Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

1000ด้ง-อินดี้ ต่อยอด Gastronomy วิถีลับแล

เรื่องเล่าขานตำนานแม่ม่ายเมืองลับแล ประกอบกับพื้นที่ตั้งในป่าดงดิบแสนไกล มีเทือกเขาล้อมรอบ ว่ากันว่าสมัยก่อนใครผ่านเข้ามาก็หลงทางกันเป็นว่าเล่น

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า อาชีพหลักของชาวลับแล ก็คือเกษตรกรรม โดยเฉพาะสวนผลไม้ ใครมาเห็นก็ประหลาดใจ จากการทำสวนผลไม้ที่ปลูกไล่ขึ้นไปตามแนวเขาอันสูงชัน จะปลูกว่ายากแล้ว ถึงขนาดต้องใช้หนังสติ๊กยิงยิงเม็ดทุเรียนขึ้นไปเขา รอฝนรอฟ้าใช้เวลา 6 ปี ก็ได้ผล

ถึงเวลาเก็บก็ยิ่งยากกว่า เพราะทุเรียนเป็นผลไม้มีหนาม ลูกสองลูกก็ยังพอทน แต่ถ้าต้องขนกันทั้งสวน ฟังดูแล้วน่าลำบาก ต้องอาศัยการโยงสลิง ชักรอกข้ามเขากันวุ่นวาย แต่กลายเป็นปกติวิถีของคนที่นี่ ถ้าจะหาคนขับมอเตอร์ไซด์วิบากเก่งๆ ก็น่าจะลองมาดูที่ลับแล เพราะชาวสวนที่ควบสองล้อขึ้นลงภูเขากันเป็นประจำ คันหนึ่งต้องบรรทุกทุเรียนเป็นร้อยกิโลเลยทีเดียว

ทุเรียน “หลงลับแล” และ “หลินลับแล” เป็นทุเรียนสายพันธุ์เฉพาะของที่นี่ ขนาดลูกไม่ใหญ่ รสชาติหวานเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้า GI (Geographical Indications) หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อปี 2562  ใครอยากลิ้มลองก็ต้องไปที่ลับแล ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. เท่านั้น

บ้านบนดอย เป็นอีกจุดท่องเที่ยวชมสวนทุเรียน ชิมทุเรียน และไอศกรีมทุเรียน พร้อมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน

เรื่องราวของเมืองลับแลเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ แถมยังอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ขับรถประมาณ 10 นาทีเท่านั้น เมื่อไปถึงแล้วจะเห็นซุ้มประตูเมืองขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน ใกล้กับซุ้มประตูทางเข้าเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล” ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวลับแลในอดีต อาทิ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย อาหารการกิน ภาษาและการแต่งกาย ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล

หนึ่งในสิ่งที่เราจะเห็นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ อาหารของชาวลับแล “ข้าวแคบ” “หมี่พัน” และ “ข้าวพันผัก” ซึ่งอยู่ในวิถีการกินของชาวลับแลมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นของที่ทำกินได้ง่ายๆ อย่างข้าวแคบ มีลักษณะเหมือนข้าวเกรียบ วิธีการคล้ายแป้งขนมปากหม้อ เพราะจะใช้หม้อดิน ขึงผ้าบางๆ ปากบนหม้อที่ตั้งไฟ  เทน้ำแป้งที่ปรุงรสเค็มเล็กน้อยลงไป ละเลงเป็นแผ่นบางๆ ปิดฝา ซึ่งเดิมทีเป็นฝาที่สานจากไม้ไผ่ เมื่อแป้งสุก ก็ใช้ไม้ปาดขึ้นมา แผ่ตากบนตับหญ้าคา เมื่อแห้งก็เก็บไว้กินได้นาน จะกินแบบแห้งๆ ทันทีก็ได้ หรือจะนำไปปิ้งเพิ่มความกรอบอีกรอบหนึ่ง ในช่วงหลังนิยมโรยงาลงไปด้วย

