Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

“ปลาย่ำสวาท” เมนูสุดต๊าซ พร้อมขบวนอาหารถิ่นตราดที่ห้ามพลาด

อย่างแรกเลย หลังจากรู้ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน เรามักจะถามกันว่า แล้วจะไปกินอะไร และนี่คือพลังของ Gastronomy Tourism

เพราะการได้ลิ้มชิมรสเมนูเด็ดของเจ้าถิ่น คือความฟินระดับที่มิชลินไม่ต้องไกด์ เรื่องของอาหารเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เสมือนครัวของแต่ละบ้านย่อมมีจานอร่อยของตัวเอง

จังหวัดตราด สุดเขตแดนตะวันออกของไทย เป็นอีกดินแดนแห่งความฝัน สวรรค์ของนักชิม จากวัตถุดิบและภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นอีกเสน่ห์ที่ชวนให้สัมผัส จนไม่อยากให้พลาด

ปลาย่ำสวาท เมนูสุดต๊าซแห่งท้องทะเลตราด

เพราะฟังแค่ชื่อก็น่าสนใจแล้ว สำหรับ “ปลาย่ำสวาท” จึงขอเลือกมาเป็นเบอร์ 1 ในดวงใจสำหรับการนำเสนอในครั้งนี้ ชื่อจริงของมันคือ “ปลากะรังจุดฟ้า” ดูแล้วงามตาน่าชม แต่พอได้ลิ้มลองก็ขอเปลี่ยนเป็น “น่ากิน” ด้วยแล้วกัน

นี่คือปลาประจำถิ่นตราด ที่หารับประทานได้ยากในแหล่งอื่น เป็นปลาไทยเนื้อดี ทำเมนูไหนก็อร่อย โดยเฉพาะ  “ซาชิมิ” หรือ “ปลาดิบ” มีทั้งปลาธรรมชาติและแบบเลี้ยง ราคากิโลละเป็นพัน

ที่มาของชื่อ “ปลาย่ำสวาท” มาจากลักษณะวงจรชีวิตของปลาชนิดนี้ ตัวแม่จะวางไข่ในทะเล แต่ลูกปลาจะมาโตอยู่แถวชายฝั่ง สามารถเปลี่ยนเพศได้ หากอายุ 3 ปี ขนาด 3 กิโลกรัมจะเป็นเพศเมียทั้งหมด แต่เมื่อโตไปแตะที่ 7 กิโลกรัม ก็จะเปลี่ยนเป็นเพศผู้ ดังนั้นการผสมพันธุ์ของปลาในธรรมชาติ ตัวผู้ก็จะมีตัวใหญ่มาก ส่วนตัวเมียก็จะตัวเล็กกว่านั่นเอง

เราได้รับประทานปลาชนิดนี้ที่ Little Moon Vila เกาะหมาก ในงานแถลงข่าวเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวหมู่เกาะและทะเลตะวันออก แต่ทราบว่ามีหลายร้านบนเกาะหมาก เกาะกูด และเกาะช้าง เสิร์ฟเมนูนี้ด้วย

ใครไปเที่ยวแล้วต้องไม่พลาด การันตีด้วยรสชาติหวานละมุน เนื้อเด้ง ไม่มีกลิ่น กินกับซอสโชยุและวาซาบิ

สุดจี๊ดในดวงใจเลย

ข้าวคลุกพริกเกลือ – หมูชะมวง

ภายในงานเดียวกัน ยังมีการเสิร์ฟเมนูท้องถิ่นน่าลิ้มลอง เริ่มต้นจาก “ข้าวคลุกพริกเกลือ” เมนูนี้คนทางตราด จันทบุรี เคยทำให้กินมาก่อน แต่รสชาติที่ได้ลองในวันนี้ถือว่าเข้มข้นถูกใจมาก

คำว่า “พริกเกลือ” ของทางตะวันออก ก็คือ “น้ำจิ้มซีฟู้ด”  แต่ละสูตรก็แตกต่างกันไป ตำพริกพอหยาบ ๆ กระเทียม รากผักชี เติมเปรี้ยวด้วยมะนาว อาจจะใช้เกลือหรือน้ำปลาแทนความเค็ม แต่งหวานด้วยน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลมะพร้าว คลุกกับข้าว กินกับกุ้งหรือหมึกลวก

สูตรไหนที่มีความเผ็ดก็จะมีเมนูตัด อย่าง “หมูชะมวง” ที่เสิร์ฟมาพร้อมกันในวันนี้ เป็นเมนูที่หลายคนรู้จักกันดี เพราะร้านอาหารทางภาคตะวันออกมีเสิร์ฟกันอย่างแพร่หลาย

