Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

”ดอนปู่ตา“ โอเอซีสพื้นบ้าน อีสานสโตร์

ที่นี่ คือศูนย์รวมจิตวิญญาณของชุมชน ที่นี่ คือศุนย์รวมแห่งความหวังและยำเกรง ที่นี่ คือศูนย์รวมของวัตถุดิบชั้นดีของเมนูพื้นบ้าน “ดอนปู่ตา” คือป่าวัฒนธรรม เป็นอีสานสโตร์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกุศโลบายของบรรพชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาผืนป่าเอาไว้ให้เป็นแหล่งพันธุ์พืช เพาะวัตถุดิบในการประกอบอาหารตำหรับพื้นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดเล็ก สร้างเป็นระบบนิเวศวิทยาที่ธรรมชาติจัดสรรอย่างกลมกลืน สร้างสมดุลและสอดคล้องระหว่างชาวบ้าน พืชและสัตว์ ได้อยู่อาศัยเกื้อกูลกันเสมอมา

“ดอนปู่ตา” ยังเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมตามวิถีความเชื่อของชุมชน กรอบจารีตประเพณีอีสาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เป็นแนวทางในการดำรงชีพ และความมุ่งหวังในอนาคตเพื่อปรับสภาวะจิตใจให้มั่นคงจากผลอันเกิดจากการเสี่ยงทายที่เป็นไปในลักษณะใดก็ได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้เตรียมรับสถานการณ์อันอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ประมาท บางครา “ดอนปู่ตา” ก็เป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้านในชุมชน 

https://youtu.be/HGMnxLzOHic

ความเป็นมา

ดอนปู่ตาเป็นบริเวณป่าที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง มีไม้ใหญ่น้อย ไม้เถา ไม้เลื้อย ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น รวมทั้งยังมีผลิตผลจากป่า อาทิ เห็ดชนิดต่างๆ ทั้งเห็ดปลวก เห็ดผึ้ง เห็ดระโงก วิถีชุมชนชาวอีสานมีความเชื่อในบาป บุญ เคร่งครัดในจารีตประเพณี ปฏิบัติกิจตามความเชื่อนี้อย่างมั่นคง เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ ประหนึ่งเป็นภูมิคุ้มกันจากภัยพิบัติทั้งมวลให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นการแสดงถึงความเคารพ กตัญญูบรรพชนผู้ล่วงลับ

ดอนปู่ตาบ้านชาด ต.หัวเรือ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

แทบทุกหมู่บ้านของชาวอีสานจะมี “ดอนปู่ตา” เป็นที่ประทับของผีปู่ตาหรือผีอารักษ์ของหมู่บ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าดอนปู่ตาเป็นบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยส่วนมากจึงไม่กล้าตัดฟันต้นไม้ จับสัตว์ต่างๆ ที่มีในดอนปู่ตามากินเป็นอาหารโดยพละการ ยกเว้นเมื่อมีความจำเป็น เช่น ต้องการนำไม้มาใช้เพื่อประโยชน์ของชุมชน ก่อนจะตัดต้องทำพิธีขออนุญาตตัดไม้ ส่วนการเก็บเห็ด หาอาหารนั้น โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะไม่กล้าล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณดอนปู่ตา ด้วยความรกคลื้ม ด้วยบรรยากาศที่ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจึงเคารพและเกรงกลัว “ดอนปู่มาก” มาก แต่กระนั้น ก็ยังมีชาวบ้านบางคนที่มีความใจกล้า โดยมีการขอขมา ขออนุญาต ก่อนเข้าเก็บเห็ด หาใบตอง ในดอนปู่ตา 

ทางเข้าไปดอนปู่ตา

ชื่อเรียก“ดอนปู่ตา” น่าจะมาจากการเรียกผีบรรพชน“ปู่ย่าตายาย” ในเบื้องต้น แต่โดยวิถีความเชื่อในสังคมอีสานจะเคารพ ยึดมั่นในผีเพศชายมากกว่า จึงเลือนเหลือแค่ผี ปู่-ตา อันเป็นตัวแทนของบรรพชนทั้งสองเพศ คือ “ปู่”เป็นญาติทางฝ่ายชาย “ตา”เป็นญาติทางฝ่ายหญิง