ข้าวแคบที่ตากไว้ พบเจอได้ในเมืองลับแล

หากนำ “ข้าวแคบ” มาใส่ไส้ ก็จะเรียก “หมี่พัน” เดิมทีใส่แค่เส้นหมี่ลวกปรุงรสหรือห่อข้าวเหนียว เป็นอาหารให้พลังงาน พกพาเป็นเสบียงไปทำสวนทำไร่ ปัจจุบัน นำเส้นหมี่มาปรุงรสกับผักและเนื้อสัตว์ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ

หมี่พัน (ข้าวแคบม้วนไส้เส้นหมี่ปรุงรส) ร้านข้าวพันผักอินดี้

ข้าวพันรสพริก ร้าน 1000ด้ง

แต่ถ้าตัดตอนตรงแผ่นข้าวแคบร้อนๆ ตั้งแต่แป้งแผ่นบางนุ่มๆ บนปากหม้อ แล้วปรุงรสใส่ผัก หรือเนื้อสัตว์ลงไป ปิดฝาสักพัก แล้วทำการตลบแผ่นแป้งกลบไส้ ก็จะกลายเป็น “ข้าวพันผัก” ในทันที ซึ่งเมนูนี้ กินง่ายกว่าทั้งสองแบบแรก เพราะมีความหอมนุ่ม กินตอนร้อนๆ จิ้มน้ำจิ้มหรือซอสตามแบบฉบับของแต่ละเจ้า ก็อร่อยจนหลายคนติดใจ นอกจากนี้ยังมี “ข้าวพัน” หรือ “ข้าวพันม้วน” ซึ่งมาจากตัวน้ำแป้งตัวเดิมที่นำมาปรุงรส เมื่อสุกได้ที่บนปากหม้อแล้ว ก็ใช้ไม้ไผ่แบนๆ มาแปะที่ตัวแป้งแล้วม้วนๆ พันๆ แล้วรูดออกจากไม้

“ข้าวพันผัก” ฉบับลับแล ต้องไปกินที่ลับแลเท่านั้น เพราะนี่คือเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาที่แสดงวิถีของคนลับแลที่มีมาอย่างยาวนาน เดิมทีเมนูเหล่านี้ทำกินในครัวเรือนหรือมีร้านเล็กๆ ในท้องถิ่นเท่านั้น แต่เมื่อเมืองลับแลเปิดตัวสู่คนทั่วไปมากขึ้น ก็มีร้านที่ขายข้าวพันผักเกิดขึ้นไปทั่ว

MeetThinks มีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองลับแลมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งก็ไม่พลาดชิมเมนูเอกของเมืองลับแล โดยในช่วงหลัง ราว 2-3 ปีมานี้ มีบรรดาคนรุ่นใหม่ ลูกหลานชาวลับแล เข้ามาปลุกวิถีการกินอันเป็นเอกลักษณ์ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

เริ่มต้นจากร้าน“ข้าวพันผัก Indy ที่ประยุกต์เมนูบ้านๆ ให้มีสไตล์ไม่เหมือนใคร สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน ตั้งแต่ตัวร้านที่ดัดแปลงมาจากใต้ถุนบ้านไม้ สืบสานสูตรข้าวพันผักของคุณแม่ (ร้านข้าวพันผักป้าตอ) เมื่อรุ่นลูกมาดูแล ความสนุกจึงบังเกิด นอกจากเมนูแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีเมนูแบบ “บ้านๆ ฟิวชั่น” มานำเสนอ อาทิ ข้าวพันผักเย็นตาโฟ ข้าวพันผักห่อไข่ ข้าวพันผักหมูแดง ข้าวพันผักเนื้อเปื่อย ฯลฯ

