Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ตามรอย 7 ที่เที่ยว “หนึ่งเดียวที่ลพบุรี”

มนต์ขลังทางประวัติศาสตร์ คือความงดงามทางวัฒนธรรมที่สะท้อนภาพอดีตอันทรงคุณค่า เรื่องราวแต่ครั้งโบราณของเมืองไทยหลายต่อหลายอย่าง ถือเป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่หาชมได้ยาก หากมีโอกาสจึงอยากให้ทุกคนได้เห็นด้วยตาสักครั้ง เช่นเดียวกับทริปนี้ ที่จังหวัดลพบุรี

 “หนึ่งเดียวที่ลพบุรี” อีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหอการค้าไทย มุ่งมั่นผสานความร่วมมืออย่างเต็มกำลัง ภายใต้โครงการ “ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์”เพื่อผลักดันให้รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เป็น Amazing Experience ที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และนำสู่ความยั่งยืน

1.มรดกทางวัฒนธรรม “ลุ่มน้ำป่าสัก”

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์เมืองละโว้  เริ่มต้นที่ “พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก” ตั้งอยู่ในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีการขุดพบหลักฐานสำคัญในด้านโบราณคดี  ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การดำรงชีวิต ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนในบริเวณนี้

ของว่างยามสาย เมี่ยงคำ และลูกหม่อนสด

รวมทั้งยังได้รวบรวมข้อมูลด้านการชลประทาน ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนป่าสัก ข้อมูลด้านภูมิศาสตร์  และทรัพยากรธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในอาคาร 2 ชั้น ออกแบบอย่างสวยงาม แบ่งหมวดหมู่สำหรับการเรียนรู้ที่เข้าใจง่าย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความน่าสนใจ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมอีกด้วย

สำรับไทยเบิ้ง

2.อยู่ดี กินดี วิถีไทยเบิ้ง

หากพบเห็นใครที่มีชื่อหรือนามสกุลลงท้ายด้วยคำว่า “สลุง” ให้สันนิษฐานได้ว่าเขาคือชาวไทยเบิ้ง เพราะที่นี่มีนามสกุลที่ลงท้ายคำว่า “สลุง” มากกว่า 60 ตระกูล

รำทวน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ชุมชนไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง อาศัยอยู่ในจังหวัดลพบุรีมามากกว่า 260 ปี ชุมชนแห่งนี้มีวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งด้านภาษาที่มีเสียงเหน่อและมีคำว่า “เบิ้ง” ลงท้ายอยู่เสมอ ชาวบ้านมีภูมิปัญญาการทอผ้าลวดลายเฉพาะ สังเกตได้จากผ้าขาวม้าและย่ามอันเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงนิยมสวมเสื้อกระโจม นุ่งผ้าโจงกระเบนสีพื้น ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม หากมีงานพิธีจะมีผ้าสไบและสะพายย่าม

วัตถุดิบ 5 อย่างในการทำ พริกจะเกลือ หรือพริกเกลือ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง เป็นจุดท่องเที่ยวและทำกิจกรรมพื้นบ้านกับชาวไทยเบิ้ง โดยในวันนี้ชาวบ้านต้อนรับด้วยการแสดงรำโทน นักท่องเที่ยวหลายท่านกระโดดร่วมรำวงอย่างสนุกสนาน จากนั้นได้เรียนรู้วิถีไทยเบิ้ง อาทิ การทำพริกตะเกลือ อาหารพื้นถิ่นที่กินเป็นของว่างจิ้มกับผลไม้ และดัดแปลงเป็นของคาวอย่างน้ำพริก โดยมีวัตถุดิบหลักคือ กระเทียม พริกคั่วบด เกลือ ใบมะกรูด และ ลูกกำจัด เอกลักษณ์ของอาหารไทยเบิ้ง

นอกจากนั้นยังได้ร่วมทำและชิม “ขนมเบื้อง” เป็นขนมเบื้องแบบไทยเบิ้ง และการทำพวงมะโหด ก่อนจะไปอิ่มอร่อยกับชุดอาหารถิ่นไทยเบิ้งในมื้อเที่ยง ที่จัดเต็มแบบจุก ๆ เรียงรายมาทั้งต้ม แกง ทอด น้ำพริกผัดต้ม และขาดไม่ได้กับ “เครื่องดำ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำพริกคั่วแห้ง ๆ ที่มีส่วนผสมของกำจัด นับเป็นความแปลกใหม่ในการได้ลิ้มชิมรสอาหารถิ่น แถมยังสร้างสรรค์การนำเสนอได้อย่างสวยงามน่าประทับใจ

(ติดต่อกิจกรรมและนัดหมายการเข้าชมล่วงหน้า)

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้ง

ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

โทร.084 978 6782

3.งดงามแต่กาลไกล พระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือที่ชาวลพบุรีนิยมเรียกว่า “วังนารายณ์” เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับล่าสัตว์ออกว่าราชการและต้อนรับแขกเมือง จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้บูรณะพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2399 และพระราชทานนามว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ เป็นศาลากลางจังหวัดลพบุรี ภายหลังได้จัดตั้งเป็นลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน และประกาศเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์” ในปี พ.ศ. 2504

ด้วยความงดงามงามและมนต์ขลังของพระราชวังสไตล์ไทยผสมตะวันตก ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ส่งผลให้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เหมาะแก่การเข้าชมเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก

