Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

New Jewelry – not just another beauty

สถานการณ์โควิดเป็นวิกฤตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่น หากรู้จักปรับตัว

ในแง่ของสุขภาพ คือ การใช้ชีวิตในรูปแบบ New Normal ต้องดูแลและป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด

ในแง่ของเศรษฐกิจ แม้ประตูของการหมุนเวียนของเม็ดเงินจะถูกปิดไปหลายบาน แต่ก็ยังมีอีกหลายช่องทางให้เสาะแสวงหา

วันนี้เราได้ฟังมุมมองของตลาดเครื่องประดับ จากเวทีเสวนา  New Jewelry – not just another beauty” หรือ “เครื่องประดับยุคใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงาม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานแถลงข่าว โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 14 (GIT’s 14th World Jewelry Design Awards 2020) จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที โดยมีมุมมองที่น่าสนใจว่า เครื่องประดับแบบไหน ถึงจะโดนใจคนยุคนี้

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ GIT   กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้มองหาเครื่องประดับธรรมดาอีกต่อไป แต่ต้องการเครื่องประดับที่มีประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ด้วย เป็นสมาร์ท จิวเวลรี่ เช่น ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ โดยที่ผ่านมา จีไอทีได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และผู้ประกอบการ นำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับในเชิงพาณิชย์ คือ เครื่องประดับสุขภาพที่มีคุณสมบัติฟอกอากาศ สามารถดักจับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5  ทำให้อนุภาคฝุ่นหล่นลงสู่พื้น เหลือแต่อากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นควันกลับสู่ธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเปิดตัวผลงานต้นแบบให้คนทั่วไปได้เห็นช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563

New Jewelry – not just another beauty”

“คนยังอยากสวย อยากใส่สร้อย ใส่กำไล แต่จะสวยยังไงให้ทันสมัย” ดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการ GIT

“ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 GIT เล็งเห็นถึงสภาพตลาดและความเปลี่ยนแปลง ต้องคิดใหม่ว่า สมัยก่อนคนซื้อเครื่องประดับเพื่อความสวยงามหรือความพึงพอใจ แต่วันนี้มีอะไรมากกว่านั้น  ต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ หากไม่ใช่แค่ความสวยงาม มันจึงต้องมีเรื่องราว มีเอกลักษณ์ชุมชน หรือสอดคล้องกระแสของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนั้นยังมีเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง รวมทั้งความคุ้มค่าในการลงทุน เช่น การซื้อ 1 ชิ้น แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้เยอะขึ้น ชุมชนเองก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจ

สำหรับความคิดเห็นด้านการเลือกซื้อเครื่องประดับ โดยส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าคนยังเลือกซื้อจากความพอใจ เชื่อว่า คนยังอยากสวย อยากใส่สร้อย ใส่กำไล แต่จะสวยยังไงให้ทันสมัย ปัจจุบันมีเทรนด์โลกซึ่งเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์สังคมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ประเทศไทยซึ่งมีการส่งออกเครื่องประดับจิวเวอรี่ถึง 4 แสนล้านบาท จึงจำเป็นต้องปรับรับกระแสของประชาคมโลกให้ทันด้วย

การออกแบบในยุคนี้จำเป็นต้องสร้างความแตกต่างให้ได้ อย่าเพิ่งท้อ อย่างที่เห็นว่า เมื่อตลาดซบ บรรดาช่างหรือนักออกแบบต่างเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งทำให้โอกาสในการสืบสานภูมิปัญญาน้อยลงไป จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะช่วยให้พวกเขาอยู่ได้ โดยสิ่งสำคัญคือการทำตลาด

วันนี้ GIT ได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบ โดยนำคอนเซ็ปต์ของเครื่องประดับที่เป็นได้มากกว่า อย่างน้อยเชื่อว่านักออกแบบส่วนหนึ่งมีแนวคิดแล้วว่าต้องเดินไปในเส้นทางใด อย่างผลงานกว่า 350 กว่าชิ้นที่ส่งเข้าประกวด บางแบบสวยจริง แต่ไม่ตอบโจทย์ของการประกวดในครั้งนี้ จึงไม่ผ่านเข้ารอบ”

“อย่าเพิ่งท้อใจ แต่ต้องไปให้ถูกช่องทาง เพราะตลาดบนยังมีกำลังซื้อ”“อรธิรา ภาคสุวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และ ดิเอ็มควอเทียร์

