
สายชิลล์ สายบุญ อุ่นใจ เที่ยวชัยภูมิ
ด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ประกอบกับทำเลที่อยู่ระหว่างเมืองเศรษฐกิจอย่างนครราชสีมา และขอนแก่น ทำให้ภาพสะท้อนที่ผ่านมา จังหวัดชัยภูมิจึงเป็นเพียงแค่ทางผ่าน
แต่ด้วยเหตุนี้ ชัยภูมิจึงเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยังคงความ “สด” ถือเป็น “เพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน” หรือ “สาวงามที่ยังไม่ผ่านเวทีการประกวด” ใครที่ชอบความดิบ สด เป็นธรรมชาติแบบ “เพียว ๆ” ก็ต้องหลงใหลในดินแดนแห่งนี้
หากวัดจากความนิยมในการท่องเที่ยว ชัยภูมิจึงอยู่ในมุมเล็ก ๆ ในใจของคนโดยทั่วไป แต่สำหรับนักเดินทางสายธรรมชาติ ชัยภูมิมีความยิ่งใหญ่และมากด้วยความหมาย เป็นหนึ่งในใจนักเดินทางที่ชื่นชอบป่าเขาลำเนาไพร ด้วยลักษณะทางกายภาพบนพื้นที่ราบสูง ที่มีพื้นที่ป่าธรรมชาติถึง 60% มีสัตว์ป่าหายากอาศัยอยู่ ทั้งยังเป็นต้นสายของแม่น้ำชี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

มุมมองจากพระธาตุชัยภูมิ
นอกจากนั้นชัยภูมิยังเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ มีความโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม ไม่นานมานี้ชัยภูมิได้รับการประกาศเป็น “อุทยานธรณี จีโอปาร์ค” (Chaiyaphum Geopark) ระดับจังหวัด ครอบคลุม 8 อำเภอ คือ คอนสาร หนองบัวแดง ภักดีชุมพล เกษตรสมบูรณ์ หนองบัวระเหว เทพสถิต บ้านเขว้า และอำเภอเมือง
ชัยภูมิเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่พบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 3 มหายุค ได้แก่ 1.มหายุคพาลิโอโซอิก (สัตว์ทะเลโบราณ 298-259.1 ล้านปี) 2.มหายุคมีโซโซอิก (มูลปลาโบราณ 220 ล้านปี ไดโนเสาร์กินพืชที่เก่าแก่ที่สุด อายุ 209-210 ล้านปี) 3.มหายุคซีโอโซอิก (หมีแพนด้ายักษ์และสัตว์ร่วมสมัย อายุ 2 แสนปี) ซากหมีแพนด้ายักษ์ ถูกขุดพบที่ อ.คอนสาร เป็นซากหนึ่งในสองแห่งที่ถูกค้นพบในประเทศไทย คือ จ.ชัยภูมิ และ จ.แม่ฮ่องสอน โดยหลังจากนี้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำการผลักดันให้ Chaiyaphum Geopark ก้าวขึ้นสู่ระดับประเทศและระดับโลก ตามขั้นตอนของยูเนสโกต่อไป

ความอุดมสมบูรณ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทั้งธรรมชาติ และกล่าวได้ว่ายังมีความบริสุทธิ์เกือบ 100% จึงเป็นดินแดนอันเงียบสงบ เป็นที่ตั้งของวัดป่าและสถานปฏิบัติธรรมหลายแห่ง มีเกจิอาจารย์อันเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือ “หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม” ซึ่งชาวชัยภูมิให้การขนานนามว่า “เทพแห่งสาธารณสุข” เพราะหลวงพ่อท่านมักจะมีโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านการแพทย์ เช่นการสร้างโรงพยาบาล มอบเครื่องมือแพทย์ ล่าสุดมีโครงการสร้างอาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลเลย สายบุญทั่วสารทิศต่างร่วมบุญบริจาคเพื่อสบทบทุนในโครงการนี้กันอย่างคับคั่ง
และไม่นานมานี้ การท่องเที่ยวประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) จัดเส้นทางท่องเที่ยว “สุดหรรษา พาใจอบอุ่น ร่วมงานบุญกับ “หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม @ ชัยภูมิ” เมื่อวันที่ 15–17 ตุลาคม 2564
