Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ปั้นฟางให้เฟี้ยว แลนด์มาร์คสไตล์บ้านเฮาก็เข้าท่าดีแฮะ

สมัยก่อนเมื่อเดินทางไปไหน จุดที่จะเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายได้ดีที่สุด ที่หลายคนมักจะนึกถึงคือ ป้ายของสถานที่นั้นๆ เรียกได้ว่า ถ้ามาแล้วไม่ได้ถ่ายรูปกับป้าย มันจะเกิดอาการตะขิดตะขวงใจเหมือนมาไม่ถึง แต่อย่ามาพูดกันในวันนี้ ถ้าป้ายนั้นไม่เก๋จริง ก็ทิ้งความคิดนั้นไปได้เลย

แต่สิ่งที่ยังไม่เชย ไม่เอาท์ คือ การบันทึกภาพพร้อมเอกลักษณ์ที่โดดเด่น อาจจะต้องได้ชื่อว่า มีที่เดียวที่นี่เท่านั้น หากจะนึกง่ายๆ อย่าง วัดพระแก้ว ประเทศไทย หอไอเฟล ฝรั่งเศส หรือ หอเอนปิซ่า ของอิตาลี เห็นแล้วรู้ดีว่า อ๋อ…มาถึงแล้ว นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “แลนด์มาร์ค” สถานที่สำคัญซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าของเมืองๆ นั้น

และแลนด์มาร์คนี่เอง ที่เป็นกลยุทธ์ของการท่องเที่ยวในหลายๆ แห่ง เพราะในวันนี้ แลนด์มาร์คไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงสิ่งที่สร้างคู่บ้านคู่เมืองนาน  แถมยังสามารถสร้างขึ้นได้ใหม่ ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ (แต่ถ้าใหญ่โตอลังการก็มักจะเป็นที่จดจำและดึงดูดได้ดีกว่า) ประเทศหนึ่งมีได้หลายแบบ หลายแห่ง ตั้งแต่ระดับประเทศ  ระดับจังหวัด หรือระดับชุมชน ก็สร้างแลนด์มาร์คของตัวเองได้ แต่จะทำอย่างไร ให้เป็นแลนด์มาร์คที่ดึงความสนใจให้คนต้องมาเยี่ยมชมและเก็บเกี่ยวความทรงจำเอาไว้ เป็นเรื่องท้าทายยิ่ง

แม้ในวันนี้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมจะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่เราก็รู้ดีว่า เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของบางสถานที่ หากยังไม่ได้นำมาผูกโยงและเล่าเรื่องราวให้เกิดความประทับใจได้ ก็ต้องอาศัยการเสริมเติมเสน่ห์เข้าไป อย่างที่ชุมชนนาอ้อ จังหวัดเลย

“นาอ้อ” เป็นชุมชนเก่าแก่ มีเชื้อสาย “เผ่าไทลื้อ”  เริ่มมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2236  ในตำบลนาอ้อจึงมีโบราณสถานที่เก่าแก่และมีประวัติศาสตร์มากมาย เช่น วัดศรีจันทร์ ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนซึ่งเก็บรวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย มีส้วมฝรั่งเศส ซึ่งสื่อถึงเรื่องราววีรกรรมของชาวนาอ้อในสมัยที่ฝรั่งเศสบุกเพื่อชิงดินแดนประเทศไทย นอกจากนี้ ในพื้นที่ชุมชนนาอ้อ ยังเต็มไปด้วยบ้านไม้เก่าที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีคุณค่า ซึ่งคู่ควรแก่การอนุรักษ์หวงแหน มีศาลเจ้าปู่คำแดง ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวนาอ้อเคารพนับถือ เป็นต้น

แค่ฟังแล้วก็น่าสนใจ แต่หากจะมีสีสันเติมลงไปอีกนิดก็คงดี ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษเลย หรือ อพท.5 ก็ได้ปิ๊งไอเดีย “สร้างแลนด์มาร์ค” ขึ้น เป็นความคิดแบบเปิดใจพูดกันตรงๆ ว่า  แม้ชุมชนนาอ้อจะเป็นชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดเลย อุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ทั้งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม โบราณสถาน และมีประวัติศาสตร์มากมาย แต่จุดอ่อนในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนนาอ้อ คือ ขาดการนำเสนอให้น่าสนใจและขาดแหล่งดึงดูด นั่นคือเหตุผลที่ อพท. มีแนวคิดในการสร้างประติมากรรมหุ่นฟางขึ้นมา เพื่อสร้างจุดขายใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว

