Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เป็นไกด์ก็ต้องมีแบรนด์ นี่แหละเขา “ชายระวีร์”

ความสุขของการเดินทาง เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง ไปจนถึงการเดินทางสิ้นสุดลง และยังคงอานุภาพอีกยาวนานภายใต้สิ่งที่เรียกว่าความทรงจำ
แล้วอะไรบ้าง ที่จะอยู่ในความทรงจำจากการเดินทางของคนเรา อาหาร สถานที่ ความเป็นมิตรของเจ้าบ้าน หรือ คนข้างๆ   จะมีสักครั้งไหม ที่เราจะจดจำใครอีกคนหนึ่ง

เพราะการเดินทางท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ ล้วนมีองค์ประกอบต่างๆ นานา ความสะดวกสบายในการเดินทาง อาหารอร่อย ที่พักสะอาดปลอดภัย สถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม สภาพอากาศที่เอื้ออำนวย

แต่ผู้ที่จะทำให้เรื่องราวเหล่านั้นกลมกล่อม ไม่ว่าสถานการณ์จะบวกลบ ก็ตลบจนเข้าที่  เขาคือ “มัคคุเทศก์” หรือ “ไกด์” ผู้ที่น้อยครั้ง จะได้รับการบันทึกไว้ในความทรงจำ และอาจจะถูกมองเมินตั้งแต่พบหน้า

แต่ไม่ใช่สำหรับชายคนนี้ ไกด์ผู้ซึ่งอยู่ในความทรงจำของนักท่องเที่ยว และเป็นไกด์ที่ถูกเรียกร้องให้กลับมานำทริปในโอกาสต่อไปอยู่เสมอ

วัดเขากง นราธิวาส

ใช่แล้ว “ชายระวีร์” เขาคือไกด์ที่ลูกค้าเลือก ไม่ใช่ไกด์ที่บริษัททัวร์เลือก…

“สวัสดีครับ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเคยเดินทางมามาก ทั้งในและต่างประเทศ ท่านรู้จักการเช็คอิน รู้หลัก 6 7 8 ในตอนเช้า วันนี้เราลองเอาประสบการณ์มาปรับใช้กับการเดินทางอีกครั้งนะครับ อาหารการกินในแต่ละมื้ออาจจะไม่ประทับใจไปเสียทั้งหมด โรงแรมแต่ละที่อาจจะไม่ถูกใจทุกท่าน ….

เสียงก้องกังวานของชายระวีร์ ดึงความสนใจให้ต้องหันมอง ดัง ฟังชัด อักขระชัดเจน จนได้รับการชื่นชมจากบรรดาลูกทัวร์ว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกเสียงภาษาไทยในขั้นที่ดีมาก

“หลังจากเรียนจบมา ผมก็สมัครงานในสายที่เรียนมา แต่ก็ไม่ได้รับการเรียกตัว โชคดีที่มีพื้นฐานการทำทัวร์ สมัยเรียนปริญญาตรีมีพี่คนหนึ่งดึงไปช่วยงานทัวร์ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าไปทำอะไร ไปถึงก็รู้แค่ว่าไปเป็นคนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกทัวร์ เริ่มต้นจากทัวร์เกาะสุรินทร์-สิมิลัน ตั้งแต่ครั้งนั้นก็เริ่มหลงเสน่ห์การท่องเที่ยวและการเป็นไกด์ บวกกับบุคลิกพื้นฐานของเรา ที่ชอบทำให้คนสนุก เป็นคนที่มีความสุขกับการใช้ชีวิตกับคนหมู่มาก ชอบให้ทุกคนหัวเราะ เพราะเวลาที่ทุกคนหัวเราะ เราก็มีความสุขไปด้วย”

แม้จะไม่สมหวังกับเส้นทางที่เคยคาดหวัง เรียนจบมาเขาก็กลับไปทำทัวร์ เริ่มต้นจากนั่งเคาน์เตอร์ฝ่ายขาย 4 ปี สลับกับการออกทัวร์ จนเข้าช่วงฟองสบู่เริ่มพองโตเต็มที่ ช่วงปี 2538-2539 เศรษฐกิจเมืองไทยปั่นป่วนอย่างหนัก ขณะที่เขากำลังก้าวหน้าในอาชีพขึ้นมาอีกขั้น ได้เริ่มออกทัวร์ต่างประเทศ แต่เมื่อมาสะดุดฟองสบู่แตก เขาจึงจำใจเดินไปลาออก