“โรงพยาบาลเลย” ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน เป็นตึกสูง 10 ชั้น ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ประมาณ 470 ล้านบาท โดยอาคารดังกล่าวนี้ ได้รับความเมตตาจาก หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์ โดยหลวงพ่อได้รวบรวมเงินบริจาค จากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา มาเป็นทุนในการก่อสร้าง
ตักบาตรยามเช้า-ทอดผ้าป่า วัดป่าห้วยกุ่ม
วัดป่าห้วยกุ่ม ต.หนองโพนงาม อ.เกษตรสมบูรณ์ จ. จังหวัดชัยภูมิ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสงบ ร่มรื่น เปิดสำหรับให้ผู้คนเข้ามากราบไหว้และปฏิบัติธรรม ที่นี่จึงมุ่งเน้นความเงียบสงบ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้เข้าปฏิบัติธรรมต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด จะมีภาพความคึกคักอยู่บ้าง ในช่วงเทศกาลงานบุญประจำปีต่าง ๆ

หลวงพ่อสายทอง เตชะธัมโม
เช้าตรู่ของวันที่ 18 ตุลาคม 2564 เรามุ่งหน้าสู่ “วัดป่าห้วยกุ่ม” สถานที่ปฏิบัติธรรมอันเงียบสงบ แต่ในวันนี้บรรดาลูกศิษย์ลูกหา ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างปักหลักกันเป็นทางยาว บริเวณถนนทางเข้าวัด เนื่องจากวันนี้จะมีงานบุญใหญ่ โดยชาวคณะที่เดินทางไป 4 คันรถตู้ จะได้ร่วมงานทอดผ้าป่าสามัคคี สมทบทุนสร้างโรงพยาบาลเลยร่วมกับชาวบ้าน
บรรยากาศยามเช้าที่วัดป่าห้วยกุ่มในวันนี้ คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่กำลังจัดเตรียมสิ่งของและข้าวปลาอาหารก่อนที่พระสงฆ์จะออกรับบิณฑบาต สายฝนที่โปรยลงมาทำให้ทุกอย่างดูขลุกขลัก แต่ทุกคนก็ยังปักหลักอยู่ใต้ร่มเพื่อรอช่วงเวลาอันสำคัญ ก่อนที่พิธีต่าง ๆ จะลุล่วงไปได้ด้วยดี เป็นอีกงานบุญที่มีเป็นระเบียบเรียบร้อย ท่ามกลางจิตใจที่เอิบอิ่มของทุกคน
นอกจากการเข้าร่วมงานบุญที่สำคัญครั้งนี้แล้ว เมื่อเดินทางมาถึงชัยภูมิ เรามีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวต่อในหลายสถานที่ ซึ่งที่เที่ยวชัยภูมิเต็มไปด้วยแง่มุมที่น่าสนใจ ท่ามกลางธรรมชาติและความสงบร่มเย็น

พระธาตุชัยภูมิ
กราบพระธาตุชัยภูมิ ชมวิวมุมสูงภูแลนคา
สายฝนเดือนตุลายังคงกระหน่ำตลอดเส้นทาง วันแรกเมื่อมาเยือนชัยภูมิ เรามุ่งหน้าไปที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์บนเนินสูงของภูแลนคา เพื่อเข้ากราบสักการะ “พระมหาธาตุรัชมงคลเจดีย์สิริชัยภูมิ” หรือ “พระธาตุชัยภูมิ” ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วัดอรุณธรรมสถาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีความโดดเด่น งดงาม ผสมผสานระหว่างศิลปะล้านช้างกับล้านนา
องค์พระธาตุสีขาวสูง 21 เมตร ส่วนยอดขององค์พระเจดีย์หุ้มด้วยแผ่นทองสำริดและปิดทองคำเปลว เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ งดงามด้วยลวดลายงานปูนปั้น ทั้งบริเวณบันได และงานปูนปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ บริเวณโดยรอบเจดีย์ สามารถมองเห็นวิวเขาได้แบบพาโนรามา
