Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ศิลปะไร้ขอบเขต ศิลปินไม่สำเร็จรูป กับ อ.ปัญญา วิจินธนสาร

การได้ทำงานที่ชอบและถนัด ถือเป็นหนึ่งในแนวทางสร้างความสุขให้กับชีวิต แต่หากมีความชอบ แต่ยังไม่ถนัด การได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ แม้จะดูยาก ก็ยังเป็นอีกความสุขอยู่ดี

เช่นเดียวกับการก้าวข้ามและพลิกผันครั้งสำคัญของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติที่โลดแล่นในวงการศิลปะไทยมากว่า 30 ปี มีผลงานเป็นที่ลือเลื่อง จนมาวันหนึ่ง ท่านก็คิดที่จะท้าทายตัวเอง ด้วยการออกจากสิ่งที่หลายคนอาจเรียกมันว่า Safe Zone ด้วยการพลิกโฉมรูปแบบงานศิลปะที่ถนัดมาทั้งชีวิต สู่การสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยใช้เวลาเกือบ 5 ปีกว่าจะออกมาเป็นผลงาน ภายใต้แนวคิด “Ready Myth” อวดโฉมให้ทุกคนได้ร่วมกันฉุกคิดในนิทรรศการ “PANYA  : READY MYTH DEMONCRACY” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ใช่…เราไม่ได้พิมพ์ผิด ท่านตั้งใจใช้คำว่า DEMONCRAYCY จริงๆ

มันอยู่ในใจมานานแล้ว

“ผมถูกขนานนามอยู่เสมอว่าเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไทยประเพณี ซึ่งจริงๆ แล้ว กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ผมก็พยายามพัฒนางานตัวเองอยู่เสมอ  รวมทั้งการพัฒนาผลงานจากไทยประเพณี มาเป็นสมัยใหม่  ถือว่าการสร้างผลงานในครั้งนี้ เป็นอีกจุดที่ผมก้าวข้าม ซึ่งรูปแบบของไทยประเพณี อาจลดน้อยลง เหลือเพียงความคิดเชิงสัญลักษณ์  ส่วนการแสดงออกจะเป็นแบบร่วมสมัย เป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

จริงๆ แล้ว ความคิดในการทำงานวัสดุ เริ่มมาตั้งแต่ สมัยเรียน ปี 4 ที่ ม.ศิลปากร ซึ่งตอนนั้นนอกจากงานด้านศิลปะไทยแล้ว ผมเคยมีความสนใจที่จะสร้างผลงานศิลปะจากวัสดุ โดยได้เลือกทำวิทยานิพนธ์ทั้ง 2 แนวทาง ซึ่งได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ว่า ควรจะจับทางศิลปะไทย เพราะจะไปได้ไกลกว่า จากนั้นก็หยุดความที่คิดที่สร้างงานจากวัสดุไป มีเพียงบางครั้งที่นำวัสดุต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในงานจิตรกรรมไทย”

ก้าวข้ามด้วยความคิด-ความเชื่อ

“บอกได้เลยว่ายากมาก ตัวผมเองเป็นศิลปิน จึงเข้าใจศิลปินทุกคนว่า การทำงานศิลปะที่เราเคยถนัด มีความเชี่ยวชาญ มีความคิดที่ช่ำชอง หรือการกลั่นกรองที่ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่เราชอบและอยากที่จะเปลี่ยนใหม่ เป็นสิ่งที่เราอาจจะยังมีประสบการณ์ไม่พอ จึงต้องอาศัยการเรียนรู้  สิ่งเหล่านี้ยากมาก แต่ผมต้องการที่จะก้าวข้าม เรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะเชื่ออยู่เสมอว่า ภายใต้แนวความคิดจากการทำงานศิลปะไทยประเพณี มันจะต้องพัฒนาต่อไป โดยที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ของประเพณี  ถ้ายังมีบริบท มีความคิด ความเชื่อ มีทัศนคติบางอย่างของไทย  แล้วสามารถสื่อความเป็นสมัยใหม่ในปัจจุบันได้ นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

