Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ข้าวหย่ากู๊-ข้าวปุกงา กับภูมิปัญญาน่าทึ่งจากใบตองตึง

หากย้อนไปไกล ๆ หลายสิบปีก่อน ตอนที่การโดยสารข้ามจังหวัดไม่ได้สะดวกสบายเช่นวันนี้ การได้ไปเยือนจังหวัดที่มีรากฐานทางศิลปะวัฒนธรรมที่แตกต่าง แม้จะเป็นเมืองไทยด้วยกัน ก็ดูตื่นตาตื่นใจไปเสียหมด

แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะมี  “ถนนคนเดิน” ภาพของการเที่ยวชมตลาดของคนพื้นเมืองอยู่ในช่วงเช้า นอกจากการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่ในแต่ละจังหวัดแล้ว ตลาดเช้านี่แหละ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน ได้สัมผัสกับคนท้องถิ่น การกิน อยู่ แบบชาวบ้านจริง ๆ

ถนนคนเดินหอนาฬิกาแม่ฮ่องสอน ช่วงค่ำ ๆ จะมีการแสดงของนักเรียนนักศึกษาบริเวณทางเข้า

หลังจากมีรูปแบบ “ถนนคนเดิน” เกิดขึ้น  เกิดเป็นกิจกรรมที่เพิ่มรสชาติของการท่องเที่ยวได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และถือเป็นการกระจายได้ให้กับชุมชนนอกเหนือจากการค้าขายปกติทั่วไป นอกจากพ่อค้าแม่ค้าดั้งเดิมแล้ว คนรุ่นใหม่ก็มีช่องทางในการนำเสนอสินค้าของตัวเองด้วย จนปัจจุบัน มีตลาดชุมชน ตลาดนัด ตลาดน้ำ ฯลฯ เกิดขึ้นเป็นทางเลือกอีกมาก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็จะไม่ลืมนำเสนอเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการดึงดูดให้ผู้คนเข้าเที่ยวชม

ข้าวเหลืองเนื้อลุง เป็นอีกร้านที่นำเสนอของกินท้องถิ่นรสชาติหอมอร่อย คล้าย ๆ กินข้าวเหนียวกับไส้อั่ว

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาพของการท่องเที่ยวซบเซาไปนาน และถนนคนเดินหลายแห่งก็ปิดไป แต่ตอนนี้หลายแห่งก็เริ่มกลับมาสร้างสีสีนกันแล้ว แต่ละแห่งก็มีการควบคุมด้านสุขอนามัยกันอย่างเคร่งครัด อย่างถนนคนเดินเส้นเล็ก ๆ ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน หรือ ถนนคนเดินหอนาฬิกาแม่ฮ่องสอน ที่เราได้เดินทางไปครั้งล่าสุด

ปัจจุบันแผงค้าทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบกะดินในถนนคนเดินหอนาฬิกาแม่ฮ่องสอน เรียงรายกันเป็นแนวยาว กะประมาณแล้วไม่เกิน 50 ร้าน มีทั้งของกิน ของใช้ ของฝาก สินค้ามือสอง รวม ๆ กันไป แต่เป้าหมายของหลายคนก็อยากจะเจอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ต้องมีเพียงที่นี่เท่านั้น ถึงจะเรียกว่าครบรส นับเป็นจุดสูงสุดของนักเดินตลาดนัดเลยก็ว่าได้

“ข้าวปุกงา” เสียบไม้ แวบแรกที่ทำให้เราหยุดมองร้านป้าญิง

เราเดินเล่นอย่างช้า ๆ ท่ามกลางสายลมเย็นยามค่ำในเมืองแม่ฮ่องสอน มาหยุดยืนอยู่ที่ร้านที่มีคนยืนมุงอยู่สองสามคน เป็นร้านตั้งโต๊ะขายขนมโบราณที่ชื่อว่า “ข้าวปุกงาสูตรโบราณ” และ “ข้าวหย่ากู๊สูตรโบราณ” ของ ”ป้าญิง” (สะกดตามชื่อป้ายคล้องคอและชื่อที่ป้าเขียนติดไว้เลย) ยืนดูสักพัก ก็ขอกวนป้าญิงสักหน่อย

