Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

Zero Watse มาแล้ว “แห้ว” ยังไงไม่ให้เหลือซาก

หลังจาก “แห้ว” มีชื่อเรียกใหม่ว่า “สมหวัง” ดูเหมือนว่าภาพรวมต่าง ๆ ก็ดูดีตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าแค่เปลี่ยนชื่อแล้วจะมีความเปลี่ยนแปลง เพราะแห้ว ก็ยังเป็นแห้ว เป็นพืชที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า มีประโยชน์มากแค่ไหน ทั้งตัวผู้กิน ผู้ปลูก และวันนี้แห้วก็เป็นหนึ่งในขบวนการกู้โลกไปแล้ว

รู้จักแห้วสุพรรณ GI

พื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งปลูกแห้วคุณภาพของที่ได้ชื่อว่า มีหัวโต เติบโตได้ดีในพื้นที่นา เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ มีไฟเบอร์สูง และแร่ธาตุต่าง ๆ เพราะปลูกในแหล่งที่ได้ชื่อว่ามีดิน ฟ้า อากาศ ที่เหมาะสำหรับการปลูกแห้ว เพียง 1 เดียวในเมืองไทย จนทำให้ “แห้วสุพรรณ” ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

“สมหวังที่วังยาง” เป็นชื่อที่ทำให้หลายคนได้รู้จักเรื่องราวของแห้วมากขึ้น ทั้งจากการส่งเสริมและพัฒนา “แห้ว” ให้ “สมหวัง” ดังชื่อ หน่วยงานท่องเที่ยวอย่าง ททท. ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเปิดโลกของแห้ว ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก ภายใต้การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในวันนี้

นาแห้ว

ผลของแห้ว

เรื่องของ “แห้ว” ที่ “สมหวัง” ได้ทั้งปี

จากการบอกเล่าของ “อนันต์ ดอกกุหลาบ” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีแม่บ้าน อสม. ระบุว่า แห้วที่ปลูกในพื้นที่สุพรรณบุรี เป็นสายพันธุ์จากจีน แต่ก็ปลูกกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ปลูกสลับกันไปกับนาข้าว ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอศรีประจันต์มีผลผลิตต่อปีประมาณ 3,000 ตัน ผลผลิตที่ได้มีทั้งส่งจำหน่ายให้ค้าปลีกรายใหญ่อย่างซีพี และส่งออกในรูปแบบแห้วสไลค์ไปยุโรปและอเมริกา

ฤดูกาลของแห้วจะเริ่มต้นในช่วงต้นปี เช่นปีนี้เริ่มปลูกแห้วในเดือนมกราคม นับไป 6-8 เดือนก็เก็บผลผลิตได้จนถึงข้ามปี ดังนั้นแห้วจึงเป็นพืชผลที่มีตลอดไม่เคยขาด

แต่สิ่งที่เรียกว่าน่าทึ่งของพืชชนิดนี้ คือ เมื่อเกิดเป็นหัวแห้วแล้ว พวกมันจะมีดินและน้ำโอบอุ้มไว้ ไม่เก็บก็ไม่เป็นไร รอราคาดีแล้วค่อยเก็บขายก็ได้

ดังนั้น ใครที่อยากมาดูนาแห้ว มาลองงมแห้ว ก็มาได้ตลอด รับรองว่าไม่มีผิดหวัง

ปกติชาวบ้านจะตื่นแต่เช้ามืดออกไปงมแห้ว เพราะกลางวันแดดมันร้อน อีกเหตุผลคือ เก็บให้เสร็จทันตอนเช้า จะได้มานั่งปอกกันต่อ เป็นวิถีปกติของเกษตรกร

การเดินทางของแห้ว

สมัยก่อนแห้วเป็นพืชที่ราคาค่อนข้างต่ำ หากย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่แห้วราคาตกต่ำมาก จนทำให้ เกิดการรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีแม่บ้าน อสม. ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่กว่า 200 ครัวเรือน โดยการต่อยอดแห้ว เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

ไล่เรียงตั้งแต่ “แห้วต้ม” ต่อยอดเป็น “แห้วแช่อิ่มอบแห้ง” ที่เก็บไว้ได้นานขึ้นหน่อย ไปสู่ “แป้งแห้ว” ที่นำไปเป็นส่วนผสมของอาหาร ด้วยความที่มีไฟเบอร์สูง และไม่มีกลูเตน จึงเป็นอีกทางเลือกสุขภาพ ปัจจุบันพัฒนาสู่ “ไข่มุกแห้ว” ที่ทำจากเนื้อและแป้งแห้ว ใช้ใส่ในเครื่องดื่ม คล้ายกับชานมไข่มุก แต่เรื่องเจ๋ง ๆ ของแห้ว ก็ยังไม่จบแค่นั้น

