Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

จากญี่ปุ่น ไปฮอลันดา อยุธยาวันเดียวเที่ยว 3 ประเทศ

เรื่องราวของดาวเจ้าหญิงทอผ้า หรือ โอริฮิเมะโบชิ (Orihimeboshi) กับ ดาวชายเลี้ยงวัว (Hikoboshi) ที่ได้รับอนุญาตให้ข้ามทางช้างเผือกมาเจอกันได้ในคืนวันที่ 7 กรกฎาคมเพียงปีละหนึ่งครั้ง เป็นที่มาของเทศกาลทานาบาตะ (Tanabata Festival)  ซึ่งสร้างสีสันและความสุขให้กับชาวญี่ปุ่น โดยจะมีการจัดเทศกาลนี้ตามเมืองต่างๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี

โดยเฉพาะวันที่ 7   ซึ่งในวันนี้ชาวญี่ปุ่นก็จะเขียนคำอธิษฐานของตนใส่กระดาษสีแล้วนำไปแขวนบนต้นไผ่ แล้ววันรุ่งขึ้นจะนำกระดาษคำอธิฐานเหล่านั้นไปเผา หรือพับเป็นเรือเพื่อลอยน้ำ เสมือนเป็นการส่งคำขอนั้นไปหาดวงดาวเพื่อดลบันดาลให้คำอธิฐานนั้นเป็นจริง

ประเทศไทยมีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มาตั้งแต่อดีต ปรากฏหลักฐานเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นมาอาศัยอยู่ในสมัยที่การค้าขายเฟื่องฟู ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะไม่ภาพของหมู่บ้านญี่ปุ่นให้เห็นแล้ว แต่ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวของหมู่บ้านญี่ปุ่นเอาไว้ ซึ่งมีทั้งส่วนของพิพิธภัณฑ์ การจัดสวนแบบญี่ปุ่น พร้อมด้วยกิจกรรมในโอกาสสำคัญๆ รวมทั้ง “เทศกาลขอพรจากดวงดาว Tanabata Festival” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 7-8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยงานในครั้งนี้ยังถือเป็นการสานสัมพันธ์ 130 ปี ไทย-ญี่ปุ่น อีกด้วย

ภายในงานเต็มไปด้วยสีสันของผู้เข้าร่วมงานที่แต่งกายในชุดยูกาตะ ชมศิลปะการแสดงของญี่ปุ่น ชิมอาหารญี่ปุ่น พร้อมร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น เรียนรู้การพับกระดาษแบบญี่ปุ่น การเขียนพู่กันญี่ปุ่น เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ของไทย-ญี่ปุ่น เมื่อสมัยอยุธยา และยังได้เดินชมสวนสวยสไตล์ญี่ปุ่นที่จัดแสดงอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งสวนแห่งนี้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 80 พรรษา และเป็นที่ระลึกถึงวาระครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550

แน่นอนว่างานนี้ ทุกคนที่เข้าร่วมจะได้เขียนคำขอพรบนกระดาษ ส่วนจะอธิษฐานว่าอย่างไร ก็ตามแต่ใจปรารถนา

เมื่อได้เข้าชมเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แล้ว เรายังได้ทราบว่า ในหมู่บ้านญี่ปุ่นในอดีตนั้น มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพ่อค้า กลุ่มโรนิน หรือนักรบญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในอยุธยา และกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ ที่เดินทางออกจากญี่ปุ่นเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยมีการจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ไว้บริเวณอาคารด้านหน้า

อาคารอีกหลังซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ คืออาคารนิทรรศการและมัลติมีเดีย แสดงเรื่องราวของ ยามาดะ นางามาซะ ออกญาเสนาภิมุข และท้าวทองกีบม้า ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ภายในจัดแสดงเรื่องราวและหุ่นจำลองของ นากามาซา ยามาดา ขุนนางชาวญี่ปุ่นในราชสำนักอยุธยา รวมทั้ง หุ่นขี้ผึ้งท้าวทองกีบม้า ซึ่งรู้จักกันดีในละครบุพเพสันนิวาส

