
วัฒนธรรมหอมกรุ่น 3 เทรนด์ร้านกาแฟกับโอกาสทางธุรกิจ
วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของคนไทยได้ขยายตัวขึ้นจนกลายเป็น “ไลฟ์สไตล์” ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการชงดื่มที่บ้าน ที่ทำงาน นัดพบปะสังสรรค์ การออกเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันพบว่า คนไทยมองหาร้านกาแฟเช่นเดียวกับการมองหาที่พักและร้านอาหาร และกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อออกทริป
แต่ด้วยโอกาสอันหอมกรุ่นของตลาดกาแฟในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดร้านกาแฟขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าชุมชนไหนก็มีร้านกาแฟเปิดให้บริการ แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตลอดระยะสองปีที่ผ่านมา ตลาดร้านกาแฟก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับธุรกิจบริการอื่น ๆ ร้านขนาดเล็ก-กลาง มีการปิดตัวไปมาก สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากการท่องเที่ยว และวิถีการดื่มกาแฟของคนไทยยังไม่เปลี่ยนไปไหน
นายมีชัย อมรพัฒนกุล นายกสมาคมบาริสต้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 การบริโภคกาแฟในส่วนของภาคการท่องเที่ยวและการเดินทางมีอัตราที่ลดลง แต่พฤติกรรมของคนยังคงเลือกซื้อกาแฟเพื่อดื่มที่บ้านแทนการออกไปดื่มที่ร้าน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดร้านกาแฟ โดยประมาณการณ์ค่า หากบรรยากาศการท่องเที่ยวกลับคืนสู่ปกติ ตลาดร้านกาแฟยังสามารถขยายตัวได้ถึง 3 เท่า อีกทั้งยังมีกาแฟที่หลากหลายรูปแบบและระดับราคาเข้ามามากขึ้น อาทิ กาแฟแก้วละ 800 บาท
“ในภาวะปกติธุรกิจกาแฟและร้านกาแฟเติบโตอยู่ที่ 3-5% มูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่สถานการณ์โควิดทำให้สภาพตลาดอยู่ในภาวะคงที่ หลังจากนี้มองว่าตลาดจะทยอยกลับสู่ภาวะปกติจากสัญญาณการฟื้นตัวที่เห็นได้ชัดขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาการบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งธุรกิจกาแฟและร้านกาแฟยังถือว่าอยู่ในช่วงที่เติบโตได้ เรายังเห็นผู้ผลิต จัดจำหน่ายและร้านกาแฟใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา”
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านกาแฟที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทรนด์ของร้านกาแฟ 3 ด้าน
1.Environmental and Sustainability ร้านกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเข้ามาเป็นเทรนด์โลก (Mega Trend) ในการเลือกร้านกาแฟของผู้บริโภค
2.Technology Transformation การมองหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการและการให้บริการในร้านกาแฟ
3.Health and Wellness เนื่องจากเป็นเทรนด์ด้านสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และคาดว่าหลังจากนี้ไป กระแสสุขภาพจะเป็นหนึ่งในการตัดสินใจเลือกใช้บริการร้านกาแฟ ทั้งสุขอนามัยของสถานที่ พนักงาน กระบวนการจัดการ รวมทั้งการนำเสนอเมนูเพื่อสุขภาพ
นอกจากนั้นธุรกิจกาแฟจะต้องมองหาโมเดลใหม่ ๆ เข้ามาตอบรับความต้องการของลูกค้า เช่น โมเดลของกาแฟเต่าบิน ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติกว่า 170 เมนู รวมทั้งเมนูกาแฟสด เป็นต้น
“กล่าวได้ว่าเมืองไทยมีวัฒนธรรมกาแฟ ปัจจุบันร้านกาแฟเป็นเป้าหมายหนึ่งของการท่องเที่ยว พฤติกรรมของคนไทยในตอนนี้เมื่อออกเดินทางไปไหน ไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ นอกจากจะหาโรงแรม ร้านอาหารแล้ว ก็จะมองหาว่าแวะร้านกาแฟไหนดีด้วย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพตลาดที่ยังขยายตัวได้อีกมาก อีกทั้งโมเดลของร้านกาแฟสามารถขยายตัวได้ง่าย สามารถปรับตัวเข้ากับธุรกิจอื่น ๆ ได้ไม่ยาก”
นายมีชัย กล่าวว่า เจ้าของธุรกิจหรือผู้ที่สนใจธุรกิจร้านกาแฟ สามารถเข้ามาอัพเดทเทรนด์ได้ในงาน “ฟู้ด แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ ไทยแลนด์ 2022” โดยทางสมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว อาทิ การสนับสนุนบาริสต้าไทยในการแข่งขันระดับโลกจนได้เป็นแชมป์ World Latte Art ในปี 2017 และปีนี้ภายในงานจะมีโซนธุรกิจกาแฟและเบเกอรี่ (Coffee & Bakery Thailand) โดยเฉพาะ เป็นโซนที่รวมสินค้า อุปกรณ์ บริการ และผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟและธุรกิจกาแฟที่พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจ โดยสมาคมฯ จะมีการจัดกิจกรรมแข่งขันสำคัญ 2 รายการ คือ การแข่งขันศิลปะบนถ้วยกาแฟ (Thailand National Latte Art Championship (TNLAC) และการสร้างสรรค์เครื่องดื่มจากกาแฟ (Thailand National Coffee in Good Spirits Championship (TNCIGS) ) เพื่อหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเวทีระดับโลกอีกด้วย
สำหรับงานฟู้ด แอนด์ ฮอสพิทาลิตี้ ไทยแลนด์ 2022 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 24 กันยายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์