“ข้าวหย่ากู๊” ตักโดยไม้พายที่ทำจากไม้ไผ่

ป้าญิงเล่าด้วยน้ำเสียงพื้นเมืองว่า ข้าวปุกงาเป็นอาหารหรือขนมของชาวไทใหญ่ ทำมาจากธัญพืช หลัก ๆ คือ ข้าวและงา สาระสำคัญของมันคือ จะทำกินเฉพาะช่วงหน้าหนาว ที่มีข้าวใหม่-งาใหม่ออกมา จึงทำกินกันประมาณ 4 เดือนเท่านั้น เมื่อผลัดเปลี่ยนฤดูกาลไปแล้วก็จะเป็นขนมชนิดอื่นตามวัตถุดิบที่มี ซึ่งช่วงหน้าหนาวชาวไทใหญ่ทุกเผ่าก็จะทำขนมชนิดนี้ไว้กิน ส่วนใหญ่ก็จะทำกินกันเอง นับเป็นของหากินยาก ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนก็น่าจะมีแค่เพียงร้านของป้าญิงเท่านั้น และกระบวนการก็ยังดั้งเดิม ใช้ครกตำกับมือจนละเอียด กวนบนไฟใส่เกลือเล็กน้อย แล้วนำไปรีดหรือแผ่แบน ๆ บนกาบไม่ไผ่ ป้าบอกว่าต้องเป็นกาบไม่ไผ่เท่านั้น เพราะต้องรีดตอนร้อน ๆ หากเป็นใบตองจะมีเหงื่อหรือไอน้ำทำให้ขนมไม่แห้งดังที่ต้องการ

ราดด้วยน้ำหวาน ๆ จากน้ำตาลอ้อย โดยใช้กระบวยจากไม้ไผ่

ดูง่ายและไม่ซับซ้อนอะไรมาก เมื่อจะกินก็นำมาราดน้ำอ้อยแทนน้ำตาล ก็หอมหวานเหนียวหนุบ ได้ประโยชน์จากธรรมชาติ อีกอย่างคือ “ข้าวหย่ากู๊” ซึ่งก็มาจากวัตถุดิบธรรมชาติเช่นกัน ต้องใช้ข้าวเหนียวดอย หรือ ข้าวเหนียวมูเซอ มากวนกับน้ำอ้อยและงาหม่อน ตอนกินก็ราดงาขาว และถั่วลายเสือคั่ว รวม ๆ แล้วก็คือของดีทั้งนั้น

ป้าญิงที่ยังมือระวิง อธิบายต่อว่า ข้าวหย่ากู๊ เป็นข้าวที่ทำเพื่อถวายพุทธเจ้า ในวันมาฆะบูชา เมื่อเราเผลอพูดคำว่า “ข้าวยาคู” ด้วยความเคยชิน ป้าญิงรีบบอกเขาเรียกว่า “ข้าวหย่ากู๊ ๆ ” ก็สร้างรอยยิ้มให้คนที่กำลังรอชิมขนมของป้าในตอนนั้น

เชื่อว่าใครที่ผ่านมาร้านป้าญิง ยังไงก็ต้องแวะดูว่า แผ่นดำ ๆ นี่คืออะไร และสนใจก็ต้องลองชิม ขายในราคาห่อละ 20 บาท  แต่กระบวนการขายของป้าที่เรียกว่าเป็นอีกจุดขายและจุดสำคัญของเรื่องนี้ คือ การนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้