ลักษณะของร้านก็เป็นไปตามชื่อ แม้จะออกตัวว่าเป็นร้านบ้านๆ ธรรมดา ราคา 20-35 บาท  แต่ก็มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร ลูกค้าสามารถทำตัวสบายๆ เหมือนมาบ้านเพื่อน  มาถึงก็ต้องจดรายการอาหารบริการน้ำแข็งด้วยตัวเอง นำรายการไปส่งให้เคาน์เตอร์แล้วนั่งรออีกไม่นานก็จะได้ลิ้มลองความอร่อยเอกลักษณ์ใหม่ แบบที่ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน

แป้ง-ศิรินภา กุลพรม

อีกร้านที่กล่าวได้ว่า บ้านๆ ตัวจริง แต่ก็ไม่ธรรมดา เมื่อรุ่นลูกมาสานต่อ ก็สนุกสนานยิ่งขึ้น “แป้ง-ศิรินภา กุลพรม” เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ ก็ได้กินข้าวพันผัก และผูกพันกับอาหารถิ่นเมืองลับแลมาโดยตลอด ปัจจุบันเมื่อเรียนจบแล้วก็ยังมารับช่วงร้านข้าวพันผักต่อไป และใช้ชื่อว่า “1000ด้ง” จากเอกลักษณ์ของกระด้งน้อยที่ใช้เป็นภาชนะ เพิ่มสีสันให้กับการกินมากขึ้น

แม้ตัวร้านจะเป็นเพิงเล็กๆ ริมถนนหน้าบ้าน แต่ก็ได้บรรยากาศเหมือนวันวาน เติมไอเดียของแต่ละเมนูด้วยกระด้งน้อยที่สั่งทำมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทำให้ออกมาหน้าตาดียิ่งขึ้น เมนูของ “1000ด้ง” ก็มีหลากหลาย ทั้งข้าวพันผักแบบดั้งเดิม ข้าวพันผักใส่ไข่ ข้าวพันผักห่อหมี่เหลือง ห่อวุ้นเส้น ห่อมาม่า ข้าวพันม้วน ข้าวพันพริก พิซซ่าข้าวพันผัก ฯลฯ สารพัดเมนูมีให้เลือกชิมในราคาบ้านๆ จริงแท้ ตั้งแต่ 15-25 บาท

ความอร่อยของข้าวพันผัก ก็อยู่ที่สูตรของน้ำจิ้มหรือเครื่องปรุงของแต่ละร้าน นอกจากนั้นก็เป็นวัตถุดิบที่เพิ่มเติมเข้าไป แต่การพลิกแพลงต่อยอดเมนูที่หลากหลาย ก็ทำให้ทั้งสองร้านนี้ได้ใจคนรุ่นใหม่และแขกผู้มาเยือนเมืองไกลแห่งนี้

ถือเป็นอีกกลยุทธ์เรียกลูกค้า เพราะหากเป็นร้านทั่วไป เราอาจจะสั่งแค่ข้าวพันผัก 1 จานก็พอสำหรับปริมาณการกินเป็นอาหารว่าง แต่ถ้ามาสองร้านนี้ รับรองว่าหยุดใจไม่ไหว อดไม่ได้ ที่จะต้องสั่งๆๆๆ และสั่ง มาลองลิ้ม

กล่าวได้ว่าเป็น นี่คือการสืบสานวิถีการกินอันแข็งแกร่ง แบบ Gastronomy แท้ๆ เพราะปัจจุบัน จะกินข้าวพันผักที่ไหนก็ไม่เหมือนมากินที่ลับแล

เพราะที่นี่คือ “เมืองที่ห้ามพูดโกหก” ตามตำนานของเมืองแม่ม่าย หากไปกินที่อื่น ก็ไม่ใช่ข้าวพันผักเมืองลับแลแน่ๆ

 

ร้านข้าวพันผัก Indy ถ.ราษฎร์อุทิศ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

Facebook/ข้าวพันผัก Indy

โทร.080-447345

ร้าน 1000ด้ง ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

Facebook/1000ด้ง

 

Post a comment

eight − 7 =