Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

อีสานแล้งไม่ต้องแย่งกัน ธนาคารน้ำอยู่ที่ชัยภูมิ

“คนชัยภูมิต้องมีเมียเป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปแย่งกับใคร”

คำเปรียบเปรยที่แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาตัวเอง ซึ่ง “อ.ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้เล่าให้ฟัง ในโอกาสที่ได้ร่วมลงพื้นที่กิจกรรม “เอามื้อสามัคคี”  โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 8  ณ ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ

“คำว่า ชัยภูมิ ก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นพื้นที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในทุกมิติ” อาจารย์ยักษ์ย้ำ

เพราะจังหวัดชัยภูมิ มีป่าต้นน้ำอยู่กว่า 7 ล้านไร่ เป็นป่าต้นน้ำซึ่งถือเป็น “ธนาคารน้ำของภาคอีสาน” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สู่ อ.วารินชำราบ ซึ่งชื่อก็บอกแล้วว่า “วาริน” หมายถึง “น้ำ” “ชำราบ” หมายถึง “ซึมซาบ” จึงเป็นที่รวมน้ำจากพื้นที่สูง ทั้งจากชัยภูมิและจากโคราช เมื่อมีปริมาณน้ำเกินรับไหวก็ทำให้วารินชำราบเกิดน้ำท่วมเกือบทุกปี

แล้วจะดีสักแค่ไหน หากน้ำที่ไหลลงไป ได้เกิดการเก็กกับไว้เพื่อใช้ประโยชน์ เพราะภัยแล้งกับการเกษตร เป็นปัญหาคาราคาซังมานาน อาจารย์ยักษ์ จึงหวังว่า ขอเพียงส่วนหนึ่งของคนในจังหวัดชัยภูมิ แค่ประมาณ 7 หมื่นไร่ หันมาทำพื้นที่เก็กกักน้ำและการปลูกป่า ให้มีน้ำใช้กันตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องหวังพึ่งเพียงน้ำในคลองหรือเขื่อนสาธารณะ

เพราะหากไม่สามัคคีกันจริง ก็นำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง “เหมือนต้องแย่งเมียกัน” ตามที่เปรียบเปรย

“คนชัยภูมิจึงต้องมีเมียเป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปแย่งกับใคร แต่ถ้ามีเมียแล้วไม่พอ ก็หากิ๊กเพิ่มได้” เป็นอีกคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการใช้น้ำปริมาณมาก นอกจากบ่อหลักแล้ว ยังสามารถขุดบ่อเล็ก ๆ  เพิ่มได้ไม่อั้น เพราะงานนี้บ่อหลักไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

แล้วจะทำให้อย่างไรให้ชาวบ้านได้เห็นเป็นตัวอย่าง แม้การเดินทางของโครงการตามรอยพ่อฯ จะเดินทางมาถึงปีที่ 8 แล้ว ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี…

วันนี้ที่ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ มีอากาศแจ่มใส อาสาสมัครกว่า 200 คน ทั้งจากชัยภูมิและพื้นที่ต่างๆ ได้ร่วมกันสร้างโคก หนอง นา เป็น “ชัยภูมิโมเดล” พื้นที่เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการฟื้นฟูลุ่มนํ้าป่าสักและลุ่มนํ้าชี  เพื่อส่งเสริมสุขภาพและการดําเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวชัยภูมิ

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 8   มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 200 คน จากสมาชิกเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและคนมีใจจาก จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.เลย จ.บุรีรัมย์ และคนมีใจในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ โดยได้วางมาตรการความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ หรือ New normal ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 วัน คนมีใจได้มาร่วมกันสร้างโคก หนอง นา ชัยภูมิโมเดล เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

กิจกรรมที่ทำ ได้แก่ การขุดคลองไส้ไก่ ทำแปลงผักแสนดี (ปลูกผักในกระบะ) โรงปุ๋ยแสนขยัน (ปุ๋ยจากมูลวัว) หนองปลาโตไว (แซนด์วิชปลา สร้างแหล่งอาหารครบวงจร)  ดำนาอินทรีย์ และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น โดยมีวิทยากรจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ รวมถึง ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) สาธิตและให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งคาดหวังว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบให้ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบในการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและคนมีใจต่าง ๆ ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้ศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาในพื้นที่ ชุมชน จังหวัดได้อย่างยั่งยืน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติและถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ต่อไป

หมอ-พยาบาล แชร์ประสบการณ์คนมีใจ

นพ.นรุตม์ อภิชาตอำมฤต (หมอนิค) นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลหนองบัวระเหว ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติหนองบัวระเหว ต.ส้มป่อย อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ และศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง เล่าว่า “หลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เลือกทำงานใช้ทุนและเรียนต่อในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลน เป็นการมองคนไข้แบบองค์รวมว่าครอบครัวมีผลต่อโรคอย่างไร พบว่าต่างจังหวัดขาดแคลนหมอมากกว่า จึงมาทำงานชุมชนโดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้สุขภาพของชุมชนดีจากพื้นฐาน

ทั้งนี้ พบว่า ปัญหาสุขภาพมีรากฐานจากสังคม เช่น ในชัยภูมิมีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัญหาความยากจนที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวออกไปทำงานที่อื่นแล้วส่งลูกกลับมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เกิดเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่ในบ้านมีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก จึงตัดสินใจศึกษาและลงไปพัฒนาชุมชนด้วยศาสตร์พระราชา เนื่องจากตอบโจทย์ 3 ประการคือ เรื่องเกษตรอินทรีย์ เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่น โดยร่วมกับจิตอาสาจากหลายภาคส่วน