ภายในป่าดอนปู่ตามีการสร้างหอพ่อปู่และแม่ย่าไว้กราบไหว้ โดยปกติในรอบปีจะมีการเซ่นไหว้ใหญ่ครั้งหนึ่ง ซึ่งมักจะทำในเดือน 6 ก่อนจะลงทำนา โดยจะมีของเซ่นไหว้ ดังนี้ เหล้าหนึ่งไห ไก่หนึ่งตัว สำรับหวานสี่ สำรับหมากหนึ่งคำ และบุหรี่หนึ่งมวน และมี “เต่าจ้ำ” หรือ “ขะจ้ำ” เป็นผู้ทำหน้าที่ติดต่อเจรจากับผีปู่ตา และเป็นผู้กล่าวนำและกล่าวแทนชาวบ้านในพิธีเซ่นไหว้

ต้นไม้ใหญ่ในดอนปู่ตา

ภูมิปัญญาของท้องถิ่น
ความเชื่อและกุศโลบายพื่อการอนุรักษ์ป่า

การมีป่าดอนปู่ตาและการเลี้ยงผีปู่ตา มีหลักการที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1) พื้นที่ของป่าดอนปู่ตาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ของหมู่บ้าน เพราะมีความเชื่อและตั้งเป็นกฎร่วมกันว่าเป็นบริเวณที่ห้ามตัดต้นไม้ เก็บหาเห็ด และห้ามล่าสัตว์ จึงทำให้พืชและสัตว์มีพื้นที่ปลอดภัยได้อาศัยอยู่เพื่อการแพร่พันธุ์ไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป นักวิจัยได้พบว่า ป่าดอนปู่ตาในภาคอีสาน มีพื้นที่เฉลี่ย 50 ไร่ แต่มีดัชนีความหลากหลายชนิดของพรรณพืชและสัตว์เทียบเคียงได้กับป่าทำเลขนาด 1000 ไร่

ศาลา บ้าน(ตูบ)ของผีปู่ตา

2) พิธีเลี้ยงผีปู่ตา สามารถใช้ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านได้ เนื่องจากในการประกอบพิธีกรรมจะมีการนำเอาไก่ที่เลี้ยงไว้ในบ้านหรือตามนา 1 ตัว ไปฆ่าสังเวยให้กับผีปู่ตา ในพิธีจะมีการเสี่ยงทายคางไก่ โดย“เฒ่าจ้ำ”จะถอดเอาขากรรไกรล่างของไก่ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนออกมาดูรูปร่างถ้าคางไก่สวย คือมีรูปร่างดี ไม่บิดเบี้ยว ผิวของกระดูกเรียบไม่ขรุขระ แสดงว่าข้าวปลาอาหารจะสมบูรณ์ แต่ถ้ารูปร่างไม่ดีแสดงว่าข้าวจะยากหมากจะแพง ในเชิงวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า เนื่องจากไก่บ้านเป็นไก่ที่หากินอยู่กับสิ่งแวดล้อมในบ้านหรือในไร่นาถ้าอาหารอุดมสมบูรณ์กระดูกอ่อนที่คางไก่ก็จะสมบูรณ์ แต่ถ้าอาหารของไก่ขาดแคลน การเจริญของคางไก่ก็จะไม่สมบูรณ์ ชาวบ้านต้องเตรียมตัวรับกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นหรือเร่งปรับสภาพแวดล้อมให้อยู่ในภาวะสมดุลมากยิ่งขึ้น