ป้าญิงนำใบตองตึงมาพับเป็นกระทงแล้วกลัดด้วยก้านไม้ไผ่ ร้อยด้วยเชือกจากไผ่

เริ่มต้นตั้งแต่ที่เราเห็นได้ชัดคือ กระทงที่ใส่ขนม ทำมาจาก “ใบตองตึง” ที่ใช้ไม่กลัดและเชือกจากไม้ไผ่ ป้าญิงบอกว่า เป็นใบไม้หาง่ายไม่ว่าไปไหนก็เจอ ไม่ต้องซื้อต้องหา จึงไม่มีต้นทุนอะไร นอกจากนำมาเป็นกระทงแล้ว ป้าญิงยังพิถีพิถัน เพราะบางคนซื้อแล้วยังไม่กินทันที ป้าก็นำใบตองตึงนี่แหละ นำมาทำฝาปิดให้ด้วย และกระบวนการกลัด การร้อยเชือก การปิดห่อ ก็ทำกันตรงนั้น แต่ละห่อก็เลยใช้เวลานานหน่อยนึง ทำให้ลูกค้าได้เพลินกับภูมิปัญญาเจ๋ง ๆ แบบนี้ไปด้วย

ฝาชีจากใบตองตึงทั้งใบ นำมาซ้อนกันเพิ่มความหนา แล้วร้อยด้วยเชือกไผ่อย่างง่าย แต่เก๋ไก๋สุด ๆ

นอกจากการห่อขนมแล้ว ในร้านยังมีการนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ ใครไม่สังเกตก็อาจจะไม่ทันเห็น เริ่มตั้งแต่ฝาชีที่ปิดถาดขนม ก็มาจากใบตองตึงขนาดใหญ่มาทับซ้อนกันแล้วร้อยด้วยเชือกไม้ไผ่ ที่คีบขนมก็ทำจากไม้ไผ่ แต่ที่ชอบใจเรามากเป็นพิเศษคือ กระปุกงาขาว ซึ่งมีลักษณะใช้งานเหมือนกระปุกเกลือหรือพริกไทย ป้าญิงเอาใบตองตึงนี่แหละ มาพับและม้วนเป็นรูปทรงคล้าย ๆ กรวย เหลือรูเล็ก ๆ ไว้ให้เหยาะงาออกมาได้ แต่ที่ไม่ได้ถามคือ ทำอย่างไรให้มันตั้งได้ อันนี้ชอบมาก เพราะรูปลักษณ์เก๋ไก๋ ง่ายงาม จนน่าจับมาเป็นไอเดียต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์จากใบตองตึงได้เลย

ชอบสุด ๆ กับขวดเหยาะงาสุดเท่อันนี้

คุยกับป้าญิงพอหอมปากหอมคอ พอได้ประดับรอยยิ้มและความทรงจำ ไม่กวนเวลาของป้าและลูกค้าท่านอื่นมากไป เราก็ได้ขนมไทใหญ่มาสองรายการ เดินหิ้วด้วยความชื่นชมไปทั่วตลาด นับเป็นการบรรลุเป้าหมาย ในถนนคนเดินแม่ฮ่องสอนอย่างสมบูรณ์

ป้าญิง

ถนนคนเดินหอนาฬิกา อ.เมือง แม่ฮ่องสอน

เปิดทุกวัน เย็น ๆ ไปจน ค่ำ (ประมาณ 2-3 ทุ่ม)

แถว ๆ ถนนคนเดินมีร้านปิ้งย่างหมาล่าและขายเครื่องดื่ม ให้นั่งชมบรรยากาศตลาดกันด้วย

ป้าญิง โทร.09 4507  0054

(Update 2 ก.ค.2565 ได้ทราบข่าวว่า ป้าญิง ได้จากไปด้วยอุบัติเหตุเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ทีม meethimks ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอให้ภูมิปัญญาข้าวหย่ากู๊-ข้าวปุกงา ได้รับการสืบสานต่อไป ดังที่ป้าญิงเคยทำมาตลอด)

Post a comment

nineteen − 1 =