Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

เหมืองแม่เมาะ ในฤดูที่เหมาะกับใจ

ก่อนที่เครื่องจะลงจอด ภาพแรกที่ลำปางส่งมาทักทาย คือทิวเขาที่เรียงรายสลับซับซ้อน เป็นวิวนอกหน้าต่างแบบ First Impression ถือเป็นของขวัญจากฤดูกาลที่แสนสดชื่น

นักท่องเที่ยวมักจะขึ้นเหนือตอนหน้าหนาว แต่หน้าฝนที่ลำปางไม่มีคำว่าเฉา แค่ภาพแรกที่ออกมาต้อนรับก็กินขาด สำหรับคนที่ไม่กลัวสายฝน ไม่ว่าจะเที่ยวป่า เที่ยวทะเล หรือภูเขา เราก็มองฤดูกาลนี้ด้วยความชุ่มเย็นหัวใจ เหมาะกับการผ่อนคลายแบบเนิบช้า

ทริปนี้มุ่งหน้ามายังจังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาดูงานในพื้นที่การเรียนรู้ กฟผ. ภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายแรกที่ พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา เหมืองแม่เมาะ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

“เหมืองแม่เมาะ” เป็นแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นผู้ดูแลเหมืองแม่เมาะมาตั้งแต่ปี 2512 ก่อนที่จะเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์เมื่อปี 2515 และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2528 รวม ๆ ก็ 40 ปีแล้ว ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับคนไทย พร้อมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ควบคู่กับความตั้งใจดีต่อชุมชนมาอย่างยาวนาน ทำให้ “เหมืองแม่เมาะ”​ เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่เหมาะกับการเข้ามาชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ

พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา

เส้นทางของพลังงานไฟฟ้า และเรื่องราวของเหมืองแม่เมาะ ถูกออกแบบและเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ แบบเด็กดูก็ชอบใจ ผู้ใหญ่ก็ดูเพลิน เพราะปัจจุบันการออกแบบนิทรรศการมีความทันสมัย มีแสง สี เสียง และการตอบโต้กับผู้ชมได้อย่างสนุกสนาน

พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาอยู่บนเนินเขาภายในสวนพฤกษชาติของเหมืองแม่เมาะ มีโซนต่าง ๆ ให้เดินชมพร้อมผู้บรรยาย

โซน 1 “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ” นำเสนอพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจที่สำคัญในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงบุกเบิกกิจการพลังงานของไทย โดยหลังจากสำรวจพบแหล่งถ่านหินแม่เมาะตั้งแต่ปี 2460 จนมาถึงปี 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7มีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้เพื่อใช้ในทางราชการเท่านั้น ถือเป็นการวางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานไทย

โซน 2 “จักรวาล โลก และถ่านหิน”  เล่าเรื่องการกำเนิดจักรวาลจากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ สู่การรวมตัวของมวลสารและพลังงาน จนกลายเป็นกาแล็กซี่และโลก โซน 3  “จากผืนน้ำและแผ่นดิน” บอกเล่าถึงแหล่งถ่านหินลิกไนต์ และเรื่องราวทางธรณีวิทยาของสถานที่แห่งนี้

โซน 4 “พลังงานขับเคลื่อนไทย” นำเสนอศักยภาพของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งทรัพยากรถ่านหินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย นำไปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้า หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศมาอย่างยาวนาน  โซน 5 “มุ่งสู่อนาคต” เล่าเรื่องการผลิตไฟฟ้าโดยเชื่อเพลิงหลากหลายชนิด โซน 6 “จุดเปลี่ยนโลกและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน” แสดงถึงวิวัฒนาการและการค้นพบไฟฟ้าที่มีมานานนับพันปี และ โซน 7 “แม่เมาะ และชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” แสดงเรื่องความของ กฟผ. กับกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาชุมชนโดยรอบ

ใครที่เคยไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คงทราบดีถึงความสนุกและเพลิดเพลิน พ่วงด้วยความรู้รอบตัวที่น่าสนใจ จุดที่คาดว่าทุกคนจะชื่นชอบมากเป็นพิเศษคือโรงหนัง 4D ที่ อีกจุดคือสะพานชมวิวที่ยื่นออกจากตัวอาคาร หากเดินออกไปก็จะมองเห็นเหมืองอยู่ไกล ๆ

