Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

1 นาทีที่กรุงเทพ สะท้อนความชินชาที่น่าคิด

มีหลายสิ่งที่เรารู้ เราคิด แต่ก็ไม่ได้นำพามากำหนดพฤติกรรมของตัวเราเอง หนึ่งในนั้นคือทัศนคติต่อปัญหาขยะ ซึ่งคงไม่ต้องมองไกลไปไหน แค่มองไปรอบข้าง หรือในบ้านของเราเอง วันๆ หนึ่ง เราสร้างปัญหาขยะมากน้อยแค่ไหน บ้านของเรากลายเป็นโรงงานผลิตขยะไปแล้วหรือเปล่า

เพียงเวลา 1 นาที คนในกรุงเทพฯ มีถุงพลาสติกที่ใช้แล้วถึง 50,000 ถุง แค่นาทีเดียวเท่านั้น ไม่ต้องบวกลบคูณหาร เราก็มโนภาพได้ว่า ถุงพลาสติก 50,000 ถุง ที่ถูกคลี่ออกมาแล้ว มันสามารถฟูฟ่องจนเต็มห้องนอนของเราได้ และหากจะเห็นภาพให้ชัด ก็ลองมองดูผลงานศิลปะชิ้นนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “กรุงเทพ ณ เวลานี้”  (A BANGKOK MINUTE) ผลงานสร้างสรรค์โดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (INDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สรรสร้างจากจากถุงพลาสติกใช้แล้ว กว่า 50,000 ชิ้น ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย สะท้อนถึงปริมาณการใช้ถุงพลาสติกภายในเวลาเพียง 1 นาทีของคนในกรุงเทพ  ภายใต้แนวคิด Beat Plastic Pollution “รักษ์โลก เลิกพลาสติก” เพื่อร่วมรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ผลงาน “กรุงเทพ ณ เวลานี้”  สร้างขึ้นในโอกาสของสัปดาห์สิ่งแวดล้อม  2018 ซึ่งทาง กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังร่วมกับ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป ประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน  ด้วยแนวคิด Beat Plastic Pollution รักษ์โลก ลดพลาสติก” ในงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลก 2018  World Environment Day 2018 ด้วยเป้าหมายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ภายใต้โครงการ CHANGE!: Change your behavior, Change your mind   พร้อมเครือข่ายความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงาน

นอกจากเจตนารมณ์ที่ประกาศร่วมกัน พร้อมการรณรงค์ลดปัญหาขยะ โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกแล้ว ในงานนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ ชวนให้เราได้ฉุกคิด และเลิกเมินเฉยกับความเคยชินของเรากันบ้าง

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ร่วมกับฯพณฯ เพิร์คกา ทาปิโอลา เอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย,ฯพณฯ เคส กราส’เดส์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์,มิสอานน์ ชาร์ลอต มัลม์ กงศุลฝ่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สถานทูตสวีเดน, ดร. อิสซาเบล ลูอิส รองผู้อำนวยการและผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ แห่งเอเชียและแปซิฟิก , ร่วมกันแสดงพลังประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนการจัดงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลก World Environment Day 2018

ฯพณฯ เพิร์คกา ทาปิโอลา เอกอัครราชทูต ผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวในงานนี้ว่า “สหภาพยุโรปได้ดำเนินการตามขั้นตอนสำคัญ ในการลดการปล่อยกากพลาสติกจนกลายเป็นเศษขยะทางทะเล และได้ลดการใช้ถุงพลาสติกในประเทศสมาชิกหลายแห่งด้วยข้อกำหนดด้านถุงพลาสติก นอกจากนี้ เราต้องการรวมพลาสติกรีไซเคิลจำนวน 10 ล้านตัน มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายในปี พ.ศ. 2565  เราได้ร่วมมือกับหน่วยงานในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น ที่สามารถมีบทบาทในการจัดการของเสียเพื่อให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพสูงขึ้น”

ด้าน ดร.อิสซาเบล ลูอิส รองผู้อำนวยการและผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ แห่งเอเชียและแปซิฟิก กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า  “พลาสติกมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาก  เราจึงมีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากตามไปด้วย เรามีความต้องการให้ทุกคนตระหนักว่า เราต่างมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหามลภาวะพลาสติก และเราก็สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะพลาสติกได้ ดั่งคำวลีที่กล่าวว่า ถ้าคุณไม่สามารถนำมันกลับมาใช้ใหม่ คุณควรปฎิเสธการใช้มัน (If you can’t reuse it, refuse it)”

ขณะที่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้ใช้โอกาสนี้เปิดเผยถึงรายละเอียดของโครงการ CHANGE! ว่า “กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญกับการมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด 70 กว่าปี  ได้จดทะเบียนมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2545  มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ ยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ เมื่อต้นปีนี้ และลงนามบันทึกความร่วมมือสนับสนุนการขับเคลื่อน โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อการจัดการปัญหาขยะ และพลาสติกอย่างยั่งยืน ในงานสัปดาห์วันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ด้วย

คนไทยใช้ถุงพลาสติกมากกว่าชาวยุโรป

แนวคิดของงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลก 2018 คือ Beat Plastic Pollution เน้นรณรงค์ลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single use plastic) เช่น หลอดพลาสติก, ถุงพลาสติก และขวดน้ำ ซึ่งพบว่าทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติก 500,000 ล้านใบต่อปี โดยคนไทยใช้ถุงพลาติก 8 ใบต่อวัน ขณะที่ชาวยุโรปใช้เพียง 5 ใบต่อเดือน