“ช่วงนั้นบริษัทต้องให้พนักงานออกทีละคนๆ ผมโม่อยากโดนไล่ออก จึงไปยื่นหนังสือลาออกด้วยตัวเอง พอไปถึงเจ้าของบริษัทบอกว่าผมไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่จะให้ออกนะ จะออกทำไม ฟังแล้วก็เศร้า แต่ได้ลั่นวาจาไปแล้ว  อีกอย่างหนึ่งคือคิดถึงบ้าน อยากกลับไปอยู่กับพ่อแม่พี่น้อง เพราะตั้งแต่จบ ม.3 จนทำงาน ก็มาเรียนหนังสือและทำงานที่กรุงเทพฯ นานๆ จะกลับไป ไปทีก็อยู่แค่ไม่กี่วัน”

ชายระวีร์ กลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึง 7 ปี แต่สุดท้ายก็ทนเสียงเรียกร้องของหัวใจไม่ไหว เขากลับมาเป็นไกด์อีกครั้ง ในปี 2547 และครั้งนี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นอย่างจริงจัง ท่ามกลางเสียงปรบมือต้อนรับของเพื่อนๆ ในวงการ รวมทั้งเพื่อนร่วมงานที่เคยนั่งฝ่ายขายด้วยกัน ซึ่งวันนั้นหลายคนก็เป็นเจ้าของกิจการบริษัททัวร์แล้ว

“ผมกลับมาในฐานะไกด์อิสระ ท่ามกลางเพื่อนๆ ที่ยินดีว่า ผมจะกลับมาสร้างสีสันได้อีกครั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่ผมรับงาน เจ้าของบริษัทก็สบาย ปล่อยมือได้เลย หากองค์ประกอบของการท่องเที่ยวสมันดีอยู่แล้ว ไกด์จะเข้ามาเติมเต็มให้คนเดินทาง ได้เจอไกด์ที่อารมณ์ดี มีความจริงใจ สร้างความสุขให้การเดินทางในครั้งนั้นให้เต็มอิ่มมากขึ้น ชื่อเสียงของผมเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ จากการสนับสนุนของเพื่อนและผลงานที่เราทำมา จนได้ทำทัวร์ต่างประเทศ ซึ่งบางครั้ง ผมก็ไม่ได้ไปในฐานะไกด์ แต่ไปในฐานะบัสเอ็นเตอร์เทน เพราะลูกค้าเขาเคยไปทริปในประเทศกับเรา เขารู้จักและจดจำชายระวีร์แล้ว พอเขาไปต่างประเทศก็บอกว่า ขอเป็นชายระวีร์นะ  นั่นแหละผมจึงคิดว่า แบรนด์ชายระวีร์มันมาแล้ว”

 

สกายวอล์ค ปัตตานี

เล่ามาถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่า แล้วชายระวีร์ แตกต่างจากไกด์ทั่วไปอย่างไร แค่พูดชัด อารมณ์ดี แค่นี่ก็สร้างการจดจำได้แล้วหรือ

“ผมหลุดจากการทำทัวร์ในลักษณะแพทเทิร์น อย่างที่หลายคนอาจจะเห็นว่า ไกด์ที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมด แต่ผมใช้ดนตรีมาประกอบการเดินทาง ใช้เพลงในการทำให้คนรู้สึกว่า การเดินทางคือการเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เคยเป็นศิลปินมาก่อน  ด้วยพื้นฐานเป็นคนชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก และได้เร่ิ่มทำเพลงมาตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่น้องๆ ที่รู้จักกันเติบโตมาเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์กันมาก ต้นทุนการผลิตก็ต่ำลง มีช่องทางให้เผยแพร่ได้ง่ายขึ้น แต่ผมไม่เคยให้ใครทำงานฟรีนะ จะโยนเงินไปก้อนหนึ่ง แล้วครีเอทงานขึ้นมา จนได้เป็นเอ็มวี  ผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง จนได้รับรางวัล มหานครอวอร์ด ประเภทศิลปินลูกทุ่งเพื่อชีวิตหน้าใหม่ฝ่ายชายยอดนิยม จาก คลื่นวิทยุ FM 95 ลูกทุ่งมหานคร”