ต่อมาได้มาร่วมก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันทำ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับเรียนรู้และจัดฝึกอบรม ที่ผ่านมามีผู้มาเข้ารับการอบรมไปแล้วหลายรุ่น การเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ จะมีการปรับพื้นที่ใหม่ให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการออกแบบพื้นที่ให้ศูนย์ฯ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และเหมาะสมกับกำลังคนที่มีอยู่น้อยเพราะทุกคนมีงานประจำ”

ด้าน นางปราณี ชัยทวีพรสุข ประธานกรรมการศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม และเจ้าของ “สวนฝันสานสุข” จ.ชัยภูมิ  เล่าวว่า “การทำงานส่งเสริมสุขภาพชุมชนทำให้พบว่า การรักษาพยาบาลเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากปัญหาสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต เช่น การใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมีผลกับสุขภาพ ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางส่งผลให้ผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้า ต่อมาได้มาเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชาและแนวทางกสิกรรมธรรมชาติจากอาจารย์ยักษ์และอาจารย์โจน จันใด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จึงรวบรวมคนมีความรู้มาทำงานร่วมกัน แจกจ่ายความรู้เรื่องสุขภาพ หยิบเรื่องสมุนไพรใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์ รวบรวมสูตรยาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย นำเรื่อง “สมุนไพรอินทรีย์” มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต

นอกจากขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ฯ บอกเล่าก้าวตามแล้ว ยังทำ ‘สวนฝันสานสุข’ ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งอาหาร ให้คนมาเรียนรู้ จ้างชาวบ้านมาช่วยงานเพื่อสอนเขา ซึ่งเขาเอาความรู้กลับไปทำที่บ้าน ในการทำศูนย์ฯ บอกเล่าก้าวตาม มีหน้าที่รวบรวมคนจากหลากหลายอาชีพ เป็นผู้ต่อจิ๊กซอว์ที่นำไปสู่การสร้างเครือข่ายเข้มแข็งในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ”

นางปราณี ยังเล่าประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นให้ฟังว่า เป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองของชาวบ้าน แต่หากทำให้เห็นเป็นตัวอย่างพวกเขาก็เริ่มเห็นถึงประโยชน์ อย่างการที่ได้สร้างโมเดลเก็กกับน้ำ ยามหน้าแล้งก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ นั่นคือน้ำใจที่ทำให้พวกเขาเห็นผลที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างชัดเจน

ฝนที่หยาดลงมาสลับกับท้องฟ้าแจ่มใส เราได้เห็นพลังของกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีหัวใจอันยิ่งใหญ่ พวกเขาเสียสละเพื่อการสร้างให้ทุกคนได้เห็นว่า คนไทยสามารถผ่านพ้นได้ทุกวิกฤตด้วยศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 แม้ไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้ทำงานอะไร ก็มีอยู่ มีกิน ไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกับใคร ท่ามกลางอากาศที่ดีที่บ้านของเราเอง และ “ศาสตร์พระราชา” มีอยู่กว่า 40,000 ตัวอย่าง จาก 4,000 กว่าโครงการ เลือกมาเพียงบางอย่างที่เหมาะสมกับตัวเอง ให้ตัวเองอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อน หรือมัวแต่หวังพึ่งพาใคร

แต่แนวทางนี้ก็ต้องใช้ความอดทน ไม่เอาเป้าหมายรายได้มาเป็นตัวนำ  เชื่อว่าเมื่อทำด้วยหัวใจ …ยังไงก็รอด

ศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าเก้าตาม

ในปี 2561 นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการ จ.ชัยภูมิ ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต) ได้ซื้อที่ดินจำนวน 11 ไร่เศษ ใน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ พร้อมชักชวนผู้รู้และคนมีใจหลากหลายอาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล ครู ข้าราชการ เกษตรกร ร่วมกันก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าก้าวตาม ที่บ้านเสี้ยวน้อยพัฒนา ต.บ้านเล่า อ.เมือง ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของผู้คนและนักท่องเที่ยวที่สนใจ เน้นการฝึกอบรม เพื่อผลักดันองค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชัยภูมิได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันศูนย์ปราชญ์ศาสตร์พอเพียง บอกเล่าเก้าตาม ได้แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ อาทิ การทำนาแบบดั้งเดิม การเลี้ยงปลาในนาข้าว การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การทำปศุสัตว์ รวมไปถึงการจัดทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำเพื่อการเกษตร และระบบการกักเก็บน้ำในสระไม่ให้ไหลซึมหายไปในช่วงหน้าแล้ง เป็นต้น การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ทั้งต้นน้ำป่าสักและต้นน้ำชี อีกทั้งเป็นการนำเสนออีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการร่วมมือร่วมใจของภาคีเครือข่ายคนมีใจในการถ่ายทอดองค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาและส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไปไม่รู้จบ

เดินหน้า “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “สู้ทุกวิกฤต รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อตอกย้ำว่าศาสตร์พระราชาคือทางรอดจากทุกวิกฤต

ทั้งนี้ กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 8 กำหนดจัดขึ้นอีกครั้ง ณ โคก หนอง นาขาวัง ต.คลองบ้านโพธิ์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ผืนนาที่เป็นพื้นที่ระบบนิเวศ 3 น้ำ มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ทำนาในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งตั้งแต่น้ำกร่อยจนน้ำเค็มก็เลี้ยงกุ้งหอยปูปลา  โดยจะมีกิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์จากแปลงชาวนามหานคร (หนองจอก) ถึง โคก หนอง นาขาวัง จ.ฉะเชิงเทรา อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีช่องทางสื่อสารในรายการเจาะใจ ซึ่งจะออกอากาศทางช่อง MCOT HD ในเดือนธันวาคม 2563

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลและกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org

เที่ยวต่อในชัยภูมิ

อินดี้โบราณ แรงบันดาลใจ ใน “เฮือนคำมุ”

Post a comment

16 + eight =