Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

สีสัน “ลันตา’ เช้า-เย็น ในบรรยากาศที่เป็นใจ

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเดินทางมายังเกาะลันตา และดูเหมือนทุกครั้งที่เดินทางเข้ามา เราก็ได้พบกับเรื่องราวใหม่ ๆ อยู่เสมอ

แม้ในจุดเดิม ๆ ก็ยังเพิ่มเติมด้วยมุมมองใหม่ เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยซ้ำ เหมือนอะไรหลาย ๆ อย่างบนเกาะลันตา ที่สามารถสะท้อนความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน

สีสันแห่งยามเช้า ชมพระอาทิตย์ขึ้นปากอ่าว ทุ่งหยีเพ็ง

เพราะธรรมชาติ คือ แหล่งพักพิงที่ช่วยผ่อนคลายกายใจได้เป็นอย่างดี ยามเช้าบนเกาะลันตาจึงมีกิจกรรมดื่มด่ำบรรยากาศยามเช้าท่ามกลางธรรมชาติอันแสนสงบ ได้เราได้พบกับการพักผ่อนที่แท้จริง

ภายใต้บรรยากาศของเช้ามืดอันแสนสงบ เรือแจวลำน้อยค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากลำคลอง มีแค่เสียงพายกระทบน้ำเบา ๆ กับสายลมที่เคล้าคลอ นกกาเริ่มออกเสียงอยู่ไกล ๆ เป็นความเคลื่อนไหวที่สงบนิ่ง จนกว่าแสงแห่งวันใหม่จะสาดส่อง

“ทุ่งหยีเพ็ง” เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่บนเกาะลันตาที่ยังไม่มีใครรู้จักมากนัก  เป็นชุมชนมุสลิมที่อาศัยอยู่บนเกาะลันตามากว่า 100 ปี โดยคำว่า “ทุ่งหยีเพ็ง” มาจากผืนป่าชายทะเลอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในอดีต “โต๊ะหยีเพ็ง”  หรือ “ปู่หยีเพ็ง” บรรพบุรุษของชาวบ้านได้เดินทางมาบุกเบิกอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ คำว่า “โต๊ะ” ในภาษาอิสลาม หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย

บ้านทุ่งหยีเพ็ง ตั้งอยู่ริมทะเลชายฝั่งตะวันออกของเกาะลันตาใหญ่ อาชีพส่วนใหญ่คือการทำประมงพื้นบ้านและสวนยางพารา และมีลักษณะพิเศษคือ “เรือแจว” ซึ่งเดิมเคยใช้ในในการขนส่งสินค้าจำพวกไม้ คนท้องถิ่นเลยเรียกกันว่า “เรือทุกไม้” ซึ่งหมายถึง เรือบรรทุกไม้ แต่หลังจากที่เลิกตัดไม้ในป่าทุ่งหยีเพ็งไปแล้ว เรือเหล่านี้ก็นำมาเป็นเรือที่ใช้สัญจรในชีวิตประจำวัน จนดัดแปลงมาเป็นเรือนำเที่ยวในปัจจุบัน

ผืนป่าทุ่งหยีถือเป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ มีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์อันอุดมสมบูรณ์ สามารถเข้ามาเดินเล่นในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชมป่าโกงกาง ลิง นกสายพันธ์ต่างๆ ปูก้ามดาบสีน้ำเงิน และอีกหลากหลายสายพันธุ์

การนั่งเรือแจวที่ทุ่งหยีเพ็ง สามารถทำได้ 3 ช่วงเวลาหลัก ๆ คือ ชมแสงแรกยามเช้า ล่องเรือตอนกลางวัน และช่วงแดดร่มลมตกในยามเย็น แต่ทริปซึ่งเป็นที่ถูกใจสายชิลล์ที่สุดคือล่องเรือแจวยามเช้า นั่นอาจเป็นเพราะบรรยากาศที่หาอื่นใดเปรียบ

ใครที่เลือกทริปล่องเรือแจวยามเช้า ต้องมาถึงบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 5.30 น. จากนั้นก็ลงเรือแจวซึ่งปัจจุบันหลงเหลือในพื้นที่แห่งนี้เพียง 7 ลำ โดยชาวบ้านในพื้นที่จะออกมาแจวเรือพาพวกเราออกไปล่องลำคลองป่าโกงกางขนาดใหญ่ ออกไปสู่แม่น้ำ ใช้เวลาไป-กลับราว 2 ชั่วโมง