การทำงานศิลปะใช้วัสดุ มันเป็นเรื่องที่ยาก ผมมีความคิดจะทำมานาน แต่ความพร้อมยังไม่มี เพราะเราต้องใช้เวลา เข้าใจศึกษาเรื่องวัสดุ ต้องใช้ทุนในการสะสมวัสดุ ต้องเข้ามาจัดการในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เป็นประการณ์ใหม่  ที่ต้องเรียนรู้”

ศิลปินไม่จำเป็นต้องสำเร็จรูป

“การทำงานศิลปะโดยพื้นฐานจากเรื่องที่ไม่ชำนาญ อย่างการทำงานศิลปะที่ใช้วัสดุ ใช้เทคโนโลยี ต้องไปพึ่งผู้เชี่ยวชาญในส่วนอื่น เช่น งานที่เกี่ยวกับรถ ต้องใช้ช่างเชื่อม ช่างที่ทำงานอู่ซ่อมรถ ซึ่งไม่ใช่ศิลปิน เป็นงานที่สตูดิโอศิลปะทำไม่ได้ หรืองานที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษจากโรงงานอื่นๆ อย่างการทำพลาสติกที่เป็นอะคริลิก เราไม่มีความรู้ ไม่มีอุปกรณ์ก็ทำไม่ได้ ผมเชื่อว่างานศิลปะในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องสำเร็จรูปในตัวศิลปิน แต่ศิลปินจะเป็นผู้คิด ผู้จัดการ เราอาจจะใช้ความเชี่ยวชาญลักษณะอื่นๆ มาสผสมสานให้งานศิลปะชิ้นนั้นๆ ประสบความสำเร็จได้ มันจึงเกิดความยากที่เราต้องประสานงาน ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่ใช่เป็นความชำนาญในตัวเราเอง”

ฟื้นความงามให้ชีวิตที่เคยมีค่า

“มันเป็นความชอบที่อยู่ในตัวผมตลอดเวลา อาจจะเรียกว่าขี้เหนียวก็ได้ เป็นคนที่คิดว่าอะไรที่นำมาทำงานศิลปะได้ ก็พยายามเรียนรู้แล้วเอามาทำ  วัสดุที่เราใช้ทำงานศิลปะในปัจจุบันมันก็แพง เช่น การใช้สีน้ำมัน การปั้นหล่อ ทั้งหลาย ส่วนหนึ่งผมคิดว่า ตรงนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ศิลปินต้องหาทางออก  เราไม่มีเงินมาก เราก็สามารถทำงานศิลปะได้ วัสดุที่เหลือใช้ถ้ามองให้เห็นคุณค่า ก็สามารถบอกถึงความหมายและคุณค่าในงานศิลปะได้เหมือนกัน

ผมได้เรียนรู้ถึงวัสดุที่ผูกพันในชีวิต และมองวัสดุว่ามีจิตวิญญาณ แม้ตอนแรกที่เห็นอาจจะผ่านสายตาไป แต่เมื่อวันหนึ่งเกิดคิดถึงขึ้นมา ก็กลับไปเก็บมันมา ผมเริ่มเห็นชีวิตของวัสดุที่ถูกทอดทิ้งอย่างโดดเดี่ยว เริ่มเห็นว่ามันสื่อความหมายได้ จึงเริ่มสะสมวัสดุไว้ก่อน เพราะงานในลักษณะนี้ หากคิดจะทำเลยคงทำไม่ได้  เมื่อสะสมได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็นำมาต่อยอดความคิด เพื่อให้วัสดุสื่อความหมายได้ เป็นวัสดุที่มีชีวิต มีจิตวิญญาณ วัสดุเคยถูกสร้างด้วยมนุษย์ เคยมีคุณค่า การสร้างรถยนต์ 1 คัน เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ ผมไม่ได้ดูแค่ดีไซน์ของรถยนต์ แต่มองดูว่า ชิ้นส่วนต่างๆที่ถูกออกแบบมานั้น สามารถสร้างเป็นงานศิลปะได้ จึงเริ่มเกิดแนวคิดว่า จะสร้างสรรค์เป็นผลงานได้อย่างไร”