ต้นไม้สูงลิ่ว ต้องแหงนคอมอง

เถาวัลย์ห้อยระย้า

ในปี 2516 ภูมิภาคอีสานมีพื้นที่ป่าถึง 31 ล้านไร่เศษ พอถึงปี 2560 เหลือเพียงประมาณ 15 ล้านไร่ คิดเป็น 14% ของพื้นที่ ในแต่ละปีป่าถูกทำลายไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่ จนป่าเหลือลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย หากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ตั้งแต่วันนี้ คาดว่าพื้นที่ป่าอีสานจะสิ้นสภาพไปอย่างสิ้นเชิงในระยะเวลาอันใกล้

ป่าเป็นสังคมของพืช สัตว์ และมนุษย์ เป็นแหล่งกำเนิด แหล่งขยายพันธุ์ ผลิตผลของพืชพันธุ์หลายชนิด เป็นทั้งแหล่งของอาหาร ตลอดจนยาสมุนไพร ต้นทางของเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันชาวบ้าน  ป่าและมนุษย์จึงมีความผูกพัน เกี่ยวโยงสอดคล้องกันมาต่อเนื่องนานนับศตวรรษ จนไม่อาจแยกป่าออกจากวงจรชีวิตของมนุษย์ได้ 

………………
“เฒ่าจ้ำ”
เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของชุมชน เพื่อติดต่อสื่อสารกับผีปู่ตา หรือรับบัญชาจากผีปู่ตามาแจ้งแก่ชุมชน ตลอดจนมีภาระหน้าที่ในการดำเนินกิจการด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีปู่ตา และบริเวณที่อยู่อาศัย เฒ่าจ้ำอาจเรียกได้หลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระจ้ำ ขะจ้ำ ข้าวเจ้า เฒ่าประจำ เจ้าจ้ำ หรือ จ้ำ

นอกจากเฒ่าจ้ำจะมีภารกิจดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำยังต้องเอาใจใส่ดูแลป้องกันรักษาพื้นที่บริเวณป่า ต้นไม้ สัตว์ รวมไปถึงทรัพยากรผลิตผลจาก “ดงปู่ตา” เช่น เห็ด แมลง ฟืนไม้แห้ง ผัก และพืชสมุนไพร เป็นต้น ต้องขออนุญาตผีปู่ตาเป็นส่วนตัว และผ่าน “เฒ่าจ้ำ” เสมอ มิฉะนั้นจะถูกผีปู่ตาลงโทษให้ผู้นั้นได้รับภัยพิบัติต่างๆ จนอาจถึงแก่ชีวิตได้

เมื่อเฒ่าจ้ำมีบทบาทผูกพันกับผีปู่ตาและชุมชนดังกล่าวแล้ว เฒ่าจ้ำจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แทนสถาบันอันศักดิ์สิทธิในชุมชนทุกสถาบัน นับตั้งแต่ “ดงปู่ตา” พระภูมิเจ้าที่ เทวดา หลักเมือง มเหศักดิ์ และหลักบ้าน

บุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของเฒ่าจ้ำนั้น น่าจะได้พิจารณาเชื่อมโยงจากการเลือกเฟ้นหรือกำหนดตัวบุคคลให้ทำหน้าที่นี้ โดยปกติแล้วเมื่อเฒ่าจ้ำถึงแก่กรรมลง จะต้องหาเฒ่าจ้ำคนใหม่มาทำหน้าที่แทนทันที โดยคัดเลือกจากบุคคลในหมู่บ้านที่มีความประพฤติดี บุคลิกน่าเลื่อมใส เป็นที่ยอมรับของชุมชน ในแต่ละชุมชนอาจมีวิธีการเลือกเฒ่าจ้ำแตกต่างกัน 
……………….

