Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

หนังดีมีหน้าตายังไง ใยหนังไทยถึงไม่มีหน้ามีตา ฟัง “ปรัชญา ปิ่นแก้ว”

ขบคิดกันยิ่งกว่าปัญหาระดับชาติ สำหรับวงการหนังไทยที่ดูจะเอื่อยเฉื่อยเหมือนคนเดินเรื่อยเปื่อย นานๆ จะกระโดดโลดเต้นมีชีวิตขึ้นมาสักที ทั้งๆ ที่วันนี้ มีคนรักหนังมากขึ้น พอๆ กับคนที่อยากทำหนัง เพิ่มขึ้นอีกมาก

ในโลกของไอที มีคำว่า IOT :  Internet of Things   ที่หมายถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ในวงการหนังก็น่าจะมีคำว่า EIM : Everything is Movies  บ้าง (ซึ่งยังไม่มี) เพราะทุกวันนี้ทุกคนคือคนทำหนัง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ภาษาใหม่ในชีวิตไม่รักก็เรียนไปแล้ว

คนในอาชีพอื่นก็เรียนภาพยนตร์โดยไม่รู้ตัว เวลาเจอเหตุการณ์อะไรก็ถ่ายคลิปไว้ ส่งให้เพื่อนดู พอเพื่อนบอกยาวไป เขาก็เริ่มตัดต่อ เพื่อนบอกดีแล้ว แต่น่าจะใส่ดนตรีประกอบไหม ก็มีแอพง่ายๆ ให้ใช้เต็มไปหมด  ทุกคนกำลังเรียนภาพยนตร์ ขนาดคนที่ไม่รักหนังยังทำ เกิดภาษาใหม่ในชีวิตประจำวัน คือภาษาภาพยนตร์

หนังจึงเป็นภาษาใหม่ที่ทุกคนต้องเรียน คนที่ไม่คิดจะทำหนัง สุดท้ายก็ต้องเอางานหนังหรืองานเล่าเรื่องด้วยวิดีโอและภาพ ไปใช้ประโยชน์ในอาชีพของตัวเอง เมื่อก่อนวงการทำหนังไม่เจอแม้เด็กมัธยม แต่ตอนนี้เด็กประถมก็ทำแล้ว ผมคิดว่าเด็กยุคนี้ จะเก่งกว่าเด็กยุคผม ซึ่งสมัยก่อนตอนมัธยมยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย

สงคราม 3 จอ งานนี้บู๊แน่นอน

วงการหนังมันเปลี่ยนแปลงทั้งโลก เพราะว่ามันเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยุคโซเชียล ทำให้มีโอกาสในการดูหนังง่ายขึ้น คนดูหนังโรงลดลง ต้องเป็นหนังที่สนใจจริงๆ ถึงจะไปดู โลกแห่งการเล่าเรื่องมีอยู่ 3 จอ คือจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ซึ่งต้องจ่าย ต้องไปตามเวลา จอทีวี มีทั้งจ่ายและไม่จ่าย แต่ก็ต้องดูตามเวลา ส่วนจอกลาง อย่างโทรศัพท์มือถือ ถ้าไม่นับค่าโทรศัพท์ค่าอินเตอร์เน็ต มันคือฟรี ดูเมื่อไหร่ก็ได้

ในฐานะผู้ผลิต คุณอยู่จอไหน หลายคนบอกว่าเลือกอยู่จอเล็กแล้วสบาย แต่ก็มีคนเล่าเรื่องเต็มไปหมดเหมือนกัน ดังนั้นจอไหนก็ยาก ถ้าทำหนังแล้วอยากให้คนดูเยอะๆ

คุณคือนักเล่าเรื่องหรือนักลากเรื่อง

โลกภาพยนตร์คือโลกของมายา ซึ่งคนทำหนังต้องเท่าทัน ตรรกกะและเหตุผลต้องแน่น หนังไทยเรามีปัญหาเรื่องบทภาพยนตร์อยู่แล้ว พอมาเจอความเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้หนังไทยยิ่งเดินได้ลำบาก รายได้หนังไทยที่เคยทำได้อย่างน้อยก็หลักล้าน ตอนนี้หลักพันไม่ถึงหลักหมื่นก็มีแล้ว ฉะนั้นตรงนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า คนทำหนังยุคใหม่ต้องตระหนักว่าทำยังไงให้อยู่ได้ ผมเชื่อว่าอยู่ได้ เพราะยังไงคนก็ดูหนัง แต่ทำยังไงให้ดี ที่สำคัญคือ คนที่ชอบดูหนังทุกคน เขาอยากดูความแปลกใหม่   ไม่ใช่สิ่งที่เคยเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คนดูอยากดูหนังทุกแนว เรื่องอะไรก็ได้ ขอให้มีความน่าสนใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์คนดูด้วย  ถ้าประสบการณ์คนดูสูง หนังที่เขาสนใจดูต้องไปไกลกว่าเขาเยอะ เพราะนั้นผมจะแนะนำเด็กทำหนังรุ่นใหม่ว่าจะต้องใส่ประสบการณ์ใหม่ให้คนดู ต้องใหม่กว่า และเหนือกว่า  Content is King แต่  Story Telling is Queen นอกจากเนื้อหาที่ดีแล้ว การเล่าเรื่องที่ดีก็สำคัญมาก

