Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

สนุก ณ สตูล มืดมิดสนิทใจ ในถ้ำเลสเตโกดอน

กลับมาแล้วยังคงนั่งเถียงกับเพื่อนว่า ที่คนเราปรับสายตาได้ในที่มืด เพราะที่มืดที่เราลองปิดตานั้นไม่ได้มืดสนิท หรือคนเราสามารถปรับสายตาในที่มืดได้จริงกันแน่

งงกันไหม… เอาเป็นว่าไปลืมตาในที่มืด (ที่เชื่อว่า) มืดสนิทจริงๆ มา ด้วยระยะทางของถ้ำที่ยาวราว 4 กิโลเมตร ของถ้ำที่ไม่มีแสงลอดผ่านนอกจากทางเข้าทางออก จะมีแค่ช่องลมเล็กๆ แค่บางช่วงไม่กี่จุดเท่านั้น ด้วยระยะทางที่ไกล ทำให้สงสัยว่าที่ว่ามืดสนิทแบบที่เจอมานั้น มันคือมืดจริงๆ 100% ไหม

ถ้ำเลสเตโกดอน เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ของประเทศไทย ในนามของอุทยานธรณีสตูล ซึ่งทางยูเนสโก้ได้ลงพื้นที่สำรวจในปีที่ผ่านมา และประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก ในวันที่ 19 เมษายน ของปี 2561 นับเป็นแหล่งที่ 5 ของอาเซียน เนื่องด้วยเป็นแหล่งฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และมีการค้นซากดึกดำบรรพ์แห่งมหายุคพาลีโอซอิกครบทั้ง 6 ยุค หนึ่งเดียวในเมืองไทย นับเป็นถ้ำเล (ถ้ำที่มีน้ำทะเลลอดผ่าน) ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยด้วย ลักษณะเป็นถ้ำทอดในเลือกเขาหินปูน โดยจะมีทั้งช่วงที่มีน้ำผ่านช่วงน้ำขึ้น และน้ำแห้ง ในช่วงน้ำลง ซึ่งเดิมทีชาวประมงเข้ามาหากุ้งหอยปูหาปลาในถ้ำนี้ด้วย

เราไปถึงถ้ำเลในช่วงบ่าย ราวๆ บ่ายโมงกว่าๆ บริเวณปากทางเข้าจะเป็นที่ทำการ นักท่องเที่ยวจะได้รับฟังข้อมูล ประวัติ  กฎระเบียบ คำเตือนด้านความปลอดภัย พร้อมทั้งได้รับแจกเสื้อชูชีพ และหมวกกันน็อค ก่อนที่จะข้ามสะพานบริเวณด้านหน้าภูเขาเข้าไปยังปากถ้ำ

กองทัพเรือแคนูกลุ่มเล็กๆ รอเราอยู่ แสดงให้เห็นว่าวันนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากพอสมควร โดยปกติแล้ว ทางถ้ำเลสโตโกดอนจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพียง 40-60 ต่อวัน โดยมีอัตราค่าใช้จ่ายเบื้องต้น 300 บาทต่อคน  1 รอบต่อวัน โดยจะรับอย่างน้อย 8 คนขึ้นไป  อย่างไรก็ตามควรติดต่อเข้าไปก่อน เป็นการดีที่สุด เพราะการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและน้ำขึ้นน้ำลงด้วย

เรานั่งอยู่บนเรือกับเพื่อนรวมทางอีก 1 ท่าน และมีนายท้ายคนพายซึ่งเป็นไกด์ไปในตัวอีกคนหนึ่ง รวมเป็น 3 คน ซึ่งเหมาะสมกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ๆ มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน อาศัยช่วงน้ำขึ้นน้ำลงเป็นตัวกำหนด จนบางช่วงอาจจะต้องลงเดินบ้าง

นายท้ายช่างเจรจาของเราซึ่งไม่ได้ถามไถ่ชื่อเสียงเรียงนามใดๆ เล่าเรื่องราวมากมายตั้งแต่ลำเรือเริ่มเข้าสู่ตัวถ้ำ ความมืดมิดที่รับรู้ได้เริ่มเฟสแสงหายไป เสียงของการพูดคุยเริ่มก้องกังวาล พร้อมการแสดงตัวตนของพายที่แตะน้ำ

เรือลำหนึ่งจะมีไฟฉายสวมศรีษะให้ลำละ 1 อัน ด้วยความที่นั่งหน้า เลยมอบตำแหน่งส่องไฟให้กับเพื่อนร่วมทางด้านหลัง แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะมองไม่เห็นอะไร เพราะจะมีบรรดาไฟของลำอื่นๆ ดิ้นไปดิ้นมา เหมือนไฟเธคกันเลยทีเดียว จนกว่าจะถึงจุดสำคัญๆ โน่นล่ะ ถึงจะรวมตัวกันส่องไฟไปในจุดเดียวกัน