เรือหนึ่งลามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 4-5 คน มีคนแจวเรือ 1 คน เมื่อเรือเริ่มล่องผ่านความมืดออกไป แสงจากการปรับสายตาได้มองเห็นเพียงเงาของผืนป่าและผืนน้ำ  สัตว์ในป่าโกงกางส่งเสียงเป็นระยะ หากนิ่งเงียบจริง ๆ จะได้ยินกระทั่งเสียงพายกระทบน้ำ พร้อมเสียงลมที่แว่วมา เมื่อเรือล่องผ่านลำคลองออกไปแล้ว ด้านหน้าจะเห็นเวิ้งกว้างของปากอ่าว เมื่อพระอาทิตย์เริ่มสาดส่องมา ก็ถึงเวลาส่งเสียงปรบมือ ดังเวทีการแสดงแห่งวันได้เปิดฉากขึ้นแล้ว

เมื่อแสงตะวันเริ่มทำหน้าที่ คนแจวเรือก็เริ่มจัดแจงดัดแปลงโต๊ะเล็ก ๆ ภายในเรือเป็นพื้นที่อาหารเช้า วันนี้บริการด้วย “ข้าวเหนียวปลาแดดเดียว” อาหารท้องถิ่นเกาะลันตา เป็นข้าวเหนียวดำนึ่งมานุ่ม ๆ กินคู่กับปลากระบอกแดดเดียวทอดแห้ง ๆ  รสชาติเข้ากันสุด ๆ ตบด้วย “ข้าวเหนียวสังขหยา” และกาแฟร้อน ซึ่งทางเรือจะยกกระติกน้ำร้อนที่ต้มสุกแล้วลงมาในเรือด้วย

นั่งชมบรรยากาศ กินไป คุยกันไป ได้รสชาติยามเช้าที่แสนสุขใจ ขากลับก็ยังพบกับภาพแห่งธรรมชาติที่ชัดเจนขึ้น เมื่อถึงฝั่งก็ยังเดินชมบรรยากาศได้ต่อ เมื่อน้ำในป่าชายเลนแห้ง ก็จะเจอกับบรรดาปูตัวน้อยหลากสีสัน  จะแวะมาล่องเรือ ชมป่า หรือกินอาหารท้องถิ่นก็ติดต่อเข้ามาได้

บ้านทุ่งหยีเพ็ง

ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

ติอต่อ โทร. 08 9590 9173​ นายนราธร หงส์ทอง ประธานชุมชนท่องเที่ยวบ้านทุ่งหยีเพ็ง

สีสันบนผืนผ้า เอกลักษณ์แห่ง “ลันตาบาติก”   

พื้นที่ของเกาะลันตา ประกอบด้วย เกาะลันตาใหญ่ ที่หลายคนรู้จักกันดี เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก มีที่พัก ร้านอาหาร และบริการต่าง ๆ มากมาย ส่วน เกาะลันตาน้อย เป็นแหล่งชุมชนของคนเกาะลันตาดั้งเดิม อาชีพส่วนใหญ่คือการทำประมง ทำสวน ทำนา

แม้ว่าเกาะลันตาน้อยจะไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักทางด้านการท่องเที่ยว แต่ความน่ารักของชุมชนคนเกาะลันตาก็เชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยวชม และทึ่งกับเอกลักษณ์ของคนรุ่นใหม่บนเกาะลันตา กับสีสันบนผืนผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ ฉีกรูปแบบผ้าบาติกที่เคยมีเพียง ปู ปลา ใต้ท้องทะเล และได้ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าบาติกให้เป็นเสมือนผลงานศิลปะ 1 ผืนผ้า 1 ลวดลาย สร้างมูลค่าและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

หากสนใจเรื่องราวเหล่านี้ ต้องแวะไปที่ “สายชลบาติก” ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มลันตาบาติก”   คนรุ่นใหม่เชื้อสายเกาะลันตา ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการต่อยอดผ้าบาติก