พลาสติกในทะเลทำลายสิ่งมีชีวิตได้

แต่ละปีมีปริมาณขยะพลาสติกพบเป็นขยะอยู่ในทะเลมากถึง 13 ล้านตัน ซึ่งประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก (อันดับ 1 คือ จีน รองลงมาคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) ทำให้สัตว์น้ำตายมากถึงปีละ 1 ล้านตัว

ขยะพลาสติกเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่างๆ เมื่อพลาสติกถูกทิ้งอยู่ในทะเลนานๆ กระแสคลื่นกระแสน้ำก็จะทำให้พลาสติกกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือ “ไมโครพลาสติก” (Microplastic) ที่สิ่งมีชีวิตกินเข้าไปก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนคนที่บริโภค กุ้ง หอย ปู ปลา ที่กินเจ้าพลาสติกชิ้นน้อยนี้ลงไปก็ย่อมได้รับผลกระทบ

พลาสติกคือขยะกองยักษ์ของโลก

ข้อมูลจากองค์การอนุรักษท้องทะเล (Ocean Conservancy) ได้จัดอันดับขยะที่พบปริมาณมากที่สุดในรอบ 25 ปี ซึ่งทั้งหมดรวมกันเป็น 80% จากขยะทั่วโลก พบว่า ที่มีมากที่สุดคือ ก้นบุหรี่ 32% ห่อและซองพลาสติก 9% ฝาขวดพลาสติก 8% ขวดพลาสติก 6% ภาชนะบรรจุอาหาร 6% ถุงพลาสติก 5% ขวดแก้ว 4% กระป๋อง 4%  หลอดดูดน้ำ 4% และ เชือก 2% จะเห็นได้ว่า พลาสติกคือกลุ่มขยะหลักๆ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก

กลุ่มเซ็นทรัลกับการลดการใช้พลาสติก

กลุ่มเซ็นทรัล เป็นองค์กรค้าปลีกแห่งแรกของไทย  ที่ริเริ่มแคมเปญลดการใช้ถุงพลาสติก-ถุงกระดาษ “NO BAG NO BAHT” อย่างจริงจัง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี  2551 จนถึงปัจจุบัน มีอัตราการใช้ถุงพลาสติก ลดลงถึง 13 ล้านใบ  คิดเป็น 31 % อีกทั้งยังใช้ถุงพลาสติกชีวภาพ หรือ Bio Degradable Bag ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายใน 1 ปีแทนถุงพลาสติกแบบเดิม มาตั้งแต่ปี 2557 และมีนโยบายจะประกาศรณรงค์ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกภายในห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัลต่อไป

นอกจากนั้น กลุ่มเซ็นทรัล ยังริเริ่มโครงการนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาเพิ่มมูลค่า ผ่านเครื่องรับซื้อขวดอัตโนมัติ Goes Green รับแต้มนำไปใช้เป็นส่วนลดจากร้านค้าในเครือเซ็นทรัล  ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มติดตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวนขวดพลาสติกที่นำมาแลกคูปองถึง  21,843 ขวด ซึ่งในงานสัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลกปีนี้   ได้นำเครื่องนี้มาจัดแสดงและให้ใช้งานได้ที่บูธ เซ็นทรัลทำ”

ส่วนกลุ่มธุรกิจโรงแรมในเครือเซ็นทารานั้น มีการเปลี่ยน Laundry Bag, Shopping bag และ  Beach bag จากถุงพลาสติกเป็นถุงผ้าและถุงสปันบอล เปลี่ยนขวดน้ำพลาสติกเป็นขวดแก้วในห้องพักแขก ไม่ใช้ถุงขยะดำในห้องพักแขก ลดการใช้หลอดพลาสติกจะเปลี่ยนเป็นหลอดกระดาษแทน  ติดตั้งที่กดแชมพูและสบู่ในรีสอร์ทแทนขวดพลาสติก

ไม่ใช้พลาสติกแล้วใช้อะไรแทน

จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เราทุกคนรู้ดีว่า หากไม่ใช้พลาสติก แล้วจะใช้อะไรแทน เพราะมีวัสดุอื่นๆ หรือภาชนะทดแทนพลาสติกได้  เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ใช้หลอดซิลิโคนที่ใช้แล้วสามารถล้างทำความสะอาดแล้วนำกลับใช้อีกได้แทนหลอดพลาสติก การชงชาจากใบชาโดยตรง การใช้แก้วกาแฟแทนแก้วพลาสติก การมีกล่องอาหารส่วนตัวแทนการใช้กล่องโฟม ฯลฯ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เรายังติดกับความเคยชิน และมองเห็นปัญหาขยะเป็นเรื่องไกลตัวอยู่มาก

สีสันสวยงามจากการแปรรูปขยะ ส่วนหนึ่งคือทุ่นลอยน้ำและขยะจากเกาะอาดังราวี และเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

ในงานยังมีการแสดงผลงานและการจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของขยะพลาสติก ที่อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง

ผลงาน กรุงเทพ ณ เวลานี้”  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนได้หยุดคิด ผ่านโครงสร้างของผลงาน ที่แสดงเป็นทางผ่าน 7 ส่วน แต่ละส่วนมีสีสันหลากหลาย ใช้เทคนิคการเย็บ ผูก และเชื่อมถุงพลาสติกเข้าด้วยกัน เมื่อมองจากภายนอกเข้าไปจะเกิดภาพ 3 มิติ

เมื่อเดินเข้าไป เราจะพบความหมายว่า ความเคยชินแย่ๆ ทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกขึ้นมา โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือรู้แต่ไม่ได้ใส่ใจกับมันมากพอ

 

 

Post a comment

one × five =