Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

บ้านช่างศิลป์ ถิ่นเบญจรงค์

มีบางเรื่องราวในชีวิตที่จารึกด้วยสำนึกแห่งความทรงจำของหญิงสาวที่เดินทางมาอย่างยาวไกล

เสียงที่สั่นเครือกับริ้วน้ำตาที่คลอเบ้า ฉายภาพความปลื้มปิติอย่างหาที่สุดไม่ได้ ทุกครั้งที่เอ่ยถึงความทรงจำ เมื่อครั้งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินนำนักเรียนนายร้อย จปร. เข้ามาทัศนศึกษาดูงานเบญจรงค์ที่หมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อปี 2552

ไม่ว่ารางวัลหรือความสำเร็จใด ก็หาเทียบเท่าความปลาบปลื้มในขณะนั้นได้

ย้อนไปในอดีต  สาวน้อยเรียนจบเพียงชั้นประถมฯ 4 ในครอบครัวมีอาชีพทำไร่ไถนา ฐานะทางบ้านจึงไม่สู้ดีนัก พี่น้องสองสาวจึงพากันไปสมัครเป็นคนงานในโรงงานทำชามตราไก่  “เสถียรภาพ” นับเป็นโรงงานที่ใหญ่สุดในย่านอ้อมน้อยในสมัยนั้น เธอได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนง่ายๆ ฝึกฝนจนได้ทักษะวิชาเขียนลายเบญจรงค์

นับเป็นความโชคดีที่โชคร้ายหรืออย่างไร นานนับ 20 ปีในโรงงานเสถียรภาพ เมื่อถึงยุคเศรษฐกิจแย่ ในปี 2525 โรงงานเซรามิกต้องปิดตัวลง พนักงานต่างตกอยู่สถานะถูกลอยแพ โดยไม่สามารถถามหาความเป็นธรรมได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างผลกระทบต่ออชีวิตของใครหลายคนจนเกิดการรวมตัวประท้วงหน้ารัฐสภา

สาวรุ่นนาม “อุไร แตงเอี่ยม” และพี่สาว เป็นหนึ่งในพนักงานที่ต้องมานอนตากแดดเพื่อร้องขอความเป็นธรรมอยู่ตามท้องถนน เมื่อคำร้องไม่เป็นผลที่น่าพอใจ ก็ต้องก้มหน้ารับชะตากันต่อไป เพียงหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ ทำให้เธอลุกขึ้นสู้อีกครั้ง โดยไม่หวังพึ่งความปราณีจากผู้ใด

เธอหันหลังจากเมืองหลวง มุ่งหน้าสู่บ้านเกิด อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ไม่มีสมบัติใดๆ นอกจากความรู้ทางด้านการเขียนลายเบญจรงค์ที่ติดตัวมา ชีวิตใหม่เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ดังเส้นศิลป์ที่สะบัดลายตามจินตนาการ

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับการก่อร่างสร้างงานเบญจรงค์ ซึ่งมีขั้นตอนถึง 9 ขั้นตอน จึงต้องใช้เวลาในการฝึกฝนบรรดาคนในหมู่บ้านที่มีความสนใจ เข้ามาเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน โดยได้ช่างชาวจีนในโรงงานเดิมเข้ามาช่วยเป็นครูสอน

บริเวณลานบ้านไม้เล็กๆ ของคุณตาขนุนและคุณยายชิว เป็นสถานที่เริ่มก่อตั้งกลุ่มเบญจรงค์ ก่อนที่จะขยับขยายไปสู่บ้านอื่นๆ ที่มีความถนัดแตกต่างกันไป การก่อตัวแบบเงียบๆ เมื่อปี 2525 ถือเป็นจุดกำเนิดของหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ที่ซึ่งรวบรวมช่างฝีมือการทำเบญจรงค์เอาไว้มาจนถึงวันนี้

หมู่บ้านแห่งนี้ยังส่งต่อความรู้สู่ช่างรุ่นใหม่อีกหลายกลุ่ม  และกลายเป็นแหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์ที่สำคัญของเมืองไทย ชื่อเสียงที่เลื่องลือ พร้อมผลงานอันงดงามทรงคุณค่า จนได้ชื่อเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น ในปี 2544

ปัจจุบันหมู่บ้านเบญจรงค์ ดอนไก่ดี ประกอบด้วย บ้านของ อุไร แตงเอี่ยม(เจ้าของร้านอุไร เบญจรงค์), รัชนี ทองเพ็ญ (เจ้าของร้านแดงเบญจรงค์), ประภาศรี พงษ์เมธา (เจ้าของร้านหนูเล็กเบญจรงค์) ,นวลจันทร์ มารุ่งเรือง (เจ้าของร้านยืนยงเบญจรงค์) และ จำเนียร ภูมิเสน (เจ้าของร้านสังวาลเซรามิก)

ลักษณะพิเศษของหมู่บ้านแห่งนี้ คือ ความเป็นกลุ่มก้อน แต่ละหลังเชื่อมต่อเนื่องกันและกัน  ทำให้ผ่านเกณฑ์การเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น ประจำปี 2544 โดยมูลนิธิหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร และถือเป็นรางวัลแรกของหมู่บ้าน

หลังจากนั้นหมู่บ้านเบญจรงค์ ยังคงได้รับรางวัลเรื่อยมา อาทิ รางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่น ประจำปี 2545 ,รางวัลเบญจรงค์น้ำทองคำล้านนานจากสมาคมชาวเหนือ 3 รางวัล , รางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาไทย  , รางวัลชนะเลิศจากสภาวัฒนธรรม อำเภอกระทุ่มแบน 3 รางวัล , รางวัลชนะเลิศ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดสมุทรสาคร ,รางวัล OTOP 5 ดาว , รางวัลชุมชนดีเด่น โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , รางวัลหมู่บ้าน OVC  ( OTOP Village Champion )

โดย “นางอุไร แตงเอี่ยม” ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเบญจรงค์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555  ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ให้เป็น 1 ใน 7 ช่างศิลป์แห่งแผ่นดินสยาม

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทางกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์จึงตั้งจิตเอาไว้ว่าชีวิตที่เหลือจะอุทิศตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ใครเข้ามาขอความรู้ ทางหมู่บ้านก็ยินดียิ่ง

วันนี้เราทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชม หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ได้อย่างสะดวก ที่นี่เป็นหมู่บ้านที่ทำเบญจรงค์กันจริงๆ ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ในทุกๆ วัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเข้ามาในวันไหนก็ไม่ผิดหวัง

หากจะเอ่ยถึงคุณค่าของเบญจรงค์ ในงานพิธีสำคัญ หรืองานเลี้ยงระดับผู้นำในโรงแรมหรู ต่างเลือกใช้เบญจรงค์จากหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อแสดงถึงศิลปะอันทรงคุณค่าของไทย

ความโดดเด่นของลวดลายอันวิจิตรบรรจง ยังคงได้รับการสืบสาน และเป็นหนึ่งในความประหลาดใจของชาวต่างชาติ ซึ่งไม่อาจทำใจให้เชื่อได้ง่ายๆ ว่า ลวดลายเล็กๆ ที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ จะเกิดจากฝีมือมนุษย์

นี่กระมัง ที่ทำให้การเข้ามาท้าพิสูจน์เพื่อให้เห็นด้วยตาว่า ช่างฝีมือไทย มีทักษะมากมายเพียงใด เมื่อได้รู้อีกว่า นี่คือการเขียนลายแบบสดๆ โดยไม่มีแบบร่างหรือการก้อปปี้  ทำให้ผลงานแฮนเมดเหล่านี้ กลายเป็นหนึ่งเดียวในโลก

การเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพ เป็นอีกหัวใจของชิ้นงานเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี น้ำทองที่มีราคาสูงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างผลงานอร่ามตาที่ทรงคุณค่าไปจนชั่วลูกชั่วหลาน นอกจากนั้นก็ยังมีการประยุกต์รูปแบบ ลวดลายและสีสันใหม่ เพื่อให้เบญจรงค์ สามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น

เราเข้ามาในหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี ภายใต้บรรยากาศอันร่มรื่นและเต็มไปด้วยสีสัน เริ่มต้นจากกำแพงทางเข้าหมู่บ้าน ที่มีภาพเขียนแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของช่างแต่ละคนในแต่ละบ้าน

เมื่อเข้าสู่ตัวหมู่บ้าน จุดศูนย์กลางจะอยู่ที่บ้านครูอุไร แตงเอี่ยม ซึ่งมีลานกว้างสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้านยังประกอบด้วยหลายหลัง เพราะมีพี่น้องลูกหลานรวมอยู่ติดๆ กัน แต่ละบ้านก็แบ่งหน้าที่กันไป บริเวณเรือนขนุนของคุณตา ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงาน

ด้านในเป็นบ้านทรงไทยสองชั้น ตกแต่งเป็นโฮมเสตย์ที่แยกออกเป็นสัดส่วน   ประกอบด้วยห้องนอน 6 ห้อง มีทั้งแบบสามารถห้องนอนคู่ที่มีห้องน้ำในตัว และห้องนอนรวมพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่าง ทีวี และ เครื่องทำน้ำอุ่น  ผู้ที่สนใจสามารถเพ้นท์เบญจรงค์แล้วนำกลับไปเป็นของที่ระลึกได้ด้วย

หากเดินเข้าไปในซอยเล็กๆ ถัดจากบ้านครูอุไร ก็เป็นบ้านของช่างเบญจรงค์ท่านอื่นๆ แต่ละบ้านล้วนมีความน่าสนใจ พร้อมความน่ารักสดใส ด้วยอัธยาศัยไมตรี ท่ามกลางความร่มรื่นไปตลอดเส้นทาง เราได้เห็นเด็กวัยรุ่นเข้ากินอยู่ พวกเขาพร้อมเรียนรู้แบบไม่มีทีท่าเบื่อหน่าย

นับเป็นช่วงเวลาที่แสนอบอุ่นใจ โดยเฉพาะการได้ฟังครูอุไรท่านเล่าเรื่องราวต่างๆ  อย่างฉะฉาน

เพลิดเพลิน พลิ้วไหว  ดังลวดลายเบญจรงค์

กลุ่มหมุ่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี (อุไรเบญจรงค์)

32 หมู่ 1 บ้านกลาง ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 74110

ติดต่อ : คุณอุไร แตงเอี่ยม โทร : 034-473-408 , 081-861-4626,085 446 2444

E-mail : urai_benjarong@hotmail.com

Post a comment

16 − 6 =