“บท” ปัญหาคู่บ้านคู่เมือง ที่ไม่ควรรักษาไว้

เรื่องของบทภาพยนตร์ มันเป็นปัญหาคู่บ้านคู่เมือง  เราไม่ค่อยมีชั้นเชิง คนเก่งมีน้อยมาก อาจจะเป็นธรรมชาติของเรามั๊ง เรื่องฝีมือเราไม่แพ้ โปรดักชั่นไม่แพ้ เรื่องเทคนิคไม่แพ้ รวมถึงซีจี แอนิเมชันเราทันหมดแล้ว แต่ทางความคิดเรายังไม่เก่งพอ  คนเก่งมีนะ แต่ยังน้อยไป ถามว่าสอนกันได้ไหม เรื่องแบบนี้มันสอนกันได้ แต่เหนื่อยเหมือนกันกว่าจะดันได้สักคน สมมุติว่าสอนสักร้อยคน ได้สักคนยังยาก เด็กในปัจจุบันมีช่องทางเปิดประสบการณ์  แต่ของของพวกนี้มันต้องฝึก ฝึกคิด ฝึกดู โชคดีที่คนรุ่นใหม่ได้ฝึกตั้งแต่เด็ก แต่รุ่นก่อนหน้านี้ โอโห้! จบมหาลัยแล้วถึงจะได้เริ่ม

แต่เชื่อว่าทิศทางมันก็น่าจะดีขึ้นนะ เพราะตอนนี้เราเห็นมิติของคนที่อยากทำหนังกันมากจริงๆ กลายเป็นทุกพื้นที่มีคนอยากทำหนัง เกิดค่านิยมใหม่ว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องมีกล้อง พอขึ้นมัธยมพ่อแม่ต้องเตรียมเงินซื้อกล้อง DRLR ให้แล้ว  แล้วเด็กก็คิดว่านั่นคือเครื่องมือในการเล่าเรื่องของเขา ที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้โดยอาศัยหลักของการเล่าเรื่อง อย่างการพรีเซนต์งาน ทำรายงาน ถ้าเล่าเรื่องดีๆ มันก็ได้ผลดี

ลบทัศนคติเก่าแล้วสร้างกันใหม่

วงการหนังไทยต้องพัฒนาเรื่องบท ว่ากันเรื่องไอเดียกันอย่างเดียวเลย แล้วทำให้หนังเราดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องทุกปี ทำให้ภาพรวมของประเทศเราดูดีขึ้น เกิดการยอมรับกันมากขึ้น ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะเขาไม่ค่อยเห็นผลงานทางความคิดของเรา ประเทศเราในสายตาของอเมริกาหรือยุโรป  เขาชอบมาเที่ยว มาดู มากินอาหารไทย ตรงนั้นมันน่าสนใจ แต่ในแง่งานสร้างสรรค์ หนังไทยเราถ้าได้ฉายที่โน่น เขาก็ไม่ดูกันนะ  เขายังไม่ยอมรับ เหมือนกับเราที่ไม่ยอมรับผลงานจากบางประเทศ ถ้าเอาหนังของบางประเทศที่เราไม่ยอมรับเข้ามา เราก็ไม่ดู มันเป็นเรื่องของทัศนคติ

ถ้าเราทำหนังที่มองเห็นความคิดใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ออกไปเรื่อยๆ ตอนแรกเขาอาจจะมองว่า เฮ้ย!ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลง  ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อนเลย ดูดีขึ้นนะ ก็ทำย้ำไปเรื่อยๆ  ให้เขาเห็นว่าประเทศนี้น่าสนใจนะ

สินค้าดีคนใช้-หนังดีคนก็ดู

ตัวผู้บริโภคเป็นตัวบอกได้ว่า หนังดีหรือไม่  แต่เขาไม่ได้บอกว่าอยากดูอะไร คนทำหนังไม่ควรไปถามคนดู แต่เราควรจะรู้ว่าธรรมชาติคนดูว่า เขาชอบของดี ของใหม่ ของแปลก ที่ไม่เคยเห็น มันเป็นหลักการง่ายๆ อยู่แล้ว เพราะเราก็คนดูหนังคนหนึ่ง ถ้าหนังมันไม่น่าดูเลย เราก็ไม่อยากจะดู ถ้ามันเคยดูแล้ว ซ้ำๆ ซากๆ เราก็ไม่ชอบ แต่หนังบางเรื่องเราไม่เคยเจอการเล่าแบบนี้ เราไม่เคยเห็น คาดเดาไม่ได้ มันตรึงอารมณ์เราได้ เพราะเรารู้สึกว่ามันสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เรา