“สายชล ละงู” เป็นเด็กเกาะลันตา เขาเกิดและเติบโตที่นี่ สมัยเด็ก ๆ พ่อแม่ก็อยากให้สายชลทำนาทำไร่  แต่ด้วยความสนใจในศิลปะการแพ้นท์ผ้าบาติก และใช้เวลาตั้งใจศึกษา ฝีกฝน ต่อยอดลวดลายผ้าบาติกให้เป็นเอกลักษณ์ผสมผสานกันการมัดย้อม โดยไม่จำกัดรูปแบบอยู่แค่ลวดลายของท้องทะเล แบบที่เห็นกันโดยทั่วไป ผลงานจึงเป็นที่ถูกใจทั้งชาวไทยและต่างชาติ

สายชล ละงู

สายชล ตั้งกลุ่มลันตาบาติก เมื่อปี 2545 โดยการชักชวนคนรุ่นใหม่ และคนสูงวัย มาร่วมทำผ้าบาติก ร่วมมือกันทั้งในส่วนของการตัดเย็บ ตลอดจนการออกแบบและเขียนลาย มีการถ่ายทอดไปยังผู้ที่สนใจทั้งในและนอกพื้นที่มากว่า 1,000 คน

เขาตั้งเป้าไว้ว่า จะเป็นผู้สร้างสรรค์ผ้าบาติกที่มีเอกลักษณ์ มีลวดลายเฉพาะตามจินตนาการของผู้เขียน เราจึงได้เห็นผ้าบาติกที่มีลวดลายไม่เหมือนใคร เช่น ผ้าบาติกลายตัวอักษรไทย ที่สายชลบอกว่าตั้งใจเป็นสื่อภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย

นอกจากความคิดความอ่านแบบคนรุ่นใหม่ สายชลยังใช้โลกโซเชียลเป็นเครื่องมือสร้างการรับรู้ รวมทั้งการนำผ้าบาติกออกไปโชว์ตามชายหาดในเกาะลันตาใหญ่ รวมทั้งการออกบูธแสดงสินค้าตามงานต่าง ๆ ปัจจุบันสินค้าของลันตาบาติกได้รับความนิยมมาก

ในแต่ละวันสมาชิกในกลุ่มราว 14 คน ต้องผลิตผ้าผืน (ผ้าชายหาดหรือผ้าเอนกประสงค์ขนาด 2 เมตร) อย่างน้อยวันละ 10 ผืน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการป้อนตลาด สนนราคาผืนละ 490 บาท ถือเป็นรายได้เสริม บ้างก็สามารถทำเป็นงานประจำได้เลย แต่ปัจจุบันมีช่างเขียนลายบาติกระดับฝีมือดี หรือเรียกว่า มีลายเซ็นของตัวเอง เพียง 3 คน จึงผลิตผลงานออกมาไม่ได้มากนัก และนั่นก็กลายเป็นจุดแข็งของผ้าบาติกที่นี่

สายชลบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝึกหรือหาคนที่สามารถเขียนลวดลายผ้าบาติกตามจินตนาการของตัวเองได้ หากเข้ามาฝึก 100 คน ก็จะพบช่างเขียนลายบาติกแค่ 1 คน

สายชลบาติก (กลุ่มลันตาบาติก)

ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

ติดต่อ สายชล ละงู ประธานกลุ่มลันตาบาติก โทร. 09 2982 9704

สีสันยามแสงลา ณ ประภาคารเกาะลันตา  

 

เกาะลันตาได้ชื่อว่าเป็นอีกสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกดินอันสวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถเลือกชมพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกได้ตามจุดต่าง ๆ ของเกาะ ที่พักทางด้านตะวันตกของเกาะ สามารถมองเห็นภาพพระอาทิตย์ตกน้ำได้อย่างเต็มตา

หากขับรถไปทางใต้สุดของเกาะ มีชายหาดและเนินเขาเล็ก ๆ ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเกาะลันตาที่นี่เรียกว่า “แหลมโตนด” เนื่องจากมีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เนินเขาเล็ก ๆ ที่แบ่งชายหาดเป็นสองฝั่ง เป็นที่ตั้งของ “ประภาคารเกาะลันตา” อันถือเป็นแลนด์มาร์คของเกาะลันตา ที่ใครไปใครมาก็อยากมาชื่นชมบรรยากาศพระอาทิตย์ลับฟ้าอันสวยงาม