อัตลักษณ์ของศิลปินอาจเปลี่ยนไป

“ศิลปินในวันนี้ ต้องเรียนรู้ สะสม เตรียมพร้อม พร้อมเพื่อเปลี่ยนตัวเอง ให้สังคมได้เห็นว่าศิลปินที่มีศักยภาพ สามารถทำงานในลักษณะใดก็ได้ อัตลักษณ์ในความเป็นศิลปินอาจเปลี่ยนไป จากผู้สร้างสรรค์งานเพียงผู้เดียว เป็นผู้คิดสร้างสรรค์ โดยมีผู้อื่นเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ผลงานตามความคิดออกมาให้ได้ เช่น การที่ผมต้องใช้ช่างเหล็กและช่างเทคนิคเฉพาะทางเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลงานในครั้งนี้

ผลงานในชุดนี้ผมต้องการพูดถึงสิ่งที่เป็นวัสดุ  เป็นเรื่องวัตถุ เรื่องเทคโนโลยี พอหมดคุณค่า หมดประโยชน์เราก็ถือว่าเป็นของเหลือใช้ สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือของมนุษย์ มันมีคุณค่าในตัวมันเอง มันมีจิตวิญญาณ วัสดุสำหรับผม ถืงเป็นวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุที่ถูกทิ้งให้เสื่อมสภาพ ผมก็มองเห็นและสัมผัสได้ถึงชีวิตและจิตวิญญาณ ความมีชีวิต ถ้าผมสัมผัสได้ถึงวัสดุชิ้นไหน ผมก็ถือว่าผมเอาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะได้

ให้ปัญหาสะท้อนถึงที่มา

“ผมต้องการให้เราแคร์ ให้สังคมแคร์กับสิ่งที่เป็นวัตถุสิ่งของที่อยู่แวดล้อมตัวเราว่า วัสดุเหลือใช้ ทำอย่างไรให้มีคุณค่า ให้เราสนใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจะไม่ใช้อะไรที่สิ้นเปลือง ไม่ผลาญวัสดุหรือทรัพยากรธรรมชาติกันจนเกินไป ถึงแม้ว่างานศิลปะจะนำมันมาใช้โดยไม่ได้ประโยชน์โดยตรง แต่มันคือการสร้างจิตสำนึก มันจะบอกสังคมว่า อะไรที่มันเกิดขึ้นในบ้านเรา  จะมีทางที่เราพัฒนาแก้ไขอย่างไร

สู่ยุคศิลปะสัมพันธ์แบบไร้ขอบเขต

“ผมถือว่าศิลปะในปัจจุบัน เราได้เข้าสู่ยุคศิลปะร่วมสมัย ที่เปิดมิติกว้างมาก ศิลปะไปสัมพันธ์กับอะไรก็ได้ ศิลปะไม่มีขอบเขต ไปทำเรื่องไหนก็ได้ ขยายขอบเขตของตัวเอง ศิลปะไม่ได้อยู่ในโลกของศิลปินแล้ว เพราะฉะนั้นผมอยากจะให้งานศิลปะ มันเปิดโลกทรรศน์ออกไปมากขึ้น  เรายอมรับรูปแบบศิลปะในรูปแบบประเพณีเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรือสื่ออื่นๆ ที่ศิลปินเคยทำมามาก  วันนี้ศิลปินที่คิดจับอะไรมาสร้างงานศิลปะได้ ผมคิดว่ามันเกิดประโยชน์ในวงกว้าง ที่ทำให้สะท้อนสังคมว่า อะไรก็แล้วแต่ หากเราสามารถเรียนรู้  สามารถพัฒนา  สามารถสร้างประโยชน์ ก็เกิดคุณค่าได้”

ร่วมชมผลงานจากการก้าวข้ามครั้งสำคัญของ อ.ปัญญา วิจินธนสาร ได้ที่ นิทรรศการศิลปะ “PANYA: READY MYTH  DEMONCRAZY” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มกราคมนี้

 

 

Post a comment

2 × one =