ศาลาชมวิวสวนพฤกษชาติ

ในตัวเหมืองเป็นเขตการทำงานที่ไม่อนุญาตให้เข้าชม แต่เราสามารถยืนมองจากมุมไกล ๆ ได้อย่างปลอดภัย ณ ศาลาชมวิวสวนพฤกษชาติ  เนินเขาที่ลาดเทมีทิวสนเรียงรายเป็นแนวกั้น พร้อมด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด

ลานหญ้าที่ลาดเอียง เป็นจุดวัดใจเบา ๆ กับ “สไลเดอร์แม่เมาะ” ต้นเด็ก ๆ หลายคนอาจจะเคยเล่นอะไรแบบนี้ บ้างก็เอากาบหมากหรือกาบมะพร้าวมาปูรองนั่ง แต่ที่เหมืองแม่เมาะจะมีแผ่นรองนั่งที่แข็งแรง ส่วนการสไลด์ลงมาก็ไม่ชันมาก และเป็นเพียงระยะสั้น ๆ เด็ก ๆ เล่นได้ ผู้ใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะขอลองเล่น

ที่เหมืองแม่เมาะซึ่งอยู่บนเนินเขาถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ค่อนข้างครบวงจร มีทั้งที่พัก ร้านอาหาร มีสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม เอกลักษณ์ที่ใครไปใครมาก็เข้าไปแวะทักทาย ก็คือรถคุณปู่ ซึ่งเป็นรถบรรทุกเทท้ายเบอร์ 93 และรถขุดไฟฟ้าสุโขทัย เบอร์ 52  ซึ่งถ้าเป็นคนก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และวันนี้ก็ได้หยุดพัก รับเพียงหน้าที่ทักทายลูกหลานที่เข้ามาเที่ยวชม

สวนเฉลิมพระเกียรติ แม่เมาะ 

ห่างออกไปจากสวนพฤกษชาติแม่เมาะ ต้องขับรถออกไปอีกเนินเขา เป็นจุดชมวิวมุมกว้างที่  “สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา” ซึ่ง กฟผ.ได้จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9

ยอดดอยแห่งนี้มีลานกว้าง มองเห็นทิวเขาที่รายล้อม กับผืนป่าขนาดใหญ่ นอกจากที่นั่งแวะพักตามจุดต่าง ๆ ยังมี “สกายวอล์ก” ที่ยื่นออกไปในผืนป่า มองเห็นแหล่งน้ำและภูเขาที่เรียงราย

ช่วงปลายปีบริเวณนี้จะมีการจัดงานพร้อมทุ่งดอกบัวตองที่บานสะพรั่ง เป็นหน้าหนาวที่คึกคักอีกจุดหนึ่งของลำปาง สำหรับหน้าฝน เป็นช่วงของคนชิล ๆ ที่ชื่นชอบความเงียบสงบ  แม้จะอยู่ในช่วงก่อนเที่ยงเล็กน้อย แต่สภาพอากาศครึ้ม ๆ เดินเล่นได้สบาย ครึ้มอกครึ้มใจกำลังดี

 ร้านพรรคกระยาจก 

ครึ่งวันที่เหมืองแม่เมาะผ่านไปอย่างน่าจดจำ และทำให้อยากกลับไปซ้ำอีกหลาย ๆ รอบ และเที่ยงวันนี้ยังมีร้านอาหารท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่าคน กฟผ.โปรดปราน หนึ่งเพราะอาจจะอยู่ใกล้โรงไฟฟ้ามาก ๆ สองก็คงเพราะรสชาติที่เข้มข้นถูกใจ แม้จะเป็นอาหารเหนือที่จะไม่เน้นรสจัดมาก แต่ก็เข้มข้นครบเครื่อง แถมหน้าตาก็ดี

ร้านพรรคกระยาจก เสิร์ฟอาหารเมืองเหนือเป็นหลัก เมนูประจำถิ่นแม่เมาะ ก็ต้อง “ลาบคั่ว” วันนี้เป็นลาบหมูคั่วแบบสุก หอมพริกลาบของทางร้าน ในถ้วยน้อยมี “น้ำพริกข่า” สูตรของทางร้านที่เข้มข้นจัดจ้านกำลังดี นอกจากนั้นยังมี “จอผักกาด” และ “รังผึ้งย่าง”

