Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย “เมืองโบราณศรีเทพ”

คำว่า “มรดกโลก” มีความหมายตรงตัวที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า เป็นมรดกหรือสมบัติล้ำค่าของคนทั่วโลก ไม่ว่ามรดกนั้นจะอยู่ที่ไหน

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 หลังจากที่ UNESCO ได้ประกาศให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ในไทย มีผู้ที่ออกมาชื่นชมยินดีกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อความคึกคักของนักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าไปเยือนเมืองโบราณศรีเทพกันอย่างไม่ขาดสาย ปลุกกระแสท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

ความหมายของ “มรดกโลก”

คำว่า มรดกโลก” (World Heritage) มีความหมายถึง มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล เมื่อได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่งมรดกโลกแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็หมายถึงมรดกของคนทั้งปวงทั่วโลก

การขึ้นทะเบียนมรดกโลก จะได้รับความคุ้มครองในระดับสากล ซึ่งเป็นไปตาม อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือ “อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” (The World Heritage Convention) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 และโดยอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2518 เป็นต้นมา

สุรีพร พงษ์พานิช ผอ.กองตลาดภาคกลาง ททท. นำคณะเข้าชมเมืองโบราณศรีเทพ

ประเทศไทยมีมรดกโลกกี่แห่ง

การขึ้นทะเบียนมรดกมีปัจจัยในการพิจารณาหลายประการ แต่ละแห่งจึงต้องใช้เวลายาวนานในการนำเสนอเพื่อการพิจารณา โดยปัจจุบันยูเนสโกมีการรับรองมรดกโลกไทยไปแล้ว 7 แห่ง แบ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง และมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง ดังนี้

มรดกโลกทางธรรมชาติ

  1. ปี 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (ครอบคลุมพื้นที่ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก)
  2. ปี 2548 กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (ครอบคลุมพื้นที่ จ.สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์)
  3. ปี 2564 กลุ่มป่าแก่งกระจาน (ครอบคลุมพื้นที่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์)

4 มรดกโลกทางวัฒนธรรม

  1. ปี 2534 เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย
  2. ปี 2534 นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา
  3. ปี 2535 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี
  4. ปี 2566 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
“เมืองศรีเทพ” มรดกโลกอันดับ 7 ในประเทศไทย

หลังจากได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ถนนทุกสายที่วิ่งไปเพชรบูรณ์ ต่างมีเป้าหมายในการเข้าชมความงดงามและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีอายุยาวนานก่อนยุคประวัติศาสตร์

ข้อมูลจากกรมศิลปากร ระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งของประเทศไทยปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม  โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. 2527

สำหรับชื่อเรียก“ศรีเทพ”  นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย  ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2447

เมืองโบราณศรีเทพและแหล่งต่อเนื่อง ถูกขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือ ทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์

ย้อนอดีตแห่งความรุ่งเรือง

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ   ในราวปลายพุทธศตวรรษที่  18 – ต้นพุทธศตวรรษที่  19  อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน

เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเมืองที่มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ มีพื้นที่กว่า 2,889 ไร่ มีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ และโบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง ภายในเมืองมีสระน้ำโบราณหลายขนาดอีกกว่า 70 แห่ง

การเข้าไปเที่ยวชมและศึกษาประวัติศาสตร์เมืองโบราณศรีเทพ จะพบเห็นร่องรอยของชุมชนโบราณเมือง แหล่งศาสนสถานรวมไปถึงยังขุดพบโครงกระดูก และข้าวของเครื่องใช้ สะท้อนอารยธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดี

เส้นทางเที่ยวชมเมืองโบราณศรีเทพ

ศูนย์บริการข้อมูล

เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองโบราณศรีเทพ  รวมทั้งการอนุรักษ์ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ภายในประกอบด้วยห้องประชุม หรือบรรยายสรุปก่อนการเข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ รวมทั้งการจำหน่ายหนังสือ  เครื่องดื่มและของที่ระลึก  และอาคารปฏิบัติการทางโบราณคดีที่ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และบริเวณใกล้เคียง

อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี

เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูก ช้าง ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า  2,000  ปี  ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมืองโดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ

ส่วนโครงกระดูกช้างนั้นนับเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถานเนื่องใน  วัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง  เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกันกับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด

เจ้าหน้าที่ในเมืองโบราณศรีเทพ ระบุว่า ทุกพื้นที่ในบริเวณเมืองโบราณศรีเทพมีเรื่องราวที่สะท้อนภาพในอดีต ไม่ว่าจะขุดลงไปตรงไหนก็จะพบเจอหลักฐานต่าง ๆ เช่น ความเชื่อในการฝังศพคนพร้อมกับสุนัขและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น

อาคารวิชาการและห้องสมุด

เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี  รวมทั้งกิจกรรมด้านการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ  ภายในประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและห้องสมุด

ปรางค์สองพี่น้อง

ปรางค์สองพี่น้อง

เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร  มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน  หันหน้าไปทางทิศตะวันตก  ทั้งสององค์ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทรายที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร (พระอิศวรอุ้มนาง ปารพตี (อุมา) ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ)

จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบทำให้อนุมานได้ว่าปรางค์สองพี่น้องนี้คงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู(พราหมณ์)ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 17 แล้วต่อมาจึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปรางค์ศรีเทพ

ปรางค์ศรีเทพ

เป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตกในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง  จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบโดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่าคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์)  ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ต่อมาคงมีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลงแต่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อใช้เป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากมีการพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นเพียงโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก

เขาคลังใน

เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่มีขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี     ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และคงใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18

มีลักษณะก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตกยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่างๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา  ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

เขาคลังนอก

บริเวณด้านนอกเมืองยังมีโบราณสถานที่มีคุณค่าและน่าสนใจอีก  2  แห่ง ได้แก่

เขาคลังนอก 

เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งอยู่นอกเมือง ไม่สุภาพงออกไปราว 2กิโลเมตร  สันนิษฐานว่ามีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์  ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่างๆอยู่โดยรอบ  ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู  สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานเขาคลังในที่ตั้งอยู่ภายในเมือง คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ถือได้ว่าเขาคลังนอกเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่ร่วมสมัยเดียวกัน

เขาคลังนอก

ปรางค์ฤาษี     

ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ไม่สุภาพงออกไปราว 3 กิโลเมตร  เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูนตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน  ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง  พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์  ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ

ไอศกรีมลวดลายปูนปั้นโบราณกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองโบราณศรีเทพในปัจจุบัน

ปัจจุบันเมืองโบราณศรีเทพได้รับความสนใจในการเข้าชมทั้งชาวไทยและต่างชาติ สิ่งที่สำคัญมากในการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม คือการเคารพต่อสถานที่ ไม่หยิบจับหรือสร้างความกระทบกระเทือนในทุกพื้นที่ รวมทั้งการแสดงออกผ่านสื่อโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปหรือวิดีโอ ควรเป็นไปอย่างสุภาพและสำรวม

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะเปิดให้บริการทุกวัน  ระหว่างเวลา  08.30 – 16.30 น.

ติดต่อวิทยากรเพื่อการเข้าชมเป็นหมู่คณะได้ที่

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โทรศัพท์ 056-921322

ที่มา:

https://www.finearts.go.th/main/view/8207-อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/357

Post a comment

thirteen + twelve =