ท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา)  เป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส  สมรสกับ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในชีวิตจริงของเธอในช่วงบั้นปลายของชีวิตได้เข้ารับราชการในตำแหน่ง “ท้าวทองกีบม้า” หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศ ซึ่งได้นำของหวานสไตล์โปรตุเกส อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง มาเผยแพร่ในประเทศไทย

(หมู่บ้านญี่ปุ่น ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดทำการทุกวัน 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชม คนไทย 50 บาท  นักเรียน 20 บาท)

นอกจากหมู่บ้านญี่ปุ่นแล้ว ในสมัยอยุธยายังมีความสัมพันธ์ด้านการค้ากับอีกหลายชนชาติ ใกล้ๆ กับหมู่บ้านญี่ปุ่น จึงยังมีหมู่บ้านของชนชาติอื่นตั้งอยู่ด้วย อาทิ หมู่บ้านโปรตุเกสที่อยู่ฝั่งตรงข้ามโดยมีแม่น้ำคั่นกลาง หรือ หมู่บ้านฮอลันดา (เนเธอแลนด์) ที่อยู่ไม่ไกลจากกัน ซึ่งวันนี้เราจะแวะเข้าไปชม

หมู่บ้านฮอลันดา หรือ บ้านฮอลันดาในวันนี้เหลือเพียงอาคารคลังสินค้า (เดิมเหลือเพียงฐานราก) กรมศิลปากรได้เข้ามาขุดแต่งในระหว่างปี พ.ศ. 2546-2548  และในปี พ.ศ. 2552-2553 ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ อาทิ เครื่องกระเบื้องจีน  เครื่องปั้นดินเผา กล้องสูบยาของดัตช์ และเหรียญเงินตราดัตช์ เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ที่บ้านฮอลันดาในปัจจุบัน มีอาคารเพียงหนึ่งหลัง สีสันสวยงาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างใหม่โดยยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของสถานีการค้าดัตช์ เท่าที่พอจะหาหลักฐานได้ แล้วเสร็จในปี 2554 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์และงบประมาณจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ส่วนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพนัญเชิง ซึ่งอยู่ติดกัน

อาคารแห่งนี้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและดัตช์   ซึ่งจะไม่มีโบราณวัตถุจัดแสดงเหมือนพิพิธภัณฑ์โบราณอื่นๆ   โดยส่วนจัดนิทรรศการจะอยู่ชั้นสอง เป็นส่วนนิทรรศการที่แนะนำให้รู้จักว่าชาวดัตช์คือใคร เหตุใดบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาหรือวีโอซี(VOC) จึงมาทำการค้ากับอยุธยา  การค้าขายในสมัยอยุธยาเป็นอย่างไร แล้วพวกดัตช์ใช้ชีวิตอย่างไรในอยุธยา เป็นต้น

บริเวณชั้นล่างเป็นส่วนของร้านกาแฟ เหมาะกับการแวะเข้ามาพักผ่อน รับลมเย็นๆ  บริเวณด้านนอกอาคาร  เป็นส่วนขุดแต่งโบราณสถานที่เป็นสถานีการค้าเดิม ที่กรมศิลปากรขุดแต่งไว้เมื่อครั้งเฉลิมฉลอง 400 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์

นับเป็นอีกวันที่เราได้มุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะแวะไปไหว้พระและเที่ยวชมโบราณสถานอันงดงาม ที่มากี่ครั้งก็ยังไม่เบื่อ และแน่นอนว่า การเติมพลังระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในอยุธยาก็ต้องเป็น ก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยา

(บ้านฮอลันดา หมู่ 4 ซอยคานเรือ (ติดกับวัดพนัญเชิง) ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000 โทร. 035-235-200 เปิดพุธ-อาทิตย์ เวลา 9.00-17.00)

Post a comment

17 − 5 =