และที่เรียกสายตาท่านผู้ชมทั้งหลาย ก็เห็นจะเป็น “แอ๊บอ่องออ” ห่อใบตองและย่างมาอย่างสวยงาม หน้าตาก็คือห่อหมกย่าง แต่วัตถุดิบอาจจะไม่คุ้นสำหรับใครหลายคน เพราะ “แอ๊บ” แปลว่า การห่อด้วยใบตองหลาย ๆ ชั้น ส่วน “อ่องออ” คือ สมองสัตว์ ซึ่งเป็นวิถีการกินอาหารถิ่นของภาคเหนือ

วัดรัตนคูหา (ถ้ำผากล้วย)

ด้วยทำเลสวยกลางป่า ทำให้โรงไฟฟ้าเม่เมาะกลายเป็นจุดชมวิวระยะไกลที่เดินสายเที่ยวชมได้หลายจุด และอีกมุมสวยอยู่ที่ “วัดรัตนคูหา”  เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขา เดิมเป็นสำนักสงฆ์ชื่อ “สำนักสงฆ์ถ้ำผากล้วย”

พระอุโบสถ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ มีบันไดนาคห้าเศียรและเจ็ดเศียร ภายในประดิษฐานพระไภษัทชยคุรุเขลางค์ (พระกริ่งเขลางค์) เป็นพระประธาน มีหน้าตักกว้างประมาณ 50นิ้ว หล่อจากทองแดงบริสุทธิ์

บริเวณตีนดอยจะมีบันไดนาค 109 ขั้น ถ้าเดินขึ้นไปจะชมวิวได้สวยงามมาก แต่ปัจจุบันสามารถขับรถขึ้นไปได้

วัดพระธาตุลำปางหลวง

ออกจาก อ.แม่เมาะ มุ่งไป “วัดพระธาตุลำปางหลวง” อ.เกาะคา วัดเก่าแก่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20สถาปัตยกรรมแบบล้านยาที่งดงามมาก ภายในมีเจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำ มีการปิดทองจังโกคล้ายแบบพุกาม เนื่องจากเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู จึงถือเป็นพระธาตุประจำปีฉลู

วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วดอนเต้า” (พระแก้วมรกต)  พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชาวลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนา สลักด้วยหยกสีเขียว นอกจากนั้นยังมี “กู่พระเจ้าล้านทอง” ด้านหน้าวิหารหลวง  “ซุ้มประตูโขง” ซึ่งมีศิลปะปูนปั้นอันงดงาม

ไฮไลต์ที่น่าอัศจรรย์ คือ เงาพระธาตุกลับหัว ซึ่งถือเป็น “เงาพระธาตุอันซีน” แห่งเมืองลำปาง ภาพปรากฎการณ์นี้จะลอดผ่านช่องผนังใน “หอพระพุทธ” ที่สร้างครอบรอบพระพุทธบาท ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นไป และช่วงนี้ก็ยังปิดให้เข้าชม อีกจุดในการชมพระธาตุกลับหัวอยู่ที่ “วิหารพระพุทธ” แต่ภาพที่ปรากฎจะไม่ชัดเจนเท่าที่หอพระพุทธ

ลำปางยังไม่หนาว แต่เรื่องราวก็ดีต่อใจ ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่เร่งรีบ โดยเฉพาะที่แม่เมาะ ซึ่งเหมาะกับช่วงเวลาของการผ่อนคลาย ฝนที่พร่างพรมลงมาบางเวลา ทำให้ผืนดินผืนฟ้าได้ชุ่มเย็น เช่นเดียวกับหัวใจ


ทริปเดินสายแหล่งเรียนรู้ กฟผ.ภาคเหนือ

กิจกรรม ศึกษาดูงานในพื้นที่การเรียนรู้ กฟผ.ภาคเหนือ ได้รับเกียรติจาก นายอนวัช พรหมคชสุต หัวหน้ากองปฏิบัติการศูนย์การเรียนรู้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้การต้อนรับ อาจารย์กฤติเดช ทองเพิ่ม ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายสื่อสารด้านการท่องเที่ยว และอินฟลูเอนเซอร์ โดยมี นางจันทร์ทิพย์ ไพเพอร์ หัวหน้าแผนกปฏิบัติการศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. และ นายสุรศักดิ์  ลิ้มสุวรรณ หัวหน้ากองบริการกลางเหมืองแม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ ร่วมนำชมสถานที่ ณ พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.แม่ออน อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่  เมื่อวันที่ 21 – 22 พฤษภาคม 2568

Post a comment

sixteen + seven =