เราอาจจะต้องขอพักเรื่องอาชีพมัคคุเทศก์ไปชั่วคราว ด้วยความสงสัยว่า เมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในสายงานเพลงที่ตัวเองก็ชื่นชอบ แล้วทำไมถึงไม่เดินไปต่อ  

“ตอนได้รางวัลคืออัลบั้มที่ 2  อัลบั้มแรกทำแล้วเก็บไว้ เพราะสมัยนั้นยังไม่มียูทูบ เพลงที่ดังจนได้รางวัลคือ สู้ให้โลกรู้ ทำในช่วงน้ำท่วมกรุงเทพ โทรไปขอเองบ้าง มีคนอื่นขอบ้าง จนติดชาร์ตนานพอสมควร เขาก็จัดให้ได้รางวัล ตอนนั้นชื่อเสียงเริ่มมา เริ่มมีคนติดต่อเข้าวงการเพลง แต่พอเข้าไปแล้ว เริ่มรู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ มันไม่ใช่สังคมที่ผมควรไปอยู่  ผมจึงดีดตัวออกมาทำเอง ลงทุนเอง  นำเสนอด้วยตัวเอง เน้นเพลงสร้างสรรค์เพื่อสังคม ผมชอบทำเพลงเพลงที่เกิดจากความรู้สึกจริง เหตุการณ์จริง เอาความจริงมาแปรเปลี่ยนเขียนเป็นเพลง เพลงของผมส่วนใหญ่จึงเป็นเพลงแนวให้กำลังใจ ใช้วิธีถ่ายทอดให้กับคนใกล้ตัวฟังก่อน เพราะไม่ได้หวังยอดเป็นร้อยล้านวิว  ตอนนี้อัลบั้มที่ 3 แล้ว เพลงที่มียอดสูงสุดก็แค่แสนวิว ต่ำสุดก็ยังหลักร้อย คนที่ติดตามก็คือคนที่รู้จักและชื่นชอบผม และเพื่อนๆ ของผม ล่าสุดกำลังทำเอ็มวีเพลง ยอมรับไม่ยอมแพ้ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากพี่สาวที่เป็นมะเร็งระยะที่ 3 แล้วหายได้ด้วยความรู้และกำลังใจ รู้จักเลือกกินให้เป็นพลังงาน และใจต้องสู้ โดยมีผู้ป่วยมะเร็งที่หายแล้วอีก 3 คนมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ จนออกมาเป็นเพลงนี้

ผมกำลังบอกว่า ผมกำลังจะทำเพลงเพื่อสร้างสรรค์สังคมบ้าง จริงๆ ไม่ใช่ผมคนเดียวนะ ยังมีศิลปินอีกหลายคนยืนหยัดในการทำเพลงที่เป็นประโยชน์กับคนฟัง สุดแล้วแต่ว่าใครจะฟังหรือไม่ฟัง เราก็ทำต่อ เดินต่อ เราภูมิใจ โดยที่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการตลาด”

เข้าห้องอัด เพลงยอมรับไม่ยอมแพ้

 

ความเป็นศิลปินนักร้อง อาจจะเป็นอีกแรงเสริมสำหรับอาชีพไกด์ แต่เปล่าเลย ไม่ใช่ชื่อเสียงที่ทำให้คนยอมรับชายระวีร์ในฐานะไกด์ แต่หมายถึงศิลปะการสื่อสาร และการสร้างสรรค์วิธีเล่าเรื่องราวในแบบฉบับที่ทำให้ทุกคนได้ยิ้ม

