ดูปูนาสารคาม แล้วตามไปเที่ยวงานสังคมสุขใจ ปี 9
เดือนมกราคม หลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะออกหาปูนาเพื่อนำมาปิ้ง เพราะในช่วงนี้ปูจะมีมันเต็มท้อง นำมาปิ้งย่างบนเตาถ่าน โรยเกลือนิดหน่อย พอให้กรอบเกรียวเคี้ยวได้ทั้งตัว จิ้มข้าวเหนียวกับมันปูตัวน้อย ๆ แกล้มส้มตำสักนิดสักหน่อย ก็เพลินมากแล้วสำหรับฤดูกาลนี้
“เพราะถ้ารอไปจนถึงหน้าฝน เป็นช่วงที่ปูตั้งท้องก็จะไม่มีมันปูอีกแล้ว” ตัวแทนจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์หนองคู-ศรีวิไล จ.มหาสารคาม ทำหน้าที่ปิ้งไป เล่าเรื่องไป
คนเมืองยืนมุง มุ่งความสนใจไปที่เจ้าปูตัวน้อยที่เรียงกันอยู่เป็นตับ ขณะที่ชาวบ้านเคี้ยวเพลินหนุบหนับ ชวนให้ทุกคนลิ้มลอง ติดใจก็อุดหนุนกันได้ในราคาไม้ละ 30 บาท
เป็นอีกสีสัน “งานสังคมสุขใจ” ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 9 แล้ว และในปีนี้ก็ยังคงสืบสานความสุขใจได้มากขึ้น เพราะนอกจากเรื่องของสุขภาพแล้ว เป้าหมายใหญ่ของสังคมสุขใจ และวิถีเกษตรอินทรีย์ คือการเคลื่อนไหวเพื่อโลกที่ดีขึ้น ภายใต้วิกฤตที่รบเร้าให้เราทุกคนต้องร่วมลงมือทำอะไรสักอย่าง
นอกจากปูนาที่ชาวบ้านช่วยกันขุดหามาเสิร์ฟถึงที่แล้ว ยังมีของดี วิถีเด็ด จากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศมาโชว์พลัง ทั้งของกิน ของใช้ ที่มีความน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นทุกปี
งานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 มกราคม 2567 ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม โดยพิธีเปิดงานในวันที่ 26 มกราคม ได้รับเกียรติจาก หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานในพิธี โดยมี สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และตัวแทนจากเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “Carbon Neutrality” ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero Emissions” ภายในปี 2065 ภาคการเกษตรในภาพรวมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากแต่การทำเกษตรอย่างเข้าใจด้วยระบบอินทรีย์จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งยังมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสำคัญดังกล่าว
สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่เกษตรกรรมถึงกว่า 6.5 แสนไร่หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของจังหวัดนครปฐมที่มีการนำมาเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัด โดยตั้งเป้าหมายให้จังหวัดนครปฐมเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัย หรือ Food Safety Hub ด้วยการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรและอาหารปลอดภัยที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะประธานจัดงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9 กล่าวว่า วิกฤตโลกร้อนรุนแรงขึ้นจนกลายเป็น “โลกเดือด” แล้วในวันนี้ UN เตือนให้มนุษยชาติเร่งลงมือร่วมกันแก้ปัญหา ขณะที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 13 ของโลก คนไทยจึงต้องช่วยกันลงมืออย่างเร่งด่วน
“งานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9” นอกจากจะเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายสามพรานโมเดลและเครือข่ายอื่นๆ ทั่วประเทศกว่า 200 ราย ซึ่งเป็นการรวมพลังคนในห่วงโซ่สังคมอินทรีย์ครั้งสำคัญ มาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ต่างๆ เช่น เทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป การลดต้นทุน การจัดการขยะอาหาร การลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกได้ โดยทุกคนมีส่วนร่วมลงมือทำ
สำหรับกิจกรรมภายในงานแบ่งเป็น 4 โชน ได้แก่
โซน A ประกอบด้วย เวทีจับคู่ธุรกิจ Business Matching และศึกษาการจัดการขยะอาหาร เวทีกิจกรรมเสวนา พูดคุยงานวิชาการ กิจกรรม Workshop และแนะนำโซลูชั่นช่วยการทำเกษตรด้วยเครื่องจักร ฯลฯ
โซน B ประกอบด้วย เวทีกลาง นำเสนอกิจกรรมชวนคุย เช่น โครงการร้านปันกัน กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมกับชุมชน กิจกรรม workshop ทำดอกไม้ โคมไฟ จากพลาสติก มีการจำหน่ายงาน Art & Craft และกิจกรรมเรียนรู้การจัดการขยะอาหาร ขยะพลาสติก ฯลฯ
โซน C ประกอบด้วย บูธ ททท. นำเสนอ การท่องเที่ยว Amazing Organic เที่ยวตามข้าว เที่ยวชุมชนแม่ทา จ.เชียงใหม่ และบ้านบางโรง จ.ภูเก็ต เครือข่าย Central Tham ฯลฯ
โซน D ประกอบด้วย กิจกรรมเด็ก KID zone สนุกกับกิจกรรม ย้อมผ้าจากเปลือกไม้ ทำยาดมสมุนไพร ทำน้ำมันอโรม่า เรียนรู้วิถีชาวนาไทย ฯลฯ
งานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9 จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 – อาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2567 ณ สวนสามพราน จ.นครปฐม เข้างานฟรี เปิดให้ช้อป ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ผู้สนใจสามารถสอบถามโปรแกรมงาน และข้อมูลการเดินทางได้ที่ โทร. 034 322 588-93 หรือดูรายละเอียดที่ Facebook : งานสังคมสุขใจ สวนสามพราน