“ในฐานะของห้างที่มีความคลุกคลีกับลูกค้า เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ของผู้คนมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19   เราเองก็ปรับตัวเป็น New Retail โดยทำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม อำนวยความสะดวกให้กับชีวิตมากขึ้น แต่พอโควิดมาความเปลี่ยนแปลงมันก้าวกระโดด สมัยก่อนคนซื้อเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม รวมทั้งซื้อเพื่อการลงทุน แต่ปัจจุบันเมื่อต้องคิดก่อนจ่ายมากขึ้น เราจึงต้องนำเสนอให้เกิดการเข้าถึง ทั้งช่องทางออนไลน์  และ Door to Door Service ต้องทำทุกอย่างเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ในแง่สินค้านั้นมีความเปลี่ยนแปลงตั้งปีที่ผ่านมา

แบรนด์ดังอย่าง หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) แอร์เมส (Hermes) หรือ พราด้า (Prada) มีการนำจิวเวลรี่มาเป็นแอคเซสเซอรี่ หรือประดับตกแต่งเป็นส่วนประกอบของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สายสมาร์ทวอทช์ของแอร์เมส ที่ทำให้ดูไม่เป็นเทคโนโลยีจนเกินไป หรือ เคส Airpods ของพราด้า ซึ่งแฟชั่นนิสต้าในปัจจุบันต้องมี แม้แต่หน้ากากอนามัยในปัจจุบันก็กลายเป็นแฟชั่น มีเครื่องประดับเข้ามาตกแต่ง

ทุกวันนี้แอคเซสเซอรี่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตต้องสวย ซึ่งวันนี้ได้มาเห็นผลงานของหลายท่านแล้ว เริ่มเห็นว่า จิวเวอรี่ได้หันมาทางนี้ สวยด้วย ใช้งานได้ด้วย

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทางห้างช่วยดูแลผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่กับเรา ช่วงปิดการขายก็ไม่คิดค่าเช่า และยังคงทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ร้านค้าให้มียอดขายเติบโต ช่องทางออนไลน์มีส่วนสำคัญในการค้นหาข้อมูลสินค้า แต่ยอมรับว่าออฟไลน์ยังคงสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องประดับ เมื่อค้นหาแล้ว จำเป็นต้องเข้ามาหยิบจับ ลองสวมใส่ ก่อนตัดสินใจซื้อ หน้าที่เราคือการทำตลาดหรือหาโปรโมชั่นที่น่าสนใจเขามารองรับ

ทั้งนี้ หลังจากเปิดห้างมาแล้ว 2 เดือน พบว่า กลุ่มลูกค้าระดับบนยังมีการจับจ่ายดี ส่วนหนึ่งมาจากไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งลูกค้าของกลุ่มจิวเวลรี่คือกลุ่มตลาดบน ที่เราดูแลอยู่ จึงมั่นใจได้ว่าอย่างเพิ่งท้อใจ แต่ต้องไปให้ถูกทาง เมื่อมีสินค้าที่ตอบโจทย์แล้วต้องทำตลาดให้ถูกทางและขายให้ถูกที่ ต้องบุก ต้องไปต่อให้ได้”

 “แม้จะแต่งตัวสบายๆ อยู่บ้านในช่วงโควิด แต่เมื่อมี Zoom Meeting ก็จะให้เกียรติผู้ร่วมงาน ด้วยการแต่งตัวและสวมใส่เครื่องประดับ”

“วรรณพร โปษยานนท์” บรรณาธิการบริหารนิตยสารแฟชั่น Harper’s BAZARR ประเทศไทย

“มองเครื่องประดับเป็นชิ้นงานที่คุณค่าต่ออารมณ์และจิตใจ เนื่องจากชื่นชอบศิลปะ แต่ยุค New Normal ได้เห็นปรากฎการณ์ของแบรนด์ระดับโลกที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานได้มากขึ้น จากประสบการณ์ทำงานกับพราด้า ในคอลเลคชั่น  Prada fall/Winter 2020 มีสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ที่เปิดออกมาแล้วมีกระจกแต่งหน้า และสามารถเก็บของใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้การออกแบบไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม ๆ เป็นเทรนด์ใหม่ที่เข้ามาช่วยพัฒนาชิ้นงาน ส่งเสริมการใช้ได้ในทุก ๆ วัน แต่ยังคงความเนี้ยบ เท่ ทันสมัย

ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ก็ยังแต่งตัวในช่วงโควิด หากอยู่บ้านก็จะแต่งตัวสบายๆ แต่เมื่อมี Zoom Meeting ก็จะให้เกียรติผู้ร่วมงาน โดยการแต่งตัว ใส่เครื่องประดับ  แต่เป็นแอคเซสเซอรี่ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้หรูหรามากนัก

สำหรับเทรนด์ของเครื่องประดับในปัจจุบัน  อยากสนับสนุนนักออกแบบที่สนใจเรื่องของการตอบแทนคืนสังคม การทำเพื่อสังคมหรือชุมชน ด้วยการเข้าไปคุยกับช่างในชุมชน แม้ว่าต้องใช้เวลากว่าจะคุ้นชินและไว้วางใจกันได้ แต่ก็ยังอยากเห็นชิ้นงานแบบนี้อยู่

แบรนด์ยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันเขามีการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้ความสำคัญตั้งแต่การหาวัตถุดิบ เพชรต้องขาวสะอาด ต้องมีแหล่งที่มาที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้แรงงานเด็ก ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าชิ้นงานมีความคุ้มค่าและถูกต้องจริง ๆ

ส่วนสำคัญอีกอย่างคือ การพัฒนามุมมองเรื่องการตลาด ต้องทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูทันสมัย มีช่องทางออนไลน์ที่ครอบคลุมการซื้อขายอย่างครบวงจร  เพราะวันนี้ทุกคนต้องบิ้วท์ด้วยออนไลน์ก่อน ยกตัวอย่างช่วงอยู่บ้าน แบรนด์ดังอย่าง คาเทียร์ บุลการี่ ก็มีกิมมิคเล็ก ๆ ให้ลูกค้าด้วยการทำฟิลเตอร์ในไอจีให้ลูกค้าเล่น มีการทำซีอาร์เอ็มส่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับลูกค้า เพื่อบอกว่าแบรนด์ยังคิดถึงพวกเขาอยู่

การพัฒนาไอเดียมีส่วนสำคัญมาก ปัจจุบันแบรนด์ยักษ์ใหญ่มีความคิดที่น่าสนใจ อย่าง บุลการี่ (Bvlgari)  หรือ คาร์เทียร์ (Cartier) เริ่มจับมือกับแบรนด์ในเซ็คเม้นท์อื่น ๆ เช่นการจับมือกับแบรนด์สายสตรีท  AmbushxBvlgari เพื่อจับกลุ่มฮิปฮอป ซึ่งขยายตลาดได้ดี นักออกแบบไทยที่เคยออกแบบแค่เครื่องเพชรหรือพลอย อาจจะนำมาประยุกต์การทำงานกับแบรนด์อื่น  เพื่อการสร้างสรรค์อีกรูปแบบ อาจจะเป็นแบรนด์สายสตรีทของเมืองไทย แล้วปรับราคาให้เข้าถึงได้มากขึ้น”

GIT’s 14th World Jewelry Design Awards 2020

GIT  ได้จัดการประกวดออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 14 หรือ GIT’s 14th World Jewelry Design Awards 2020 ภายใต้แนวคิด Beyond Jewelry: Artistic Elegance of Gems

การประกวดในปีนี้มีนักออกแบบส่งผลงานเข้าประกวดรวมทั้งหมด 352 ชิ้นงาน ซึ่งเป็นผลงานของนักออกแบบต่างชาติมากถึง 183 ชิ้นงาน จาก 28 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สวีเดน อิตาลี จีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อิหร่าน ตุรกี อินเดีย และประเทศในแอฟริกา และอีก 169 ชิ้นเป็นผลงานของนักออกแบบชาวไทย ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นมีความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ด้านประโยชน์ใช้สอยที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับได้อย่างน่าประทับใจกรรมการ

ทั้งนี้ สถาบันฯ ร่วมกับพันธมิตรได้นำแบบวาดเครื่องประดับที่ได้รับคะแนนสูงสุดจำนวน 4 แบบ ไปผลิตเป็นเครื่องประดับจริง โดยจะประกาศผลผู้ชนะรางวัลและจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผลงานดังกล่าว ในวันที่ 18 กันยายน 2563

การประกวดครั้งนี้มีรางวัลมูลค่ารวมกว่า 9,500 เหรียญสหรัฐ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 4,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  นอกจาก รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลมูลค่า 3,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 1,500 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลชมเชย 1 รางวัล เงินรางวัล 1,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ

Post a comment

eleven − nine =