ไม่นานเท่าไหร่ ออกไปไม่นานเราก็พบกับทางแคบที่มีน้ำลดจนแนวหินปรากฏเป็นทางกั้น ทำให้ทุกๆ ลำต้องทยอยกันลงจากเรือ เพื่อลากลำเรือออกจากแนวหิน ก็ถือว่าทุลักทุเลกำลังดี ด้วยความเป็นลำแรก จึงอาจจะทุลักทุเลกว่าใครเขา เพราะแสงไฟที่ตามมา ยังส่องไม่ถึง ส่วนแสงไฟที่รอข้างหน้าก็ยังไม่มี

แต่เราก็ผ่านจุดนั้นกันไปได้ และล่องลำเรือเข้าสู่ตัวถ้ำที่ลึกเข้าไป ถึงจุดนี้เราเริ่มรู้สึกถึงความเย็นและสงบ หากไม่นับเสียงบรรยายหรือพูดคุยกัน ภายในถ้ำมีความหลากหลายของเส้นทาง ทั้งคดเคี้ยว เป็นทางเลี้ยว ทางลึก บ้างก็มีทางแยกให้ทายว่าควรจะไปทางไหน แต่หัวใจสำคัญ คือ ความสำคัญทางธรณีวิทยาของถ้ำแห่งนี้ ซึ่งจะมีผู้บรรยายให้ฟังกันเพลินตลอดทาง

เดิมทีถ้ำแห่งนี้เป็นเพียงถ้ำทางทะเลเหมือนถ้ำเลที่กระจายอยู่ในที่อื่นๆ แต่มาวันหนึ่งเมื่อปี 2551 มีชาวประมงเข้าไปหากุ้งและได้เจอกับซากดึกดำบรรพ์ จนได้นำมาตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จนพบว่า ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเป็นซากกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกรามของช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอน ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยไพลสโตซีน (ประมาณ 1.8 ล้านปีก่อน) นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ “ถ้ำเลสเตโกดอน” จนทางยูเนสโก้ได้มาสำรวจและยกให้เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลก

เราฟังเรื่องราวจากหนุ่มพายเรือที่ไม่รู้จักชื่อตลอดเส้นทางที่อยู่ในถ้ำ บอกตรงๆ ว่าจำได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะความรู้สึกมันถูกสะกดอยู่กับรูปร่างต่างๆ นานาของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป บางขณะหนุ่มพายเรือก็จอดให้เราลองเพ่งมองจุดนั้นจุดนี้ ว่าจะมโนเป็นภาพอะไรได้บ้าง ก็นับเป็นช่วงเวลาที่สนุก และไม่น่าเบื่อเลย แต่สำหรับคนกลัวความมืด หรือพื้นที่จำกัด อาจจะรู้สึกอึดอัดขึ้นมาได้

แต่จริงๆ แล้ว ภายในถ้ำไม่ได้มีความแคบหรือน่าอึดอัด แตกต่างจากการนั่งเรือลอดถ้ำเลเขากอบ จังหวัดตรังอย่างสิ้นเชิง เพราะในถ้ำโล่ง โปร่ง ไม่มีจุดไหนที่ต้องเอนตัวแนวประชิดกับเพดานถ้ำ ไม่ใช่แนวแอดเวนเจอร์ แต่ก็สนุกเร้าใจไม่น้อย

จากจุดเริ่มจนไปถึงราวกลางทาง บริเวณห้องโถงกว้างในถ้ำ เรือสิบกว่าลำลอยเหนือน้ำที่ไม่รู้ว่าลึกแค่ไหน แต่เงาของหินเกินภาพสะท้อนที่สวยงามสุดบรรยาย ทุกคนจอดเรือเรียงตัวกัน ก่อนที่ผู้นำเที่ยวสั่งให้ทุกคน เงียบและหลับตา เพราะที่นี่ช่วงเวลาที่คุณจะได้อยู่กับความมืดที่แท้จริง ปล่อยให้คุณได้ครุ่นคิดกับสิ่งที่อยู่ภายใต้จิตใจของตัวเอง

พรึบ! เมื่อโลกนี้ไม่มีแสงไฟ มีเพียงใจและความคิด  ภาพที่เคยมองเห็นเป็นแค่เปลือกที่ปอกออกไปแล้ว ใจและการกระทำต่างหาก ที่แสดงความจริงออกมา

นี่คือภาพของคนตาบอดใช่หรือไหมหนอ แล้วที่ว่ามืดนี้ มันมืดสนิทจริงๆ หรือเปล่า ถ้าได้หลับตาไปอีกยาวๆ สายตาเราจะปรับให้มองเห็นได้ไหม

หลากคำถามท่ามกลางความครุ่นคิดในความมืด ระหว่างที่ดวงตาเบิกโพลงแบบไร้ความหมาย เพราะไม่สามารถโฟกัสหาอะไรได้ นอกจากสิ่งที่เรียกว่า “สนิท” นี่เป็นความมืดที่เราไม่เคยรู้จัก และแทบจะอยากหลับตาลงเสีย แต่ก็เสียดายโอกาสของ 1 นาที ที่ไม่ง่ายนักที่เราจะได้พบเจอ