เมื่อลงบันใดจากตัวเจดีย์ จะพบกับอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล ผู้สร้างเมืองชัยภูมิ หรือ “เจ้าพ่อพญาแล” ที่ชาวชัยภูมิเคารพบูชา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธศากยนฤมิตพิชิตมาร(หลวงพ่อมิ่งเมืองชัยภูมิ) รายล้อมด้วยความงดงามด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ด้านหน้ามี “กลองเจ้าเมือง” ขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการถวายจาก “นายวิเชียร จันทรโณทัย” ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล

พระพุทธศากยนฤมิตพิชิตมาร(หลวงพ่อมิ่งเมืองชัยภูมิ)
ใกล้กันเป็นสวนป่าบนลานหินที่มีความร่มรื่น เป็นที่ตั้งของ “ร้านกาแฟต่อบุญ” (Torboon Coffee) เสียดายว่าวันนี้เราเข้ามาเย็นมากแล้ว พนักงานกำลังเก็บร้าน จึงพลาดโอกาสอุดหนุนร้านกาแฟของทางวัด
สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติธรรมอรุณธรรมสถาน ดินแดนอันเงียบสงบบนยอดเขาช่องลม ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย และอยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวใกล้กับมอหินขาว และน้ำตกตาดโตน
เป็นสถานที่อันเงียบสงบ มีศิลปกรรมที่เรียบง่ายแต่งดงาม ด้วยทำเลที่ตั้งบนเขาสูง ทำให้มองเห็นวิวได้กว้างไกล จึงเป็นอีกสถานที่อันน่าประทับใจ มีโอกาสเมื่อไหร่ก็อยากกลับมาเยือนอีกเสมอ
ชมสะพานไม้หมาก กราบพระพุทธรูป 700 ปี
หากมองหาความสดใหม่ในวิถีอันเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของชาวชัยภูมิ แนะนำให้เดินทางไปที่ อ.คอนสาร ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในทริปนี้เราได้แวะกินข้าวเที่ยงกันที่ “อ.ศิลป์ชัยฟาร์ม” ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดให้บริการ ท่ามกลางบรรยากาศริมทุ่งนาเชิงเขา
หลังจากรับประทานอาหารท้องถิ่น อย่างปลาเผา ชุดน้ำพริกผักและทอดมันหัวปลี ต้มไก่ และผัดฉ่าปลานิลทอด ก็พากันไปเดินทอดน่องในศูนย์เรียนรู้ ซึ่งมีสะพานไม้เชื่อมระหว่างตัวบ้านกับหอชมวิว ฉากหลังเป็นภูเขาตั้งตระหง่าน นับเป็นช่วงเวลาแห่งการพักสายตาจากความเมื่อยล้า จากสีเขียวสดของท้องทุ่งในช่วงฤดูฝน
มุ่งหน้าต่อไปสู่ “สะพานไม้หมากฝากรัก” ในชุมชนท่องเที่ยวฝายดินสอ อีกหนึ่งแลนด์มาร์คของ อ.คอนสาร ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เพราะนอกจากจะเป็นสะพานที่ทำจากไม้หมาก ทอดยาวริมทุ่งกว้าง จากบริเวณนั้นยังเป็นจุดชมวิว 3 จังหวัด สามารถมองเห็นพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย และชัยภูมิ ได้จากจุดเดียวกัน เป็นอีกกิมมิคที่น่าทึ่งมาก ๆ
จากนั้นมุ่งหน้าสู่ “วัดเจดีย์” อ.คอนสาร เป็นอีกสถานที่รวมศรัทธาของชาวชัยภูมิ เดิมเป็นวัดร้าง ที่ถูกค้นพบอีกครั้งในปี พ.ศ.2333 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ พร้อมเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง จากนั้นก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่เดิมชื่อวัดธาตุหรือวัดโพธิ์ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นวัดเจดีย์
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ค้นพบเป็นพระพุทธรูปเนื้อศิลาแลง ปางมารวิชัย คล้ายศิลปะแบบขอม คาดว่าสร้างตั้งแต่สมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก สูง 8 ศอก มีลักษณะพุทธศิลป์สมบูรณ์และงดงาม มีลักษณะเด่นคือพระโอษฐ์สีแดง อายุประมาณ 700 ปี ปัจจุบันชื่อว่า “พระพุทธชัยสารมุนี” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อพระประธาน”