ในวันนี้คณะนักท่องเที่ยวยังได้รับชมการแสดงนาฏศิลป์อันสวยงามจากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีลพบุรี ในชุด “ระบำลพบุรี” และ “ระบำลิง” ยิ่งเพิ่มความรื่นรมย์ภายใต้บรรยากาศอันงดงาม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ รับหน้าที่เป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตลอดทริปนี้

4.พระที่นั่งเย็น จุดกำเนิดวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่

“พระที่นั่งไกรสรสีหราช” หรือ พระที่นั่งเย็น หรือ ตำหนักทะเลชุบศร เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร ซึ่งในสมัยโบราณเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ

บันทึกของชาวฝรั่งเศสระบุว่า ทำเลที่ตั้งพระที่นั่งไกรสรสีหราชไว้ว่า “เป็นที่เหมาะสมสำหรับมองท้องฟ้าได้ทุกด้านและมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับการติดตั้งเครื่องมือ” โดยบุคคลที่กล่าวประโยคนี้คือหนึ่งใน คณะฑูตชุดแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีพร้อมบาทหลวงเจซูอิตกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี 2228

จากนั้นจึงมีรับสั่งให้สร้างพระที่นั่งไกรสรสีหราชขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ประทับพักร้อน และใช้สำรวจจันทรุปราคา หลักฐานทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ยังเป็นบอกให้รู้ว่าการศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ พระที่นั่งเย็นเมืองลพบุรี

5.เยือนบ้านฟอลคอน ย้อนยลสถาปัตยกรรมยุโรป

บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์ อยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นที่รองรับราชทูตที่มาเฝ้าฯสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองลพบุรี

คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้พำนัก ณ ที่แห่งนี้ ต่อมา คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) ซึ่งเป็นชาวกรีกได้เข้ามารับราชการได้รับความดีความชอบ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” และได้พระราชทานที่พักอาศัยทางทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต

โครงสร้างการออกแบบและแผนผังของบ้านแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ อาคารที่พักอาศัยของคณะทูต หอระฆังและโบสถ์คริสต์ และกลุ่มอาคารใหญ่ 2 ชั้น ปัจจุบันยังคงหลงเหลือหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปในแบบเรอเนซองส์ อันเป็นที่แพร่หลายในสมัยนั้น

6.งดงาม ทรงคุณค่า ประติมากรรมปูนปั้นวัดไลย์

“วัดไลย์”​ตั้งอยู่อยู่ริมน้ำบางขาม ในเขตตำบลเขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง  เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือประติมากรรมปูนปั้นเรื่องราวทศชาติชาดกหน้าวิหารเก้าห้อง  ถือเป็นสมบัติล้ำค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ ภายในวัดไลย์ยังมีวิหารที่ประดิษฐานของรูปหล่อพระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

ภายในวัดยังมีมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองลพบุรีให้ชมอีกมากมาย เช่น พระวิหารเก่าฐานบัวคว่ำ วิหารรูปมณฑปยอดปรางค์ และพิพิธภัณฑ์ประจำวัด ซึ่งมีของเก่ามากมายให้ได้ชม เช่น พระพุทธรูป เครื่องหมาย เครื่องลายคราม เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยโบราณ เป็นต้น

7.ขนมเต่า ภูมิปัญญาแห่งสิริมงคล

ปิดท้ายทริปนี้ด้วยขนมโบราณอย่าง “ขนมเต่า” และ “ขนมต้มญวน” ขนมโบราณที่สืบทอดภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะขนมเต่าซึ่งมีชื่อน่ารักสะดุดหูรูปลักษณ์สะดุดตา เป็นของดีจาก ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี นิยมทำในงานมงคลต่าง ๆ เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน จึงเชื่อว่าใครได้กินขนมเต่าถือเป็นมงคลแห่งชีวิต

ขนมเต่าที่มีรุปร่างคล้ายเต่า ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเหนียว น้ำกะทิ และน้ำตาลปี๊บ ส่วนไส้ทำจากถั่วซีกแช่น้ำให้นุ่มแล้วนำไปนึ่งให้สุก มานำมาผัดกับกะทิ วิธีการทำก็น่ารัก โดยจะใช้แป้งที่เหนียวได้ที่ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เล็ก ๆ ขนาดลูกปิงปอง จากนั้นก็นำใส่พิมพ์ที่ทำจากไม้ ใส่ไส้ลงไป แล้วปิดตัวจนรอบ จากนั้นก็นำไปนึ่งจนสุก ขนมเต่าจะมีความเหนียวนุ่ม หอมน้ำตาลและกะทิ รสชาติไม่หวานมาก รับประทานได้เพลิน ๆ ถูกอกถูกใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ขอขอบคุณผู้จัดและร่วมกิจกรรมทุกท่าน ถือเป็นทริปที่อบอุ่นและน่าประทับใจ ทำให้เห็นถึงความงดงามหลากหลายแง่มุมของเมืองไทย อยากให้ทุกท่านได้ร่วมออกเดินทางไปสัมผัสความสุขจากแหล่งท่องเที่ยวไทย เช่นเดียวกับ “หนึ่งเดียวที่ลพบุรี” ในครั้งนี้

Post a comment

one × three =