต้สัญลักษณ์ “ใบชาซอง” หรือ “ใบชา Song” รวมถึงผลงานที่อาจารย์ไปร่วมงานกับค่ายเพลงต่างๆ เช่น GMM Grammy ย่อมทราบดีถึงความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานดนตรี

         ขณะที่แฟนพันธุ์แท้ “อาจารย์นรอรรถ” ก็ย่อมทราบดีเช่นกันถึงความเนี้ยบในการทำงานอัลบั้มแต่ละชุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงสดคอนเสิร์ตที่อาจารย์แสดงฝีไม้ลายมือแบบจัดเต็มทุกครั้ง

         หากพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ของ “อาจารย์บรรณ” ก็มีตั้งแต่การนำ “คุณแม่ยาย” ซึ่งท่านเป็นนักร้องรุ่นสุนทราภรณ์ มาอัดแผ่น การนำเพลงของ “ชรัส เฟื่องอารมณ์” หรือ “เพลงลูกกรุง” ยอดฮิตระดับมาตรฐาน มาตีความใหม่โดยศิลปินหญิงรุ่นใหม่

         หรือจะเป็นการนำเพลงของวง “ชาตรี” และครู “สุรพล สมบัติเจริญ” มาตีความใหม่โดยหลากหลายศิลปิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเพลงของ The Beatles มาเปลี่ยนท่วงทำนอง และการเรียบเรียงเสียงประสานให้เป็นดนตรีแบบไทยไทย

         เรียกได้ว่า “เล่นใหญ่” จนแฟนเพลง “งงกันทั้งโลก!”

         มาครั้งนี้ “อาจารย์บรรณ” เดินรอยตามอัลบั้ม “สุรพลคลับ” ที่เคยนำเพลงของครู “สุรพล สมบัติเจริญ” มาตีความใหม่โดยหลากหลายศิลปิน แต่คราวนี้เป็นผลงานการประพันธ์ของครู “ไพบูลย์ บุตรขัน”

         เช่นเดียวกับ “อาจารย์นรอรรถ” ที่เหล่าแฟนพันธุ์แท้ย่อมทราบดีว่าอาจารย์เติบโตมาสายดนตรีคลาสสิก ทว่า อาจารย์รักท่วงทำนองของเพลงไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงระดับคลาสสิกของไทย ไม่ว่าจะเป็นสุนทราภรณ์ ลูกกรุง ลูกทุ่ง

         พื้นฐานการทำอัลบั้ม และการแสดงคอนเสิร์ตของ “อาจารย์นรอรรถ” ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจารย์ได้ไปช่วย “อาจารย์ดนู ฮันตระกูล” สร้างสรรค์ผลงานร่วมกับวง “ไหมไทย” ทั้งการบันทึกเสียง การร้อง และการแสดงคอนเสิร์ต

         เมื่อถึงคิวอาจารย์ออกมารับงานเอง ทั้งรับงานจากสถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชน อาจารย์ได้ดึงเอาองค์ความรู้ ประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับ “อาจารย์ดนู” ผนวกกับทฤษฎีทางดนตรี และทักษะการร้อง เล่น และการทำงานในห้องอัด ออกมาเป็นผลงานของอาจารย์เองหลากหลายอัลบั้มด้วยกัน

         เช่น สุนทราภรณ์ RBSO สยามดุริยางค์เครื่องสาย คลาสสิกสุนทราภรณ์ RBSO The Masterpiece และคลาสสิกไพบูลย์ บุตรขัน

         ด้วยความที่อาจารย์มาทางสายดนตรีคลาสสิก ที่แม้เพลงคลาสสิกจะมีทั้งเพลงเร็ว เพลงช้า และเพลงจังหวะปานกลาง ทว่า อาจารย์กลับเลือก “เพลงช้า” ของ “ครูไพบูลย์” เป็นส่วนใหญ่ มาบรรจุในอัลบั้ม “คลาสสิกไพบูลย์ บุตรขัน”

         ทำให้บางครั้ง ในภาพรวมการฟังเป็นอัลบั้ม มันเนิบเกินไป แน่นอนว่า มันอาจถูกใจคอเพลงคลาสสิกพันธุ์แท้ รวมกับคอเพลงลูกทุ่งที่ชื่นชอบเพลงซึ้งๆ ในท่วงทำนองเนิบช้า ทว่า บางครั้ง บางอารมณ์ บางคนต้องการความสนุกสนานครื้นเครง และบางสภาพร่างกาย หลายคนอาจหลับได้ถ้าฟังแต่เพลงช้าติดๆ กัน 8-9 เพลง

         แต่นี่ไม่ใช่ข้อเสียของอัลบั้ม “คลาสสิกไพบูลย์ บุตรขัน” เพราะเห็นความพยามยามของอาจารย์ที่จะใส่เพลงเร็วเข้ามาอย่างยมบาลเจ้าขา หรือเพลงกลางๆ ไม่เร็วไม่ช้าแต่ออกไปทางช้านิดๆ อย่างแม้พี่จะขี้เมา

