Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

รู้จัก “แตต้าง” ภูมิปัญญาเด็ด “โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย”

บนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความสะดวก สบาย ปลอดภัย ประเทศไทยเรายังมีสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “นวัตกรรมตลอดกาล” จากพื้นฐานของภูมิปัญญาคนของในแต่ละพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการดำรงชีวิตจากการเรียนรู้ของคนที่อยู่ในพื้นที่จริง

“แตต้าง” เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนา ที่ใช้ผันน้ำจากแหล่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม หนึ่งในแนวทางการดำเนินงานในโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน บรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ พัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน เสริมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยได้เริ่มเดินหน้าโครงการแรกสำหรับการบริหารจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม พร้อมจับมือ อพ. และ สสน. ร่วมด้วยเครือข่ายชุมชนบ้านแม่ขมิง จ. แพร่ และจิตอาสาภายในกลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดแพร่

สราวุฒิ อยู่วิทยา

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นองค์กรของคนไทยที่เป็นเจ้าของเครื่องดื่มแบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม และเพียวริคุ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเรานั้นใช้น้ำเป็นวัตถุดิบสำคัญ ดังนั้น เราจึงกำหนดนโยบายทั้งภายในและภายนอกในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเน้นสร้างการเติบโตของธุรกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ บทบาทของ สสน. จะทำงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ โดยการผสมสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ว ท) เข้ากับหลักสังคมศาสตร์ รวมทั้งถ่ายทอดให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งจากภาพถ่ายจากดาวเทียม โปรแกรมแผนที่ และเครื่องจับพิกัดจุด เพื่อนำมาจัดทำแผนที่น้ำของชุมชน รู้ระดับสูงต่ำของพื้นที่ แสดงเส้นทางท่อส่งน้ำตั้งแต่จุดตั้งต้นจนถึงพื้นที่เกษตรของสมาชิกผู้ใช้น้ำ รวมทั้ง วิเคราะห์สมดุลน้ำหาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำฝน น้ำที่เก็บในอ่าง และความต้องการน้ำของพืชที่ปลูก เพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ครบวงจรในแต่ละปี

ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กล่าวว่า “สำหรับปัญหาเรื่องน้ำของจังหวัดแพร่ ไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนแหล่งน้ำ แต่มักจะเกิดจากแหล่งน้ำหลักตื้นเขิน หรือมีสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการกระจายน้ำ ซึ่งการฟื้นฟูและการบริหารจัดการน้ำจึงมีแนวทางฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ให้กลับมาทำหน้าที่ได้ เช่น ขุดลอกลำน้ำสายหลักในช่วงที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การปรับปรุงระบบส่งน้ำและกระจายน้ำให้กับพื้นที่ให้รับน้ำได้อย่างทั่วถึง บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง แต่ด้วยแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้นการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำเชิงพื้นที่ เราจะต้องทำอย่างเข้าใจธรรมชาติของน้ำ เข้าใจระบบนิเวศน์ และติดตามความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสภาพอากาศ เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่เกิดประโยชน์มากที่สุด และมีความยั่งยืน”

ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) กล่าวว่า “การที่เราจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน และมีประสิทธิผลสูงสุด เราจำเป็นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ให้สามาถดำเนินงานได้ด้วยตนเอง และเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งโครงการ รูปแบบของงาน ปริมาณเก็บกักน้ำที่เหมาะสม รวมถึงการบำรุงดูแลรักษาเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในระยะยาว ซึ่งวิธีนี้จะสร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ และเห็นความสำคัญทำให้เป็นที่ยอมรับจากชุมชนเอง ทั้งผู้ได้รับประโยชน์ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”

“ขณะนี้เรามีชุมชนที่มีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาลุ่มน้ำกับ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จำนวน 6 จังหวัด ใน 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ที่ จังหวัดแพร่ สุโขทัย และพิจิตร และลุ่มน้ำปราจีน ที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว” ดร. รอยล กล่าว

จังหวัดแพร่ถือเป็นต้นแบบของระบบข้อมูลที่ใช้สำหรับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์ และวางแผนบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ทั้งในสภาวะปกติและวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยม แต่ละปีจะมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ 4,900 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เพียง 400 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ขณะที่ความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ สูงถึงปีละ 2,200 ล้านลบ.ม. ลุ่มน้ำยมจึงเป็นลุ่มน้ำที่ยังมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำที่สามารถเก็บน้ำได้มากเพียงพอที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นการรวมพลังของชุมชนบ้านแม่ขมิง ที่ทำงานร่วมกับ อพ. และ สสน. พร้อมด้วยเหล่าจิตอาสาของกลุ่มธุรกิจ TCP ในพื้นที่จังหวัด พิษณุโลก และ เชียงใหม่ รวมทั้งหมดกว่า 120 คน ในการเข้าช่วยซ่อมแซม ‘แตต้าง’ ที่อยู่ในสภาพชำรุดเสียหายให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม

โดยแตต้างเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนา เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำด้วยการรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำ กระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเท่าเทียมกันผ่านลำเหมืองตามความลาดชันของพื้นที่ แตต้างจึงเป็นหนึ่งในวิธีการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง โดยมีแก่เหมือง แก่ฝาย เป็นคนบริหารจัดการน้ำ และจัดสรรน้ำเข้าพื้นที่เกษตร ตามกฎหมายมังรายศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนมังรายณ์ นอกจากนั้นจิตอาสา และชุมชนยังจะร่วมกันพัฒนาพื้นที่เกษตรตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับ ชุมชนบ้านแม่ขมิง ทั้งนี้ ชุมชนดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศป่าชุมชนดีเด่น ด้าน “ป่าชุมชน : สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุข ปวงประชา” ประจำปี 2562 อีกด้วย

จังหวัดแพร่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มธุรกิจTCP  อพ. และ สสน. เข้าไปพัฒนาโครงสร้างน้ำ เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน และช่วยลดปริมาณน้ำท่วมสะสมในฤดูน้ำหลากแก่ชุมชนกว่า 9,800 ครัวเรือนตลอดลุ่มน้ำยม  ให้ได้มีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตรตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ของโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย และพันธมิตร จะสามารถช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน กว่า 16,000 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนจากการมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการไว้ราว 100 ล้านบาท

Post a comment

18 − 16 =