ข้อมูล: forestinfo.forest.go.th, ich.culture.go.th, winnews.tv, museumthailand.com

“ดอนปู่ตา” กับวิถีชุมชน
กำนันสุวรรณ์
เกณฑ์มา เป็นคนบ้านชาด ทำหน้าที่กำนันตำบลหัวเรือ ดูแลพื้นที่ทั้ง 21 หมู่บ้าน กว่า 2000 พัน ครัวเรือน วันนี้ โครงการรักษ์บ้านนอกโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาขอให้กำนันเล่าให้ฟังถึงดอนปู่ตาบ้านชาด

…“ดอนปู่ตาน่าจะตั้งพร้อมกับหมู่บ้าน ช่วงประมาณปี พศ. 2437 ขณะนั้นบ้านชาดย้ายมาจากบ้านเก่าแตงแซง ที่แยกมาจากบ้านตากแดดหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ย้ายมาตามลำน้ำเสียว มาเจอโนนบ้านเลยตั้งหลักแหล่ง ตั้งโบสถ์ ขุดสระน้ำ สร้างบ้านแปลงเมือง ซึ่งยังเหลือให้เห็นเป็นรูปร่างอยู่ ตอนนั้นกลุ่มที่ย้ายมา แตกออกไปเป็นสามหมู่บ้าน  บ้านชาด บ้านฝาง บ้านกอก
กำนันสุวรรณ์ เริ่มบทสนทนาเมื่อพวกเราถามถึงเรื่องดอนปู่ตา บ้านชาด

พ่อเฒ่าจ้ำของหมู่บ้านเลือกมาจากไหน?
“…โดยปกติแล้วเฒ่าจ้ำสืบสานตามตระกูล จากพ่อสู่ลูก เท่าที่จำได้พ่อของพ่อเฒ่าจ้ำ ชื่อพ่อใหญ่เหมิด เป็นขะจ้ำบ้าน จากนั้นก็สืบต่อมาเป็นลูกของแก ตอนนี้พ่อเฒ่าจ้ำก็อายุประมาณ 80 ปี แล้ว สืบสานผ่านมาประมาณสามชั่วอายุคนแล้ว”

ดอนปู่ตาบ้านชาดมีกี่ไร่?
“ดอนปุ่ตาของที่นี่ ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ทีเดียว น่าจะกว่า 10 ไร่ แต่ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่ การเลี้ยงดอนปู่ตาจะไม่รวมบ้านกัน วันพุธแรกของเดือน 6 จะเป็นวันที่ถือเอาเป็นวันดีในการเลี้ยงผีดอนปู่ตา กราบไหว้บูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ทำพิธีเสี่ยงทายฝนฟ้า ด้วยการดูคางไก่

โดยต่างหมู่บ้านต่างทำพิธีเลี้ยงของแต่ละหมู่บ้าน อาจจะมีบ้างที่ชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นมาบนบานศาลกล่าว เพื่อให้ค้าขายมีโชค เดินทางปลอดภัย

เมื่อก่อน เชื่อกันว่า ถ้ามีคนไปทำอะไรที่ไม่ดี ให้ดอนปู่ตา ตกกลางคืนจะมีม้าขาววิ่งผ่านหมู่บ้าน…ผู้ใหญ่เล่ามาให้ฟังแบบนั้น”

เคยเห็นปาฏิหาริย์ของดอนปู่ตามั้ย?
“ตอนประมาณ ปี พศ. 2508-9 ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า …ตอนนั้น การเดินทางสัญจรจะขี่ม้า ส่วนมากคนที่จะมีม้าขี่ได้ก็ต้องเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือครู ถ้าขี่ม้ามาถึงดอนปู่ตาแล้ว ไม่คารวะ ไม่ถอดหมวก ลงเดินเพื่อจูงม้า…ม้าจะไม่ยอมเดินเลย ถ้าไม่ลงไป…ม้าจะไม่ยอมเดินผ่านดอนปู่ตา ได้ยินมาว่า แบบนั้น…

แต่พอหมดสมัยม้า การคมนาคมเจริญขึ้น มีรถ รถราวิ่งผ่าน ก็ไปได้ปกตินะ

อ้าว?
“แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าบอกว่าไม่เชื่อ ก็พูดได้ไม่เต็มปาก
“…นี่เรื่องจริงนะ พ่อใหญ่ผม(พ่อของแม่)เป็นคนใจกล้า …ย่านบ่เป็น” กำนันสำทับ
“เพิ่นเป็นจารย์เนาะ ชื่อพ่อใหญ่จารย์สม แกเข้าไปไปตัดไม้ในดอนปู่ตา เชื่อไหม? แกโดนไม้ดีดหำตายคาที่ แม่ผมเลยเป็นกำพร้าตั้งแต่เด็ก..”.