“วันนี้สิ่งที่ผมต้องทำในฐานนะมัคคุเทศก์ คือ การรักษาภาษาไทย ไม่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ  ผมเชื่อมั่นและอยากแนะนำว่า ถ้าเมื่อไหร่คุณใช้ภาษาไทยได้ชัดเจน พูดได้มีจังหวะ อักขระคมชัด ก็จะสร้างความสนใจนักท่องเที่ยวที่ขึ้นรถมา ตอนแรกไม่มีใครสนใจเรา พอพูดไปสักสองสามนาที สังเกตได้เลยว่า เขาเอียงคอมาดู จากนั้นก็เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี ไกด์ทุกคนมีความรู้ แต่มันขึ้นอยู่กับการกถ่ายทอดออกมา ไกด์ไม่จำเป็นต้องเล่าประวัติศาสตร์เหมือนตัวเองเกิดในยุคนั้น เพราะมันก็หมายถึงการหนังสือดีๆ นี่เอง ต้องนำมาผูกเป็นการเล่าเรื่องที่สนุก นำเอาเรื่องเล่ามาผูกโยง รู้จักจังหวะการใช้เสียง แต่ต้องไม่เสแสร้ง จะไปว่ามันก็เหมือนพรสวรรค์ แต่สำหรับผมก็ต้องอาศัยพรแสวง ผมเองยังต้องฝึกพูด โดยมีต้นแบบจากพิธีกรรายการทีวีที่ผมชอบ เดินพูดคนเดียวภายในบ้าน นี่คือการหลุดจากกรอบเดิมๆ ของคำว่าไกด์ และได้กลายเป็นตัวอย่างของน้องๆ ซึ่งบางคนเรียกผมว่าไอดอล และพยายามสอบถามว่าผมทำยังไง ผมบอกว่ามันเกิดจากใจและความรู้สึก บวกกับจินตนาการ จากประสบการณ์  เด็กวัยรุ่น 14-15 จึงยังเป็นไกด์ที่ดีไม่ได้ ถ้ายัง เอ่อ…นะครับ อ่ำ….ในส่วนนี้นะครับ เสน่ห์มันยังไม่มา และจะไปคุมคนที่อายุมากกว่าก็ไม่ได้ แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่มีแต่ผมนะ คนเก่งๆ ในวงการยังมีอีกหลายท่าน”

ในวันที่การเดินทางด้วยตัวเองเป็นเรื่องง่าย ข้อมูลต่างๆ หาได้ในอินเตอร์เน็ต อาชีพไกด์จึงอาจจะต้องปรับตัว เพื่อไม่ให้เป็นแค่หุ่นยนต์เคลื่อนที่ ที่บันทึกข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไว้ แล้วเดินทางไปกับเรา

“ผมต้องการให้ทุกคนให้ความสำคัญกับมัคคุเทศก์  ให้ได้รู้ว่าเดินทางกับทัวร์แล้วมีประโยชน์ยังไง  ไม่อยากได้ยินว่า จะมาทำไม พูดเองก็ได้ เล่าไม่เห็นรู้เรื่อง เล่าอย่างนี้ ใครๆ ก็เป็นไกด์ได้ รู้อย่างนี้เป็นไกด์ซะเองดีกว่า วันนี้ผมภูมิใจที่ทำให้ทุกคนมีความสุขและประทับใจ และผมเองก็จะแอคทีฟตัวเองอยู่เสมอ อยากให้ในทุกๆ เช้า ทุกคนอยากเจอว่า วันนี้ชายระวีร์จะมีอะไรสนุกๆ มาฝาก

ยะลา คือ ยาลอ ยาลอ คืออะไร ตอบครับ มีช้อยส์ให้เลือก ผมจะไม่บีบบังคับให้ต้องลุกขึ้นตอบ เพราะบางคนก็อาย ผมเตรียมพร็อพ เตรียมกระดาษให้เขียนส่งมา ใครถูกรับรางวัล แนวผมจะไม่มีการตั้งคำถามว่า ใครเคยมายะลาบ้างไหม ใครเคยมาภูเก็ตไหม วันนี้ต้องเลิกถาม แต่ผมจะพูดว่า หลายท่านคนเคยมายะลา บางท่านอาจจะเคยมายะลา ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เป็นอีกประสบการณ์ที่ดี

ส่วนการตอบคำถาม อันไหนตอบไม่ได้ก็ต้องยอมรับ ขอโทษนะครับ ผมตอบไม่ได้จริงๆ ไม่ใช่แบบ เอ่อ อ่า รู้สึกว่า น่าจะ… ผมไม่ทำอย่างนั้น ต้องบอก ว่า ผมไม่ทราบจริงๆ เดี๋ยวสักครู่ผมหาข้อมูลให้ บางทีมันไม่ได้บันทึกไว้ อะไรก็ว่าไป ต้องตอบให้ชัด เพราะทุกคนชอบคนซื่อสัตย์ซื่อตรง