ยามเย็นที่แหลมตะโหนดมีความเงียบสงบ เนื่องจากเป็นจุดสุดทางของเกาะ จึงไม่มีที่พักหรือร้านรวงใด ๆ ใครสนใจมาเข้าพักต้องติดต่อทางอุทยานฯ มาแล้วจะได้พบกับมุมมองแปลกตา จะมองจากผืนดิน หรือขึ้นไปอยู่บนเนินหน้าผา ก็ได้บรรยากาศแอดเวนเจอร์เล็ก ๆ ที่แสนประทับใจ ด้านบนมีป้อมปืนเก่าของทหารเรือ ด้วยทำเลอันกว้างใหญ่ จึงสามารถมาชมพระอาทิตย์ได้ทั้งยามเช้าและยามเย็น

การเดินทางไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่ประภาคารเกาะลันตา จะต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเส้นทางมีความลาดชัน รถที่ใช้ต้องมีสมรรนะที่ดีพอสมควร เช่นเดียวกับคนขับที่ต้องมีความเชี่ยวชาญในการขับรถบนทางลาดชัน โดยเฉพาะขากลับ หลังจากพระอาทิตย์ลับฟ้าแล้ว ทัศนวิสัยในการขับรถก็จะลดลงด้วยความมืด

สีสันวิถีลันตา กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในอำเภอเกาะลันตา กินพื้นที่บนเกาะลันตา และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธุ์กับธรรมชาติและท้องทะเล เช่นเดียวกับบริเวณ ทุ่งทะเล ซึ่งเป็นป่าริมทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งเคยเป็นที่หมายตาของนายทุน แต่ด้วยการรวมตัวของชาวบ้านและผู้ที่มองเห็นคุณค่า ที่ต้องการรักษาผืนป่าไว้ให้ลูกหลาน ทางจังหวัดและชาวบ้านจึงร่วมกันการถวายพื้นที่ป่าแห่งนี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มีการพัฒนาเป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้สัตว์ป่าและสัตว์น้ำ ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ของป่าทุ่งทะเล

มาแล้วก็จะได้พบกับการเพาะเลี้ยงปู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกปูตัวน้อย ๆ ที่แทบจะมองไม่เห็น เมื่อครบตามระยะเวลา ก็จะนำพันธุ์ปูเหล่านี้ออกสู่ท้องทะเล

นอกจากเส้นทางของการอนุรักษ์ธรรมชาติแล้ว ไม่ไกลจากกันในพื้นที่ป่าทุ่งทะเล มีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจเข้าเที่ยวชมอีกแห่ง นั่นคือ  ศูนย์ศิลปาชีพทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกิดจากพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ตั้งขึ้นเพื่อฝึกสอนและส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร ด้านการทอผ้าฝ้ายเป็นรายได้เสริม โดยได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพทุ่งทะเลมาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550  มีการอบรมสมาชิกมาแล้ว 6 รุ่น รวม 102 คน ปัจจุบันมีการทอผ้าทั้งที่ศูนย์ฯและที่บ้าน ประมาณ 25 คน มีทั้งผ้าที่ทอสำหรับศูนย์ศิลปาชีพ และผ้าทอทั่วไป เช่น ผ้าขาวม้า ที่ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน

สำหรับลวดลายผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ของศูนย์ศิลปาชีพทุ่งทะเล คือ “ลายเตยปาหนัน” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลูกเตย จากต้นเตยป่าหนันที่ขึ้นอยู่มากในชุมชน แต่เดิมมีภูมิปัญญาการจักสานข้าวของเครื่องใช้จากเตยปาหนันอีกด้วย

ศูนย์ศิลปาชีพทุ่งทะเล ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนป่าริมทะเล ภายในมีศูนย์การเรียนรู้ด้านการทอผ้า ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ มีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะแก่การเที่ยวชม

ศูนย์ศิลปาชีพทุ่งทะเล

ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

โทร. 08 4846 7542

เปิดให้เข้าชมในวันและเวลาราชการ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเล

โทร. 08 6470 8910

สีสันแห่งผืนป่า กับนกเงือกคู่รักที่ Avani+

บรรยากาศของเนินเขาริมทะเล ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่น เป็นที่ตั้งของ Avani+Koh Lanta Krabi Resort (อวานีพลัส เกาะลันตา กระบี รีสอร์ท) มุมพักผ่อนแสนสบาย บริเวณหาดคอกวาง เกาะลันตา