ปลาพล่าน้ำพริกถั่ว เมนูสุขภาพแบบยั่ว ๆ

อีกเมนูในงาน ที่เคยกินฝีมือชาวบ้านมานานแล้ว คือ “ปลาพล่าน้ำพริกถั่ว” เมนูสายสุขภาพที่ต้องอาศัยความสดของปลาเป็นที่ตั้ง ผสมผสานกับผักนานาชนิด เป็นเมนูเรียกน้ำย่อยแบบยั่วน้ำลายได้ดีทีเดียว

ปลาพล่าของทางตราด จันทบุรี หรือระยอง นิยมใช้เนื้อปลาน้ำดอกไม้ หรือ ปลาสาก แล่เนื้อสด ๆ บีบมะนาวลงไป คลุกให้ทั่วพอให้กึ่งดิบกึ่งสุก  บีบน้ำมะนาวออก นำเนื้อปลาไปผสมกับตะไคร้ หอมแดง ผักชีฝรั่ง และกะหล่ำปลีซอย โรยด้วยสะระแหน่

กินกับน้ำจิ้มที่คล้าย ๆ น้ำจิ้มซีฟู้ด แต่เติมถั่วตัดโขลกหยาบ ๆ ลงไป รสชาติจะเปรี้ยวนำตามด้วยหวานและเผ็ดเล็กน้อย

จะกินแกล้ม หรือจริงจังก็ดีต่อสุขภาพ

ปูไข่ตะกายดาว หนุ่ม ๆ สาว ๆ อาจตะกายฝา

มาว้าว ๆ ๆ กันต่อที่เมนูชาวเลตราด หากไปเที่ยวบ้านท่าระแนะ อ.เมือง จ.ตราด แล้วมีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารชุมชน ก็จะพบกับความเด็ดดวงของ “ปูไข่ตะกายดาว”

กินปูไข่จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดมันธรรมดาไป  ชาวบ้านท่าระแนะ จึงนำปูทะเลที่มีไข่ภายในกระดองขนาดกลาง ๆ ซึ่งจะมีเปลือกบาง  มาล้างทำความสะอาด แกะกระดองออก แยกไข่ปูออกไป แล้วสับเนื้อปูที่เหลือทั้งตัวให้ละเอียด ตำน้ำพริกเกลือ (น้ำจิ้มซีฟู้ด) นำไปผสมกับเนื้อปูที่สับละเอียดแล้ว ตามด้วยไข่ปูที่สับเพียงหยาบ ๆ  ใครอยากเพิ่มความเผ็ดเปรี้ยวก็เติมน้ำจิ้มได้อีก

อยากกินก็ต้องไปบ้านท่าระแนะ ถ้าให้ดีก็ต้องติดต่อล่วงหน้า เมนูนี้ยังไม่รู้ที่มาของชื่ออย่างแน่ชัด รู้เพียงว่า ใครลิ้มลองเมนูปูไข่ตะกายดาว กลับบ้านไปแล้วอาจจะตะกายข้างฝา

เพราะชาวบ้านที่นี่บอกว่า บำรุงวังชาดีนัก

 ใบโกงกางทอด เมนูจากผืนป่าชายเลน

ต่อกันที่หมู่บ้านท่าระแนะ อีกเมนูทานเล่นอย่าง “ใบโกงกางทอด” จากการเล่าสู่กันฟังของชาวบ้านแถบนั้นบอกว่า สมัยก่อนตอนออกเรือไปหาปลา แค่พกแต่ข้าวสวยกับน้ำพริกไป แล้วไปเด็ดใบโกงกางเอาข้างหน้า นำมาจิ้มน้ำพริก เป็นที่รู้กันของชาวบ้านว่าไม่ต้องไปหาผักสดที่ไหน

วิธีทำใบโกงกางทอดจะใช้โกงกางใบเล็ก ที่มีความเรียวยาว  ต้องเลือกมาเฉพาะใบอ่อน ๆ ประมาณใบที่ 2 จากยอด  มาล้างน้ำความสะอาด แล้วชุบแป้ง ซึ่งมีส่วนผสมจาก แป้ง ไข่ ใบมะกรูด และเกลืออีกเพียงเล็กน้อย เพราะใบไม้ชายเลนจะมีรสเค็มอยู่ในตัวแล้ว นอกจากใบโกงกางแล้ว เกสรของดอกลำพูก็นำมาชุบแป้งทอดได้เช่นกัน

ใบโกงกางมีสรรพคุณเรื่องช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้วิงเวียน อาเจียน ได้ด้วย  หลังจากกินใบโกงกางทอดแล้ว ก็จิบชา “หัว 100 รู” ซึ่งอยู่ในป่าโกงเช่นกัน สรรพคุณช่วยลดไขมัน ลดน้ำตาล และมีสารต้านมะเร็ง แก้ปวดเมื่อย ฯลฯ