ลาบปูนา ใส่กระทงมาอย่างเก๋ไก๋
อาหารถิ่นวิถีเก๋ เสน่ห์ไทคอนสาร
สำหรับมื้อเย็นของวันนี้ทางชุมชนได้จัดพื้นที่ในอาคารของวัดเจดีย์ เพื่อเลี้ยงต้อนรับคณะผู้เดินทาง โดยมื้อนี้มีของว่างเป็นน้ำมะพร้าวอ่อน ข้าวตอก และส้มโอหวานบ้านแท่น มาเรียกน้ำย่อย
จากนั้นก็เสิร์ฟชุดอาหารถิ่นคอนสาร หรือ “พาข้าวคอนสาร” ที่มี “คั่วเนื้อคั่วปลา” หรือ “คั่วหมูสมุนไพร” อาหารโบราณที่หารับประทานได้ในงานประเพณีสำคัญของอำเภอคอนสารเท่านั้น เพราะต้องใช้เวลาปรุงค่อนข้างนาน โดยจะนำเนื้อหมู เนื้อวัว หรือ เนื้อปลา มาย่างบนเตาถ่าน แล้วนำมาโขลกกับเครื่องสมุนไพรนานาชนิด ทั้งขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง กระเทียม คั่วกับน้ำมันมะพร้าวสดที่เคี่ยวจนแตกมันและแห้งจนมีกลิ่นหอม รับประทานกับผักพื้นเมือง เช่น ผักขี้นาก รสชาติหอม เผ็ดเค็มกำลังดี หน้าตาคล้ายคลึงกับคั่วกลิ้งของทางใต้
ในชุดยังมีปลาเผา และ “ลาบปูนา” เมนูพิเศษที่ได้ปูมาจากฟาร์มออร์แกนิคเครือข่าย “กลุ่มคนอินทรีย์ วิถีไทคอนสาร” ปรุงด้วยสมุนไพรที่ปลูกในสวนข้างบ้าน ปลอดภัยจากสารพิษ รสชาติหอมจากสมุนไพร ข่า หอมแดง ผักชีฝรั่ง กินกับข้าวเหนียวอัญชันได้อย่างลงตัว
อิ่มแล้วก็ไปเลือกซื้อหาสินค้าจากฝีมือคนในชุมชนคอนสาร มีความสวยงาม แถมราคายังน่าเลือกซื้อหา ตุ้มหูจากผ้าทอที่เห็นนี้ราคาเพียง 20 บาทเท่านั้น
- ลายขิดดอกแก้ว เอกลักษณ์ผ้าทอไทคอนสาร
หากที่นี่เคยเป็นแค่ทางผ่าน ก็คงเป็นทางที่อยากพักอยู่นาน ๆ จนไม่อยากผ่านเลยไป เพราะมีเรื่องราวดี ๆ มากมายให้ค้นหา ไม่ว่าจะไปทางไหนก็ยังคงความสวยงามและเงียบสงบ ทั้งสายชิลล์ สายบุญ จึงอุ่นใจกันตลอดทริป
เรื่องเล่าชาวคอนสาร
-ชื่อ “คอนสาร” ตั้งจากไม้หาบคอนพระราชสาร ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ส่งพระราชสารตราตั้งมายังพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งการเดินทางในสมัยนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก ขึ้นเขาลงห้วยอย่างยาวไกล คนเดินพระราชสารจึงต้องห่อพระราชสารตราตั้งด้วยผ้าขาวและทำไม้หาบคอนเอาสารตรานั้นมาส่งจนถึงหมู่บ้าน จนเป็นที่มาของชื่อ “คอนสาร” ในปัจจุบัน
-ภาษาพูดของชาวคอนสารจะแตกต่างจากภาษาอีสานทั่วไป เนื่องจากสำเนียงจะเหมือนภาษาของชาวนครไทยและหล่มสัก เพราะบรรพบุรุษมาจากเมืองพิษณุโลก คนทั่วไปและชาวคอนสาร จึงมักเรียกตนเองว่า “ไทคอนสาร” (Wikipedia)
-พาข้าว แปลว่า สำรับอาหาร, ถาดใส่อาหาร, การนั่งล้อมวงกินข้าว
ติดต่อท่องเที่ยว
อ.ศิลป์ชัยฟาร์ม อ.คอนสาร
รณชัย นามวิจิตร ประธานศูนย์เครือข่าย ศพก. อำเภอคอนสาร โทร. 08 7996 7275
ชุมชนท่องเที่ยวฝายดินสอ
โทร. 08 7994 0509
อาหารท้องถิ่นไทคอนสาร
โทร. 09 2997 8515 (คุณกุ้ง)
หมายเหตุ : ผู้ร่วมเดินทางทุกท่าน ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเงื่อนไขในการเดินทางเข้าจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 แบบ ATK Test ณ สำนักงาน อบจ.ชัยภูมิ ในวันแรกที่เข้าสู่จังหวัด
ไปเที่ยวกันต่อ
ส่องสัตว์ป่าที่ภูเขียว
ป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ
ไปเที่ยวชม “เฮือนคำมุ” พิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองชัยภูมิ