
KAMP: Khuen-Art-Music-People
เมื่อกล่าวถึง “แคมป์ปิง” (Camping) อดไม่ได้ที่จะพูดถึงคำว่า “แกลมปิ้ง” (Glamping) เทรนด์ท่องเที่ยวที่มีสไตล์ของผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ ชอบแสวงหาความแปลกใหม่ มีความย้อนแย้งที่นักการตลาดต้องทำความเข้าใจ เพราะพวกเขา “ชอบผจญภัย แต่ก็อยากได้ความสะดวกสบาย”
โลกของแคมป์ปิ้งในปัจจุบัน ไม่ได้สมบุกสมบันแบบทหารออกลาดตระเวน แต่จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์และข้าวของที่ช่วยอำนวยความสะดวก ที่มากกว่าเต็นท์ 1 หลัง หม้อสนาม 1 ใบ แบบแต่ก่อน
แกลมปิง หรือ Glamping มาจากคำว่า ‘Camping’ บวก ‘Glamorous’ หมายถึงการท่องเที่ยวแคมป์ปิ้ง (Camping) แบบหรูหราหรือมีสไตล์ เป็น Niche Market หรือตลาดกลุ่มเฉพาะ ที่มีกำลังซื้อสูง และมีโอกาสในการขยายตัวของสินค้า และบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งเราจะเห็นเทรนด์ของสายแคมป์กระจายตัวอย่างเห็นได้ชัดอยู่ทั่วประเทศ
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กระแสนิยมการท่องเที่ยวแกลมปิงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของ Grandview research พบว่าขนาดตลาดของธุรกิจแกลมปิงโลกเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด -19 โดยในปี 2566 ตลาดแกลมปิงโลกมีมูลค่าถึง 3.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.2 และคาดว่าในอีก 7 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าสูงถึง 5.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของชาวแคมป์ และได้ออกแบบและแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวเอาไว้ในหลายจังหวัด หนึ่งในนั้นคือจังหวัดสุพรรณบุรี
บริเวณท้ายเขื่อนกระเสียว เป็นอีกแหล่งความชิลของสายแคมป์ มีที่พักและลานกางเต็นท์ให้บริการท่ามกลางบรรยากาศทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ท้ายเขื่อน ซึ่งมีวิวภูเขาโอบล้อม
แต่ความชิลของชาวแคมป์ก็ไม่ได้หยุดแค่การใช้ชีวิตแนวผจญภัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เพราะยังประกอบด้วยความสุนทรีในการใช้ชีวิตอื่น ๆ หมายรวมไปถึงการได้อยู่ในบรรยากาศดี ๆ มีไอเดียอาร์ต ๆ ฟังเพลงเพราะ ๆ รวมทั้งการได้พบปะผู้คนคอเดียวกัน

เขื่อนกระเสียว
และงานของชาวแคมป์ที่ได้ชื่อว่าเรียกสายตาของผู้ชมได้ไม่น้อย เป็นอีกงานที่มาเดินเฉย ๆ ก็ดูเท่ เก๋ไปกับเขาด้วย นั่นคืองาน K.A.M.P. ซึ่งหมายถึง Khuen-Art-Music-People จัดโดย ททท. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. – 02.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2567 ณ บ้านไร่ท้ายเขื่อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยงานนี้ไม่คิดค่าค่าใช้จ่ายในการเข้าชมงาน
ภายในงานมีกิจกรรม outdoor หลากหลายรูปแบบที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจกลุ่มนักท่องเที่ยวสาย camping, สาย outdoor, สายถ่ายภาพ, สายอาหาร หรือผู้รักการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น การนั่งรับลมเย็นๆ ริมเขื่อนกระเสียว การเต้นรำใต้แสงจันทร์ การลองลิ้มชิมอาหารท้องถิ่น การพบปะชาวแคมป์ท่านอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือพูดคุยประสาคอมมูนิตี้ชาวแคมป์ รวมทั้งเพลิดเพลินไปกับดนตรีบลูส์
เพิ่มความสุขในแบบชาวแคมป์ด้วยศิลปินที่มาร่วมสร้างสีสัน ประกอบด้วย
ฮิวโก้ – จุลจักร จักรพงษ์ เจ้าของบทเพลงลุ่มลึกที่มาพร้อมน้ำเสียงและการแสดงสดอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งไม่มีบทเพลงของใครเหมาะกับแม่น้ำ ผืนหญ้า ภูเขา และเหล่าชาว KAMP เท่าบทเพลงของเขาอีกแล้ว
พัชชา ชนุดม ศิลปินมากความสามารถ เจ้าของผลงานเพลงที่เป็นไวรัลระดับประเทศ จัดจ้านชัดเจน ทั้งลีลาการแสดงและคาแรคเตอร์ พร้อมแล้วที่จะปลุกชาว KAMP ให้ออกมาเต้นรำพลิ้ว ๆ กลางแสงจันทร์ด้วยกัน
แทน – อติชาต ลี เตรียมฟังดนตรีบลูส์ในสไตล์เฉพาะตัวที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวผ่านเสียงดนตรีที่มีเสน่ห์ให้ชาว KAMP ได้อิ่มหู อิ่มใจ จนไม่อยากลุกไปไหนเพราะนั่งฟังกับใครก็ไม่สุขเท่าได้นั่งฟังด้วยกันที่นี่
ปิดท้ายด้วย Srirajah Rockers ศิลปินที่ภูมิใจนำเสนอ Srirajah Sound System Culture ให้ชาว KAMP ได้สัมผัสพลังของตู้ซับและเสียงเบสที่จะกระแทกไปถึงหัวใจ ซึ่งจังหวะของพวกเขาจะทำให้คุณต้องลุกขึ้นเต้นแบบไม่รู้ตัว
สำหรับอำเภอด่านช้าง นับเป็นพื้นที่เมืองรองอย่างจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังมีความเป็น Unseen อยู่มาก โดยพื้นที่ดังกล่าวยังมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติโดยเฉพาะป่าเขาอันกว้างขวางอุดมสมบูรณ์
รวมทั้งยังมีอุทยานแห่งชาติพุเตย ซึ่งเป็นอุทยานที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาชมทะเลหมอกและสัมผัสอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวโดยไม่ต้องขับรถไปไกลถึงภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อำเภอด่านช้างมีระยะห่างจากกรุงเทพมหานคร เพียง 190 กิโลเมตรเท่านั้น จึงสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวพักค้างแรมได้อย่างสะดวกสบาย
งานนี้ได้ฟังดนตรีดี ๆ อันเป็นที่ชื่นชอบอย่างสาแก่ใจ แถมได้สัมผัสบรรยากาศแบบชาวแคมป์ ที่ใช้ชีวิตกันแบบเรียบง่าย แต่มีสไตล์ โดยเฉพาะการแต่งองค์ทรงเครื่องของแต่ละคนซึ่งมีเอกลักษณ์ ให้ชีวิตชีวาแบบงานเทศกาลดนตรีเก๋ ๆ ออกแนววินเทจอีกงานหนึ่ง
#KAMP
#AmazingThailand
#การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
#CampLife #BanRaiTaiKhuean
#KhueanKrasiao #SuphanBuri