เป็นที่มาของประโยคที่ว่า “จิบชา 100 รู จะอยู่ 100 ปี”

แกงคั่วหอยถ่าน เมนูบ้าน ๆ ชายทะเล

หากไปเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ชุมชนชายทะเลที่มีความน่ารัก มีที่พักกระจายตัวอยู่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ “สุวรรณลักษณ์” รีสอร์ท” ที่พักกึ่งโฮมสเตย์ริมทะเล เป็นศูนย์เรียนรู้และการทำกิจกรรมแนวอนุรักษ์ เช่น การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ การแปรรูปขยะเป็นของใช้ การทำจานจากใบไม้ เป็นต้น ภายใต้การรวมตัวของ “วิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง”

“แกงคั่วหอยถ่าน” เป็นเมนูพื้นบ้านจากวัตถุดิบทางธรรมชาติที่หากได้จากป่าโกงกางในแถบนี้ นิยมมาแกงคั่วโดยใส่หอยที่ตัดตูดแล้วไปทั้งตัว  หอยถ่านมีลักษณะสีดำสนิทเหมือนถ่าน เนื้อด้านในจะเหนียวหนุบ

ห่อหมกปลาน้ำดอกไม้

อยากกินอาจจะต้องติดต่อล่วงหน้า ชุดอาหารเย็นที่รีสอร์ต มักจะมีเมนูนี้นำเสนอด้วยเสมอ พร้อมกับอาหารถิ่นตราด เช่น ปลาพล่าน้ำพริกถั่ว ห่อหมกปลาน้ำดอกไม้ และอาหารซีฟู้ด ฯลฯ

ลุยสวนลงเล มีใครพากันเฮมากกว่านี้ไหม

ที่ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง ยังมีเมนูที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกเมนูหนึ่ง อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่ความตระการตาของพืชผักสมุนไพรพร้อมด้วยวัตถุดิบอีกหลายชนิด ทำให้อาหารจานนี้มีความน่าสนใจ เฮกันมาเหมือนจะถามว่า “ใครให้มากกว่านี้ไหม”

“ลุยสวนลงเล” เมนูอาหารเป็นยา ที่บ้านธรรมชาติล่าง นำผักสด ดอกไม้ สมุนไพร อาหารทะเล มานำเสนอในแบบยำ หรือลุยสวน ไล่เรียงตั้งแต่ สับปะรด กระเจี้ยบแดง ตะลิงปลิง ตะไคร้ ดอกโสน กระชาย ใบขลู่ ใบหูเสือ ดอกดาหลา ข่า ถั่วฝักยาว ฯลฯ นำมาหั่น ซอย บาง ๆ เล็ก ๆ กินกับน้ำจิ้มถั่วที่มีส่วนผสมของ พริกไทย ดีปลี พริกขี้หนู มะพร้าวคั่ว งาดำ งาขาว ฯลฯ แนมด้วยเส้นหมี่ลวก กุ้งลวก ฯลฯ

วิธีการก็กินทำได้ 2 แบบ จะตักใส่จานและราดน้ำจิ้มแบบยำหรือพล่า หรือใช้ใบชะพลูห่อแบบเมี่ยง กัดเข้าไปได้ฟีลเหมือนเดินในอุทยานที่เต็มไปด้วยสีสัน ความหลากหลายของสัมผัส กลิ่น รส ทำให้เมนูนี้เป็นอีกหน้าตาของตราดที่บอกได้เลยว่า

สีสันคัลเลอร์ฟูลมาก ๆ แถมยังอร่อยได้สุขภาพ

น้ำกระเจี้ยบพุทรา ที่บ้านธรรมชาติล่างก็อร่อย สดชื่นมาก

อาหารถิ่นตราด ยังมีให้เลือกชิมอีกมากมายนัก นับเป็นกิจกรรมหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวที่พร้อมเผยรสชาติที่แอบซ่อนไว้ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ น้ำลายสอทุกที กลับจากตราดรอบนี้ ก็วางแผนไปถึงรอบหน้า

เพราะเที่ยวตราดมันได้รสชาติ “ต๊าซ” สมชื่อจริง ๆ

 

อิ่มแล้วไป DIY ตามใจสั่งมา ที่บ้านธรรมชาติล่างกันต่อ คลิกเลย>>DIY ใจสั่งมา ผ้ามัดย้อม 3 ป่า จากภูผาสู่มหานที

เที่ยวต่อในเมืองตราด มูเดินสาย เที่ยวในตัวเมืองตราด

Post a comment

7 − one =