         ข้อเด่นของอัลบั้มนี้ คือการนำเพลงของ “ครูไพบูลย์” ที่หาฟังยาก ในความหมายของการถูกหยิบยกมา COVER ไม่บ่อยครั้งนัก หรืออาจไม่เคยมีเลย เช่น ช้ำอกเหมือนตกตาล ขวัญใจคนจน น้ำตาเทียน แม้กระทั่ง แม่ศรีเรือน ที่ดูเผินๆ เหมือนจะคุ้นเคยกัน แค่ท่อนฮุคหรือท่อนแรก แต่การจะฟังแบบเต็มๆ เพลงคงมีโอกาสน้อย

         ความเนี้ยบ ความถูกต้องของการเรียบเรียงเสียงประสานตามทฤษฎีดนตรีคลาสสิก โน้ตต่างๆ ไม่ต้องห่วง เพราะระดับอาจารย์นรอรรถแล้ว ชั่วโมงบินทะลุเพดานไปนานแล้ว

         ยิ่งเมื่อมาผสานกับสุดยอดเนื้อร้องของ “ครูไพบูลย์” ผนวกกับศิลปินที่คัดเลือกมา ไม่ว่าจะเป็นลูกหว้า ดูบาดู หรือปาน ธนพร พี่สุเมธ (แอนด์เดอะปั๋ง) และนักร้องชายรุ่นใหม่อีก 2 ท่านคือรัฐพงศ์ ปิติชาญ กับศรัณย์ คุ้งบรรพต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงเสียงร้องเองของอาจารย์นรอรรถ ก็ยิ่งการันตีถึงคุณภาพผลงานชุดนี้ได้เป็นอย่างดี

          และถ้าหากเปรียบเทียบอัลบั้ม “คลาสสิกไพบูลย์ บุตรขัน” ว่าเป็นการนั่งฟังเพลงลูกทุ่งชั้นครู ระดับ “ครูไพบูลย์” เหมือนนั่งฟังอยู่ใน Royal Albert Hall หรือศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กับการประสานดนตรีคลาสสิกกับเพลงลูกทุ่งไทยที่ไพเราะและยกระดับสู่สากลแล้ว

          การฟังผลงานชุด “เพลงครูของครูเพลง” ของ “อาจารย์บรรณ” ก็เปรียบเสมือนการเดินอยู่ในงาน Carnival ที่เต็มไปด้วยสีสันดนตรีที่หลากหลาย ชวนสนุกสนาน และเต้นรำไปพร้อมกับการฟังเพลง

          แม้นักร้องบางคนที่อาจารย์เลือกมา จะอยู่ในระดับสอบไม่ผ่าน ซึ่งอาจารย์คงทราบดีว่ามีท่านใดบ้าง ทว่า เมื่อเราฟังภาพรวมของทั้งอัลบั้ม ความพร่องนั้นกลายเป็นการเติมเต็มความสมบูรณ์แบบของบทเพลงทั้ง 20 Tracks ให้มีความผสานผสมกลมกลืน

         เหมือนเดินอยู่ในงาน Carnival ดังที่กล่าวไป

         ยิ่งหากพูดถึงองค์ประกอบของอัลบั้ม “เพลงครูของครูเพลง” แน่นอนว่า เป็นสไตล์ของ “อาจารย์บรรณ” ที่มักหยิบเอาแนวเพลงที่หลากหลายมาทำอัลบั้ม COVER ซึ่งผลงานที่กล่าวมาในตอนต้นเป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว

        โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกเพลงที่เป็นเพลงดัง เพลงขึ้นหิ้ง และเลือกศิลปินที่มาถ่ายทอดบทเพลงแต่ละเพลง เป็นความตั้งใจเลือกบุคลิก และเลือกวิธีเรียบเรียงเสียงประสาน เลือกเครื่องดนตรี เลือกแนวเพลงให้ลงตัวกับเนื้อเพลงของ “ครูไพบูลย์” ถือเป็นจุดเด่นในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ของ “อาจารย์บรรณ”

        กล่าวโดยสรุป แม้แนวทางการนำเสนอจะแตกต่างกันไปตามพื้นหลังของอาจารย์ทั้งสองท่าน แต่โดยภาพรวมแล้ว ผลงานทั้งสองอัลบั้มควรค่าแก่การสะสม และมีไว้ในครอบครอง เพื่อซึมซับอรรถรสผลงานเพลงชั้นครูของ “ครูไพบูลย์ บุตรขัน” ผ่านการนำเสนอสองแนวทาง คือดนตรีคลาสสิก และดนตรีแบบวาไรตี้หลากหลายแนว

       เป็นสีสันที่ต่างกัน แต่คุณค่าไม่ต่างกัน เป็นการสืบทอดผลงานเพลงของ “ครูไพบูลย์ บุตรขัน” ให้คนรุ่นนี้ และคนรุ่นต่อไปได้ศึกษา โดยทั้งสองอัลบั้ม ยังมีวางขายอยู่ หาไม่ยากครับ อยากชวนให้อุดหนุนกันเยอะๆ ครับ

Post a comment

nineteen + fourteen =