แห้วอย่างไร ให้สิ้นซาก

กำจัดแห้วให้สิ้นซาก! เพื่อก้าวสู่สิ่งที่สมหวังยิ่งกว่า กับแนวทาง Zero Waste ลดขยะให้เป็นศูนย์ โดยมีหน่วยงานทางวิชาการต่าง ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาวิจัย จนบัดนี้ ไม่มีเศษใด ๆ เหลือจากการปลูกแห้วอีกแล้ว

  • เนื้อแห้ว

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่า ปัจจุบันส่งขายทั้งแบบสดและแบบแปรรูป รวมทั้งแปรรูปเป็นไวน์แห้ว

  • เปลือกแห้ว

มีสารบูชิน สารสีดำที่มีการวิจัยแล้วว่า มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและการอักเสบ มีสารอนุมูลอิสระ ฯลฯ ปัจจุบันพัฒนาเป็น “สบู่แห้ว” และ “สบู่แห้วสครับ”

  • ต้นแห้ว

ต้นแห้วจำนวนมหาศาลที่ทิ้งไปจะไม่สร้างปัญหารกโลกอีกต่อไป เพราะปัจจุบันได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยจะนำต้นมาต้มและปั่นให้มีลักษณะคล้ายกระดาษสา นำมาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นกิจกรรม DIY ที่นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมลงมือเมื่อมาถึงวังยาง นอกจากนั้นยังทำเป็นจาน

ก้าวต่อไปของแห้ว

แม้ว่าขยะจะเป็นศูนย์แล้ว แต่เส้นทางแห้วจะยังไม่จบแค่นั้น จากการร่วมวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จะส่งเสริมให้แห้วก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการดึงคุณสมบัติด้านความงาม มาผลักดันเป็น “เครื่องสำอาง” ซึ่งเป็นเส้นทางที่ต้องติดตามชมกันต่อไป

สุรีพร พงษ์พานิช ผู้อำนวยการกองตลาดภาคกลาง ททท. ร่วมกิจกรรมงมแห้ว

BCG Road Trip รักษ์โลกไปกับแห้ว

ขยะจากพืชผลทางการเกษตรเหลือทิ้ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ตัวการที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเผาทำลายที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการหมักหมมจนเกิดก๊าซมีเทน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังกังวล รวมทั้งประเทศไทย

ไม่นานมานี้ ททท.ภาคกลาง ร่วมพันธมิตรเครือข่ายจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถยนต์ BCG Road Trip รักษ์โลกพลังงานใหม่  ‘คาราวาน C2 Connect plus 2023’ วันที่ 26-28 พ.ค. 2566  เส้นทาง กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี-กาญจนบุรี-เพชรบุรี-สมุทรสงคราม

โดยมีภาคเอกชนผู้ร่วมจัดกิจกรรมได้แก่ บริษัทบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (GWM),
เที่ยวไทยฯลฯชมรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรผู้สนับสนุน ได้แก่ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) แป้งโกกิ ขนมหม้อแกงชิดชนก สคูลบัส สยามพีเคดี น้ำแร่เพชรศิลา และโปร ทัวร์ แอนด์อีเว้นท์ เป็นต้น

กิจกรรม “งมแห้ว” ณ ไร่แห้วมีคุณอนันต์ ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์  ได้เปิดโลกการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน หลายคนลงงมแห้วด้วยมือที่เปื้อนไปด้วยดินโคลน ไม่หวั่นแม้แสงแดดจ้า งมมาแล้วก็พากันไปที่ศูนย์การเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชิมแห้วสด ๆ และขนมจากแห้วที่รู้จักกันดีอย่าง “ทับทิมกรอบ”

ดับร้อนกันแล้วก็ได้เรียนรู้เรื่องราวในเส้นทางของแห้ว DIY ดอกกุหลาบจากกระดาษที่แปรรูปจากต้นแห้ว ตบท้ายด้วยการช้อปผลิตภัณฑ์แบรนด์ “มีคุณอนันต์” ที่มีให้เลือกหลากหลายรายการ ที่ติดใจกันมากคือ “เฟรนช์ฟรายส์แห้ว” ขนมขบเคี้ยวของคนรักสุขภาพ

นี่คือประสบการณ์และความรู้ใหม่ท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยแห้ว ซึ่งไม่ผิดหวังเลย

ไปเที่ยวกันต่อใน ต.วังยาง

ใน ต.วังยาง ใกล้กับพื้นที่นาข้าวและนาแห้วของชาวบ้าน เป็นที่ตั้งของ “วัดไก่เตี้ย” ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ เป็นอีกสถานที่ที่ชาวคาราวานได้แวะกราบไหว้เสริมสิริมงคล ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไฮไลต์คือเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

หากไปเยือนวังยาง ต้องแวะไปชมความงดงามของวัดไก่เตี้ย แล้วไปลุยกันในโลกของแห้วกันต่อ ย้ำว่าสามารถเข้าไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

ช่องทางการติดต่อ

อนันต์ ดอกกุหลาบ ไร่แห้วมีคุณอนันต์

ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้าน อสม.

ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี

โทร.081-2743882

FB/แห้วมีคุณอนันต์

Post a comment

nine + 18 =