Avani+Koh Lanta Krabi Resort ซึ่งได้รับการรีโนเวทเมื่อปลายปีที่แล้ว ภายใต้การบริหารงานในเครือไมเนอร์ ปัจจุบันมีห้องพักรวม 92 ห้อง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งสปา ร้านอาหาร บาร์ ห้องออกกำลังกาย 24 ชั่วโมง  ฯลฯ

เครื่องดื่มต้อนรับเป็นน้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรเสิร์ฟมาในรูปแบบเก๋ไก๋

ตกแต่งในกลิ่นอายสไตล์มลายู โดยได้รับแรงบันดาลจากวัฒนธรรมศรีรายาหรือชุมชนเมืองเก่าลันตา ผนวกกับความเป็นไทย ผสานรากฐานและเรื่องราวของชาวมอแกน มุสลิม และจีน ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่สมัยที่เกาะลันตาแห่งนี้เคยเป็นท่าเรือที่สำคัญในทางการค้าและแลกเปลี่ยนสินค้าของกระบี่กับปีนังและประเทศสิงคโปร์

ห้องพักแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ห้องพูล วิว (Pool View) ห้องพูล แอคเซส (Pool Access) และห้องซี วิว (Sea View) โดยห้องพักแบบพูลวิลล่ามาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกอันทันสมัยและความเป็นส่วนตัว พร้อมบรรยากาศของวิวยามเย็นอันสวยงามในช่วงพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าเหนือทะเลอันดามัน

ห้อง 2122 มีนกเงือกทำรังอยู่บนต้นไม้ บรรยากาศดีมาก

ไฮไลท์สุดเก๋อยู่ที่ห้องแบบ Sea View Pool Villa นอกจากความกว้างขวางสะดวกสบายเป็นพิเศษแล้ว ยังพิเศษยิ่งกว่าเพราะด้านหลังห้อง เป็นรังของคู่รักนกเงือกเจ้าก๊อก-แก๊ก ขวัญใจชาว Avani+

เมื่อตื่นเช้ามา เรามองเห็นเจ้านกเงือกหนุ่มออกไปคาบกิ่งไม้ใบหญ้ามาให้คู่รัก โฉบไปโฉบมาบริเวณต้นไม้ริมชายหาด ในโซนห้องพักแบบซี วิว พูล วิลล่า ซึ่งมีสระว่ายน้ำส่วนตัวอยู่บนหน้าผาริมชายหาด ภายในแบ่งโซนห้องนั่งเล่น และห้องนอนขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับห้องน้ำที่กว้างขวาง แบ่งสัดส่วนได้ดีมาก

ในส่วนของอาหารค่ำคืนนี้

แม้จะไม่ได้พักห้องดังกล่าว นักท่องเที่ยวก็สามารถชื่นชมคู่รักนกเงือกได้ เพราะใกล้ ๆ กับรังของมัน เป็นพื้นที่โล่งข้างห้องพัก เจ้าเงือกหนุ่มจะบินโฉบไปโฉบมา บ้างก็มีเกาะอยู่ริมระเบียง เป็นนกเงือกที่คุ้นเคยกับการเฝ้ามองของผู้คน เราจึงสัมผัสบรรยากาศที่หาชมได้ยากนี่ได้สบาย ๆ

อวานี พลัส เกาะลันตา รีสอร์ท

โทร. 075-626-888

อีเมล avaniplus.krabi@avanihotels.com

เว็บไซต์ https://www.avanihotels.com/en/koh-lanta-krabi

ใครมาเยือนเกาะลันตา ก็อย่าลืมแวะไปสัมผัสกับสีสันอันสดใสในหลากหลายมิติของเกาะลันตา เป็นเกาะที่มีน้ำทะเลใส ชายหาดขาว มีที่พักให้เลือกหลากหลายระดับ กลับมาแล้วก็ยังคิดถึงอยู่เสมอ

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกระบี่

โทร 075-622-163, 075-612-811-2

อีเมล tatkrabi@gmail.com

ไปเที่ยวกระบี่กันต่อ

ปักหมุดเที่ยวในตัวเมืองกระบี่ มีดีกว่ามากกว่าทะเล

Post a comment

19 − 5 =