ประติมากรรมหุ่นฟางที่ชุมชนนาอ้อมีทั้งหมด จำนวน 6 ตัว ประกอบด้วย ช้าง ปลาแม่น้ำโขง หุ่นฟางชาวชุมชนนาอ้อ น้องพาเพลิน (mascot ของ อพท.) ค่างแว่นถิ่นเหนือแห่งวัดถ้ำผาปู่และพญานาค เป้าหมายเพื่อเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวใหม่ เชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่  ด้วยการนำกองฟางที่เหลือทิ้งจากการทำนามาสร้างเป็นหุ่นฟาง นับเป็นแนวทางหนึ่งในการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ด้วยความคิดสร้างสรรค์  โดยมีแนวความคิดที่ซ่อนอยู่อย่างมีความหมาย

ช้าง : มีความหมายถึง พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่  9  เมื่อครั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดเลยเป็นครั้งแรก โดยเสด็จฯ ไปยังหลังแป อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 และได้ประทับช้างที่กรมป่าไม้จัดถวาย ซึ่งมีช้างจำนวน 2 เชือก มีชื่อว่า พลายหมื่นและพลายแสน จากนั้นทั้ง 2 พระองค์ ได้ทรงประทับช้างชมทัศนียภาพที่เป็นทุ่งหญ้า และน้ำตกธารสวรรค์ และอื่น ๆ ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

ปลาแม่น้ำโขง :  จำนวน 10 ชนิด มีความหมายถึง ปลาที่มีอยู่ในแม่น้ำโขง เป็นปลาที่มีในพื้นที่จังหวัดเลย อยู่คู่กับวิถีชีวิตกับชาวจังหวัดเลยมาตั้งแต่อดีต โดยมีปลาชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ปลาบึก ปลาคัง ปลากระทิง ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง ปลาปักเป้าดำแม่น้ำโขง หรือ ปลาปักเป้าบึง ปลาค้าว ปลาตองลาย ปลาเสือตอลายเล็ก ปลาโจกและปลาไน

หุ่นฟางชาวชุมชนนาอ้อ :   มีความหมายถึงชาวชุมชนนาอ้อ ที่มีประวัติศาสตร์ ประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี จะมีการแสดงครกมอง หรือครกกระเดื่องเพื่อสื่อถึงการปลูกข้าว ตำข้าวในอดีต รวมไปถึงจัดแสดงเครื่องมือจับปลา ทอผ้า และอื่น ๆ บริเวณใกล้เคียงหุ่นชาวนาอ้อ

 

ค่างแว่นถิ่นเหนือแห่งวัดถ้ำผาปู่  :  เป็นสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของตำบลนาอ้อ และมีแห่งเดียวในจังหวัดเลย ณ วัดถ้ำผาปู่ จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชม ถ่ายรูปและให้อาหาร

พญานาค :   เป็นตำนานความเชื่อที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน มีตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้คนจำนวนมากให้ความเคารพนับถือและสักการบูชา

น้องพาเพลิน มาสคอสของ อพท.

 

มาสคอสตัวจริง “น้องพาเพลิน”

 

น้องพาเพลิน  :  (ตัวการ์ตูนสีน้ำเงิน) เป็นมาสคอต (mascot) ของ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) มีชื่อว่า “น้องพาเพลิน” ซึ่งชนะ ประกวดการออกแบบโดยนายสมพงษ์ รัตนกุญชร โดย อพท. จะใช้มาสคอตนี้เป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในทุกพื้นที่พิเศษที่ดูแล ซึ่งตำบลนาอ้อถือเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อพท. ดำเนินงาน

 

 

ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ด้วยการนำวัสดุในชุมชนออกมาใช้ พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวเอกลักษณ์น่าภาคภูมิใจตามแบบฉบับของตัวเอง เป็นอีกก้าวของการคิด การสร้าง บนพื้นฐานของชีวิตความเป็นอยู่ เชื่อมโยงไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่จะพัฒนาให้เป็นประติมากรรมที่อยู่ยั่งยืนยงได้อย่างไร คงต้องคิดต่อยอดกันในขั้นต่อไป

ใครไปเยือนนาอ้อ ก็อย่าลืมแวะไปชม คิดว่าอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่ยังบอกว่ายังขาดแรงดึงดูดใจให้กับนักท่องเที่ยว ก็สร้างแลนดมาร์คของตัวเองได้เช่นกัน

 

 

Post a comment

3 × 2 =