มัคคุเทศก์เป็นศิลปะ เมื่อจับทิศทางมนุษย์ทุกชนชั้นได้เมื่อไหร่ ก็สามารถยืนอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผย และมันเป็นงานที่สร้างสรรค์ ผมเป็นไกด์คนแรก ที่ทำเพลงแบบนี้มาใช้กับงานไกด์ อย่างเพลงสำเริงสำราญ  นำมาประกอบการเดินทาง ให้เขาสนุกและผ่อนคลาย แต่ยังไงก็ต้องสังเกตอารมณ์ของลูกค้า หรือแม่แต่การคุย ขณะที่ใช้สายตามอง เราจะเห็นอากับกริยา บางคน เราเห็นเหมือนไม่สนใจ แต่เขาฟังอยู่นะ บางคนมีประสบการณ์เที่ยวมามาก จนมานั่งจับผิด บางคนรู้เยอะจนพยายามมาสอดแทรกให้คำแนะนำ บางคนก็น่ารัก มันมีหมด”

อ่าวมะนาว นราธิวาส

มาถึงใจความสำคัญของทริป 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำให้เราได้พบกับชายระวีร์ พร้อมผู้ร่วมทริปที่มีแต่รอยยิ้ม แม้จะอยู่ในพื้นที่ซึ่งอยู่ในความกังวลของทุกๆ คนก็ตาม ชายระวีร์ จะสื่อสารให้ผู้ร่วมทางได้ใจชื้นกับเส้นทางนี้อย่างไร

“วันนี้เราจะไม่กระตุ้นให้มีความรู้สึกหวาดกลัวในพื้นที่ความไม่สงบ แต่จะทำยังไงให้เขาลืมๆ มันไป ผมก็บอกไปว่า เชื่อว่าหลายท่านคงเคยเดินทางมาเที่ยว 3 จังหวัดนี้เป็นครั้งแรก เหตุการณ์ที่ทุกท่านรับรู้มา อย่าเก็บไปคิดให้เป็นประเด็น เรามาดูรายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและยังสวยสดงดงาม อย่างการปักหมุดของกรมแผนที่ทหาร ให้เบตงเป็นใต้สุดแห่งสยาม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ได้โอบกอดขุนเขา กับอากาศที่เย็นตลอดทั้งปี แม้กลางวันจะร้อนบ้าง แต่ไม่เหมือนกรุงเทพนะครับ เจอแดดแล้วเข้าที่ร่ม ความร้อนก็จะหายไป  พอลูกค้าเริ่มตั้งคำถาม เราก็โจ้กกลับไปบ้าง มีคนถามว่า มีทหารมานำหน้าขบวนรถจะดีหรือ เพราะเขาฟังมาว่า ทหารคือเป้าหมาย ผมบอกว่า ไม่ต้องกลัวหรอกครับ ทหารนำก็ดีแล้ว อีกอย่างรถตู้ 7 คันที่เดินทางมานี้ คนขับเป็นมุสลิมหมดเลยนะครับ เส้นทางเราปลอดภัย เขาคุยกันแล้ว ทำน้ำเสียงกระซิบๆ ลูกค้าก็ฮา

อาชีพมัคคุเทศก์ เป็นงานบริการที่อยู่กับคน ความรู้สึกของคน ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่เหตุใด ชายระวีร์ จึงไม่รู้สึกเบื่อหน่าย แถมยังทำให้ทุกคนยิ้มได้ ในความไม่สมบูรณ์แบบของการเดินทาง

“ลูกค้ามีหลายแบบ  ลูกค้าบางกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวกับทัวร์มาจนเอียน แต่ต้องมา เพราะองค์กรให้เงินมา ขึ้นรถมาก็เฉยๆ ทำเมินไม่สนใจ บ้างก็หลับตาหนี พอผมเริ่มพูดก็ลืมตา บ้างก็เอียงตัวมามอง ผมเห็นอาการเขาเปลี่ยน เขาสงสัย แล้วสนใจในการเล่าเรื่อง สุดท้ายก็มาบอกว่าไม่เคยเจอไกด์แบบนี้มาก่อน การทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ มันก็จะไม่ไปไหนไกล  ผมฉีกกฎมาตั้งแต่ปี 49 ที่มีเพลงมาประกอบการเดินทาง  จนน้องๆ มาขอใช้เพลง ก็บอกว่าไม่มีลิขสิทธิ์ เอาไปเลย แต่ร้องให้มันได้อารมณ์นะ

