Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

แว่วเรื่องราว ว่าวเล่นลม

ภาพยนตร์เรื่อง “เด็กเก็บว่าว” หรือ The Kite Runner ที่สร้างจากหนังสือดังในอดีต เป็นหนึ่งในหนังดราม่าที่ตราตรึง…ตะลึงใจ

นอกจากเรื่องของความรุนแรง สงคราม การเมือง  การเอาตัวรอด…การเชือดเฉือน ชิงชังภายในหนังก็ยังมีฉากของตัวเอกในวัยเด็ก ที่ผูกพันกับการเล่นว่าว โดยมีการแข่งว่าวในเมืองคาบูล อัฟกานิสถาน เป็นฉากสำคัญที่พลิกเรื่องราวจากปมอันรวดร้าว

สิ่งที่เห็นจากหนังคือ ฉากการแข่งว่าว ที่คล้ายกับเมืองไทย โดยการเชือดเฉือนของสายป่านเมื่อว่าวลอยสูงขึ้นฟ้าไปแล้ว ซึ่งในหนังก็แสดงให้เห็นถึงลูกเล่นของการติดของมีคมไว้บนสายป่านเพื่อกรีดเชือกของคู่ต่อสู้ให้ได้ ตัวเอกคนหนึ่งเก่งเรื่องการบังคับว่าวให้เฉือนชนะคู่ต่อสู้ และตัวเอกอีกหนึ่งก็เชี่ยวชาญเรื่องการมองทิศทางลม เขาสามารถกะระยะว่าวที่พ่ายแพ้จนหลุดจากลอยไปว่าจะไปตกที่ใด  และนั่นก็คือ เรื่องราวเริ่มต้นของ เด็กเก็บว่าว

เรื่องของว่าว จึงมีปรัชญาแอบแฝงอยู่มาก 

เด็กสมัยใหม่หรือเด็กในเมืองอาจจะไม่เข้าใจคำว่า “สายป่านยาว” และคงไม่มีประสบการณ์ในการเล่นว่าว ต่างจากเด็กต่างจังหวัด

เมื่อปลายปีที่ลมหนาวพัดมา ก็ถึงเวลาที่คนทำว่าวได้แสดงฝีมือ

ใครมีคุณปู่ คุณลุง คุณตา ที่มีฝีมือการทำว่าวขั้นเซียนก็โชคดีไป หากไม่มีก็ต้องเข้าป่าหาไม้ไผ่ เตรียมกระดาษว่าว กาว สายป่าน มาประกอบร่างกันเอง

ผลออกมาเป็นอย่างไรก็รอลุ้นกันตอนว่าวขึ้นฟ้า ถ้าปล่อยแล้วไม่หัวทิ่มตกลงมา ก็ถือว่ารอด

เป็นความสุขเล็กๆ ที่อยู่ในใจของเด็กและผู้ใหญ่ แค่ได้ยืนมองสายป่านที่แกว่งไกว กับว่าวตัวน้อยที่ค่อยๆ ลอยลับไปจนกลายเป็นวัตถุจิ๋วบนท้องฟ้า ก็นำพาความอิ่มเอมมาให้

คนโบราณยังเชื่อว่าว่าวคือตัวแทนของความดีงาม เพราะว่าจะลอยเด่นอยู่บนที่สูงเท่านั้น การเล่นว่าวจึงถือเป็นพรจากเบื้องบน

เสมือนสีสันสดใสของว่าวที่ลอยเด่นเป็นสง่าอยู่เหนือฟากฟ้า

ประเทศไทยมีการเล่นว่าวกันมานาน ปรากฏหลักฐานไว้ในบันทึกสมัยพระร่วง จนมาถึงครั้งประวัติศาสตร์ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการเล่นว่าวหน้าพระที่นั่ง

พร้อมด้วยวงมโหรี ปี่พาทย์ และมีรางวัลให้ผู้ชนะ

ลักษณะของ “ว่าวไทย” มีอยู่หลายแบบ เช่น ว่าวจุฬา ว่าวสองห้อง ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม ฯลฯ แต่ละแบบจะมีการดัดแปลงแต่งเติมหรือสร้างเอกลักษณ์ให้แตกต่างไปในแต่ละท้องถิ่น

เสน่ห์ของมันมีทั้งศาสตร์และศิลป์  ต้องอาศัยโครงสร้างที่สมดุล จากความบางเฉียบที่แข็งแกร่ง  พร้อมต่อสู้กับสายลมเหนือพื้นดินที่มีความปรวนแปร อีกทั้งการออกแบบว่าวยังต้องใช้ศิลปะรังสรรค์ให้มีความสวยงามอีกด้วย

ที่มาของคำว่า “สายป่านยาว” ที่คุ้นเคยกันในเชิงธุรกิจก็มาจากการเล่นว่าว เพราะว่าวของใครสายป่านยาว จะสามารถปล่อยให้ลอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผ่านพ้นช่วงลมแกว่ง ไต่ขึ้นไปจน “ติดลมบน”  ก็ถึงจุดที่สูงและประคองตัวอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาอีก

ไม่นานมานี้ ที่เมืองชากังราว หรือ จังหวัดกำแพงเพชร  มีการจัดงาน “สืบสานตำนานว่าวไทยและทอดผ้าป่าดาราสามัคคี” เพื่อหารายได้สร้างอุโบสถวัดเทพทรงธรรม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โดยในงานมีนิทรรศการและโชว์การทำว่าว โดยกลุ่มอนุรักษ์ว่าวไทยทรงธรรม พร้อมด้วยการแข่งขันว่าวไทย ท่ามกลางบรรยากาศงานวัดที่สนุกสนาน

งานนี้เราได้เจอกับ “หยุด ฝางแดง” ปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีฝีมือการทำว่าวระดับเซียน มาแบ่งปันความรู้ให้กับทุกคน โดยวันนี้ “สุวิทย์ สันตติวงศ์ไชย” ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร มาเป็นประธานเปิดงาน แสดงให้เห็นว่า ทางจังหวัดให้ความสำคัญกับการสืบสานการละเล่นท้องถิ่นอย่างการ “วิ่งว่าว” แถมท่านยังลงสนามลองบังคับว่าวด้วยความสนุกสนานอีกด้วย

ถึงแดดจะร้อนจนอ่อนล้า แต่คนที่แหงนมองฟ้ายังไม่ถอย สีสันบนผืนฟ้ากับแรงตึงที่แสนดื้อดึง จากว่าวตัวบาง ๆ แต่เมื่อเหินขึ้นฟ้ากลับมีพลังมหาศาล

ผู้ที่สนใจเรื่องของว่าวไทยหรือสั่งทำว่าวขนาดต่างๆ   ติดต่อคุณเอื้อมพร พวงทอง  โทร. 0815329587 หากจะชมบรรยากาศงานแบบเต็มๆ ติดตามได้ที่รายการเที่ยวเป็น Travel Intrend ออกอากาศวันจันทร์ที่ 28 ธ.ค. นี้ ทาง PPTV HD ช่อง 36 หรือชมย้อนหลังได้ทาง Youtube : เที่ยวเป็น

Post a comment

6 + 19 =