เพียงบางถ้อยคำจากผู้กำกับหนังแถวหน้าของเมืองไทยในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราได้เจอ ช่วยเสริมแนวคิดให้กับคนรักหนังว่าจะเดินไปในแนวทางไหน  สำหรับผลงานของ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ในปีนี้ จะมีหนังแนวกระสือออกมา หลายคนฟังแล้ว เฮ้ย! กระสืออีกแล้วเหรอ ยังนะยัง ยังต้องรอติดตาม เพราะเขาบอกว่า  จะเป็นการเล่าในมุมมองใหม่ที่เก็บไว้ในใจมานาน อยากทำมาหลายปีแล้ว เพิ่งเข้ามาเหมาะเจาะในปีนี้ กลางๆ ปีคงได้ชมกัน แต่ตอนนี้หนังยังไม่มีชื่อเรื่องนะ

ว่าแต่คุยกันมาก็พอสมควร ได้ยินคำว่าหนังดี  ซ้ำๆ หลายรอบ แล้วหนังดีมันหน้าตาอย่างไร

“หนังดีคือหนังที่ดูสนุก  จะสุข เศร้า หัวเราะ น้ำตาไหล ก็ให้หนังมันพาไป” ดังนั้นต้องแยกแยะให้ออกว่า หนังที่ให้สาระ (แล้วได้หนังรางวัลแห่งปี) อาจจะไม่ใช่หนังที่ดีก็ได้ หากดูแล้วไม่สนุก

เรื่องที่ยังเล่าไม่หมด

  • ทำหนังอย่างไรให้สนุก

“เพราะเราต้องสร้างความสนุกผ่านการสร้างหนัง ผมจึงสนใจเรื่องคนทำสวนสนุก อยากรู้ว่าคนสร้างเครื่องเล่นเขาออกแบบยังไงให้คนสนุก ก็ไปศึกษาคนสร้างรถไฟเหาะ พบว่า ช่วงแรกๆ มันก็เป็นรถไฟวิ่งตรงๆ เรียบๆ แต่คนมารอต่อคิวกันตั้งแต่เช้ามืด ได้เล่นแค่ 10 นาทีก็พอใจ ผ่านไปหลายปี มีคู่แข่งอยากเอาชนะ ก็สร้างรถไฟทางโค้งขึ้นมา คนรางตรงไม่ยอมแพ้ก็สร้างรางโค้งตีลังกาได้ขึ้นมา คู่แข่งก็นำไปพัฒนาเป็นรถไฟเหาะตีลังกาได้ 2 รอบ จนตอนนี้เราเห็นรถไฟเหาะที่ตีลังกากันไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ และถ้าจะกลับไปเล่นรถไฟรางเรียบก็ไม่สนุกแล้ว นั่นหมายถึงการสร้างประสบการณ์ใหม่ ซึ่งนำมาซึ่งความสนุก ซึ่งมันต้องแตกต่าง และมากกว่า”

  • ทำยังไงให้แตกต่างและมากกว่า

“คนอื่นเล่ายังไงไม่รู้ แต่เราจะเล่าในแบบของเรา”

“อย่าใช้ชุดความคิดแรกๆ ในการทำหนัง เช่น เมื่อนึกถึงความเหงา ภาพที่ลอยมาคือ ฝน ภูเขา ผู้หญิงกอดเข่า ฯลฯ เพราะใครๆ ก็คิดได้ แต่ให้ใช้ความคิดชุดที่ 85 ไปเลย  ต้องคิดเอง ถ้าคิดไม่ออกก็ Copy มา Develop ให้จำต้นฉบับไม่ได้ยิ่งดี

 

  • ปัจจัยที่ส่งผลต่อความรู้สึกสนุกต่อหนังของแต่ละคน

-ประสบการณ์ในชีวิต

-ความรู้

-ทัศนคติ

-รสนิยม

(ซึ่งเรื่องแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ให้เอาชนะคนที่อยู่แถวหน้า ทางลัดคือ การเลือกหนังที่นิยมที่ดีที่สุดในแนวต่างๆ มาสัก 5 เรื่อง แล้วทำให้น่าสนใจ ใหม่กว่าและเหนือกว่า 5 เรื่องนั้น)

 

ขอขอบคุณชมรมคนทำหนังเมืองตาก

MeetThinks ได้เข้าร่วมกิจกรรมของชมรมคนทำหนัง เมืองตาก ในงานเสวนา “รวมพลคนอยากทำหนัง” ครั้งที่ 1 โดยมี ผู้กำกับ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของชมรมฯ และได้ร่วมบรรยาย เพื่อสร้างแรงบัลดาลใจและแนะนำแนวทางการทำหนังที่มุ่งเน้นการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ รวมทั้งการตั้งต้นทางความคิด ให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นอีกขั้นของการยกระดับและพัฒนาบุคลากรในวงการหนังไทย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสถานที่ๆ น่าสนใจในพื้นที่ จากคนในพื้นที่เอง

Post a comment

18 − twelve =