ฟังแล้วอึ้ง ดีใจที่ตอนเข้าไป“ดอนปู่ตา”ได้ขอขมา บอกกล่าวกับผีปู่ตาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อ้อ! มีบา(บนบาน)ไว้ด้วยนะ

“ส่วนเก็บเห็ด หาหน่อไม้ ที่จริงก็ขอได้นะ” กำนันเล่าให้เราฟังต่

… เพียงนั่งลงแล้วยกมือไหว้ บอกกล่าวผีปู่ตา “พ่อใหญ่เอ๊ย ขอไม้ตายไปแจ้งก้นหม้อแหน่เด้อ” ถึงจะเข้าไปเก็บฟืนได้ (แจ้งก้นหม้อ หมายถึงเช็ดก้นหม้)

…ส่วนเห็ดมีทุกเห็ด เห็ดปลวก เห็ดผึ้ง เห็ดโคน เห็ดไค เห็ดระโงก เห็ดกระด้าง มีทุกชนิด เก็บได้เลย เพียงก่อนเข้าให้นั่งลง ยกมือไหว้ บอกกล่าว ขอ…

”แต่ไม้ใหญ่นี่แตะไม่ได้เลย ถ้าอยากได้ต้องซื้อ ซื้อไม้ดอนปู่ตา เอาเงินเข้าหมู่บ้าน อย่างไม้ที่เอามาทำเสาวัด บ้านชาดซื้อจากดอนปู่ตา 2 ต้น ตัดได้ ทำได้ …

แต่เอาไปทำอย่างอื่นนี่แตะไม่ได้เลย ถ้าเอาไปใช้เป็นส่วนตัว ขนาดไพหญ้า(มัดหญ้าเป็นแผง)นิดเดียว เข้าไปเอายังเจองูตัวใหญ่มาก วิ่งหนีแทบไม่ทัน”

กำนันสุวรรณ์สำทับเรื่องไม้ “ดอนปู่ตา”ให้เราฟังอย่างจริงจัง แล้วบอกต่อถึงความเชื่อ ยำเกรง ในดอนปู่ตา ของวิถีชาวบ้าน

…เพื่อนผมนี่แหละ ตอนนั้นเขาเป็นผู้ใหณ่บ้าน พูดจาลบหลู่ดอนปู่ตาว่า ไม่กลัว ไม่เชื่อ ยังงั้น ยังงี้ เข้าไปจะเอาหญ้าไปมุงหลังคาบ้าน เข้าไปนี่เจอดีเลย เจองูขนาดใหญ่ วิ่งเลย…

หลังจากเรื่องความเชื่อ ปาฏิหาริย์ กำนันก็เล่าต่อถึงประโยชน์ของ “ดอนปู่ตา”ที่มีต่อวิถีชุมชน
 “ดอนกับหนองสิม(หนองน้ำ อยู่ใกล้กับดอนปู่ตา)มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ก่อนชาวบ้านจะลงปลา ต้องถวย ด้วยปลาจี่ ปลาเผา ไปถวยเหล้า“ดอนปู่ตา”ถึงจะจับปลาได้ ไม่งั้นไม่ได้ปลา ทั้งๆ ที่มีปลาอยู่เต็มหนองสิม…

“ต้องยอมรับว่า ดอนปู่ตา”มีประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งทางด้านจิตวิทยา วิทยาศาสตร์ เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของหมู่บ้าน เป็นกุศโลบายของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่พวกเราควรดูแล เก็บรักษาวิถีของพื้นบ้น สืบสานให้เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานตลอดไป”
กำนันสุวรรณ์ บอกกล่าวทิ้งท้ายกับเรา

Post a comment

9 − 3 =