วันนี้คนที่เดินทางกับชายระวีร์ ไม่มีใครบ่นแล้ว ผมบล็อกด้วยการบอกแล้วว่า ทุกท่านครับ ในทุกการเดินทางผมเชื่อว่าไม่มีทริปไหนจะสมบูรณ์เต็มร้อย อย่างการมาสามจังหวัด รสชาติอาหารอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจเสียทั้งหมด บางทีมันเผ็ด เข้ม หวาน เปรี้ยว ปรับตัวนะครับ ปรับสภาพในการเดินทางท่องเที่ยว จะให้เขาลดเครื่องเทศก็อาจจะทำให้รสเพี้ยน ลดเผ็ดได้ แต่ลดขิงข่าขมิ้นไม่ได้ แกงส้มก็ต้องเป็นแกงส้ม ท่านเองต้องปรับตัวนะครับ แต่เราก็มีอาหารที่ไม่เผ็ดให้เลือกทานนะครับ สุดท้ายเขาบอก เผ็ดอย่างที่ชายระวีร์บอกจริงๆ โรงแรมมันเก่าจริง  มันหมายถึงการเปิดประสบการณ์ให้ยอมรับเสียก่อน”

อาชีพมัคคุเทศก์ เป็นอาชีพสร้างสรรค์ ไม่ใช่แบบเรียนที่เหมือนกันหมด นี่คือสิ่งที่เขายืนยันกับเรา และพิสูจน์ได้ด้วยสายตาแล้วว่า ไม่บ่อยนัก ที่ไกด์คนหนึ่งจะได้รับการเรียกหาจากลูกทัวร์ตลอดเวลา เขากลายเป็นส่วนหนึ่งในภาพ ในทุกสถานที่ ในมือถือทุกเครื่องของลูกค้า และน่าจะเป็นไกด์ที่น่าอิจฉาไม่เบา เพราะบางทริป น้ำใจจากทิปที่ตอบกลับมามูลค่านับหมื่น มากกว่าค่าตัวไกด์กว่าสิบเท่าตัวเลยทีเดียว

กับเจ้า “เปรมปรีดิ์” สัญลักษณ์ของไกด์สไตล์ ชายระวีร์

ชายระวีร์ ไกด์ศิลปินคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย

  • “ชายระวีร์” เป็นชื่อที่ลูกทัวร์ตั้งให้ ชื่อจริงของเขาคือ “ยงยุทธ ธัญญาพืช” เป็นชาว อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช แต่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ตั้งแต่จบ ม.3
  • เขาเรียนจบปริญญาตรี  คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม (มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษมในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนเปลี่ยนมาเป็นสถาราชภัฎ
  • เขาเคยเป็นนักจัดรายการวิทยุ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สมัยอำลาทัวร์ ปี 2539 และเป็นนักพากย์ฟุตบอลที่มีชื่อเสียงมากในเมืองคอนสมัยนั้น
  • หลังจากรางวัลมหานครอวอร์ด เขาได้รับเชิญให้ร้องเพลงคำขวัญของกรุงเทพมหานคร ในปี 2556
  • เอ็มวีของเขา มีแม่และน้าร่วมแสดง ได้ค่าตัวคนละ 500 บาท
  • นอกจากถูกร้องขอให้ไปเป็นไกด์ประจำทริปของลูกค้าเก่าอยู่บ่อยๆ แล้ว เขายังมีวงดนตรี ที่รับงานประจำให้กับบริษัทที่เคยร่วมทริปกับเขา ในโอกาสของงานเลี้ยงงานประจำปีหรืองานสังสรรค์ต่างๆ อีกด้วย
  • เจ้า “เปรมปรีดิ์” คือ ตุ๊กตาประจำตัวเขา ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในทริป โดยเฉพาะทริปต่างประเทศที่จะชูขึ้นแทนธงสัญญลักษณ์ของทัวร์ทั่วไป

Meetthinks พบกับชายระวีร์ ในทริป “เก๋ายกก๊วน ชวนเที่ยวใต้” ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส ซึ่งได้พูดคุยกันในวันที่  3 ของทริปแล้ว นั่นเพราะแรกเจอ เราก็คิดว่าเขาก็คือไกด์โดยทั่วๆ ไป แต่พอได้เห็น ได้ฟัง สิ่งที่เขาทำ น้ำเสียงและเพลงที่นำมาประกอบ ทำให้เรามองเห็นว่า เขาคือไกด์ที่เราจะต้องจดจำ และไม่พลาดที่จะพูดคุยกับเขา

 

 

 

 

 

 

 

 

Post a comment

1 × two =