จึงเลือกเปิดตาต่อไปแบบไร้ความหมาย จะอย่างไรมันก็คือภาพที่มืดสนิทแบบเดียวกัน พยายามสอดส่ายไปซ้ายขวา ก็ไม่รู้ว่าจะส่องหาอะไร หูเริ่มหัวเราะเยาะ เพราะยังมีประสาทการรับรู้อย่างเต็มเปี่ยม แม้เสียงเรือกระทบกันเพราะระลอกน้ำ ก็กระทบเข้ามาให้ได้ยินอย่างแจ่มชัด ส่วนหัวใจก็ลิงโลด ตื่นเต้นกับสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน และดีใจเป็นที่สุดที่ทุกคนเคารพความเงียบกันอย่างเคร่งครัด ทำให้เป็น 1 นาทีที่เราได้อยู่กับความคิดข้างในอย่างจริงจัง

เหมือนเสียงถอนหายใจของใครบางคนจะดังไปนะ หลังจากที่เจ้าแสงไฟดวงน้อยๆ ทยอยเปิดออกมา บางคนบอกว่าหลับตาปี๋หนีความมืดตลอดเลย ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจดี ที่มืดจนต้องหลับตาหนี  นี่สินะ วันที่มืดมนในความรู้สึกของใครบางคน แม้เพียงได้เห็นแสงสว่างเพียงรางๆ ก็ชื่นใจแล้ว

เราใช้เวลาครึ่งทางที่เหลือกันอีกพักหนึ่ง กินเวลาเพลินๆ จนลืมดูนาฬิกา แต่คาดว่าตลอดเส้นทางน่าจะสักครึ่งชั่วโมงหรือสี่สิบห้านาที จากความมืด สลับกับแสงไฟแวบวับเหมือนหิ่งห้อยตัวใหญ่จากแสงไฟของเรือแต่ละลำ เราก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จะเป็นแสงแห่งความหวัง อย่างที่ว่าไว้ไหมหนอ

จากปลายอุโมงค์ เราต้องเดินขึ้นท่า หนุ่มนักพายต้องลากเรือขึ้นไปด้วย แล้วก็พาเรานั่งเรือลำเดิมต่อไป ชมเส้นทางป่าโกงกางกันอีกไม่กี่นาที ก็ถึงท่าเรือหางยาว ที่จะขนถ่ายพาเราไปถึงฝั่ง แล้วหนุ่มนักพายก็ลากเรือขึ้นรถกระบะไป

ภายในเรือค่อนข้างแคบ แม้ท้องฟ้ากว้าง ลำน้ำใหญ่ แสงสว่างส่องถึง แต่ไม่รู้สึกสบายตัวสบายใจเท่าตอนอยู่ในถ้ำ ดีที่มีน้ำและขนมให้บริการก่อนเรือออก ทำให้ลืมความร้อน พร้อมทัพยุงที่รุมโจมตี นี่หรือปลายอุโมงค์ นับเป็นแสงสว่างที่เจอแล้ว ได้รสชาติไปอีกแบบ

ถ้ำเลสเตโกดอน  ตั้งอยู่ใน ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล การมาเที่ยวที่นี่ต้องรักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อทรัพยากรที่สำคัญของเราได้คงอยู่สืบไป  แม้แต่อาหารหรือเครื่องดื่มก็ไม่ควรนำเข้าไป ห้ามสัมผัสกับหินงอกหินย้อยในถ้ำโดยเด็ดขาด ไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะห้ามใช้แฟลชในการถ่ายภาพ เหมือนกับถ้ำเลบางที่หรือไม่ และตอนนี้ถ้ำเลก็เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวอยู่มาก จึงอาจจะมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดกว่าเก่า เพราะแน่นอนว่าจากนี้ไปทางยูเนสโก้ก็คงต้องมีการตรวจประเมินอย่างต่อเนื่อง

ใครที่อยากชมซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบเจอ สามารถชมได้ที่ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า ส่วนใครที่ต้องการติดต่อท่องเที่ยว  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้าโทร: 0 74789 317 หรือ 08 4858 5100

ส่วนคำถามที่เราสงสัยนั้น ไม่แน่ใจว่าจะมีผู้ใดช่วยตอบได้บ้าง จากการสอบถามนายท้ายหนุ่มว่า เคยมีชาวประมงเข้ามาแล้วไฟดับหรือติดในถ้ำบ้างไหม หนุ่มน้อยบอกว่าไม่มี ก็เลยจบคำถามไป แล้วก็เพลินกับคำอธิบายอะไรไปเรื่อย จนลืมถามเรื่องความมืดไปเลย

สงสัยต้องกลับไปอีกครั้งแล้วกระมัง ครั้งนี้ น่าสนุกนะ น่าสนุกจริงๆ นะ “สตูล”

MeetThinks ขอขอบคุณ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำหรับทริป “เส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนาน” (Gastronomy Tourism) จังหวัดสตูล ที่ได้นำเราไปรู้จักกับวัฒนธรรมการกินที่หลากหลายของชาวสตูล พร้อมเส้นทางท่องเที่ยวอันงดงาม

ติดตามเรื่องราวของเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นสตูล ได้ที่ https://www.meetthinks.com/gastronomy-tourism-satul/

Post a comment

nineteen + nineteen =