Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

“รักษ์บ้านนอก” ความงามในความง่ายของวิถีถิ่น

พอเอ่ยถึง “บ้านนอก“ หลายคนคงนึกไปถึง ถิ่นที่อยู่ห่างไกล ความเชย ล้าหลัง ไม่ทันสมัย และแน่นอนต้องอยู่ต่างจังหวัด
เมื่อถึงช่วงเทศกาล หรือมีวันหยุดติดกันยาวนานหลายวัน กิจกรรมหนึ่งที่คนจาก “เมือง“ มักกระทำกัน คือ ไปต่างจังหวัด
ไปไหน? ไปต่างจังหวัด… คือคำตอบจากคนที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ที่ประสงค์ไปเที่ยว พักผ่อน ในวันหยุด
อาจจะเป็นภูเขา อาจจะเป็นทะเล หรืออาจจะเป็นเมืองอีกเมือง สถานที่เหล่านั้นคือพื้นที่ที่พวกเขาเลือกเดินทางไปใช้ชีวิตช่วงระยะสั้นไม่กี่วัน ในแห่งหนที่ตนเองชื่นชอบ
ไปไหน? กลับบ้านนอก ไปต่างจังหวัด… คืออีกคำตอบที่มีสร้อย “บ้านนอก“ เติมเข้ามา
เป็นคำตอบจากคนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัด มาอยู่อาศัยทำมาหากินในเมืองใหญ่ บอกกล่าวถึงภูมิลำเนาที่พวกเขาใช้เวลาในช่วงวันหยุดกลับไปหา กลับไปสู่วิถีที่ตนเองคุ้นเคย

“บ้านนอก” ที่พวกเขากลับไปนั้น อาจเป็นบ้านนอกที่หมายรวมถึงบ้านเกิดของอีกหลายคน ผู้จากบ้านมาไกล
“บ้านนอก” ที่พวกเขากลับไปนั้น อาจเป็นบ้านนอกที่หมายรวมถึง ถิ่นที่อยู่อันเป็นที่รัก ผูกพันเสมอมาของอีกหลายผู้คน
“บ้านนอก” ที่พวกเขากลับไปนั้น อาจเป็นบ้านนอกอันหมายรวมถึง ถิ่นอันเป็นที่รัก ของคนผู้อยู่ห่างไกล แม้มิใช่ถิ่นเกิด แต่รักและหลงใหลในวิถีถิ่นนั้น

เพราะรักและหลงใหลในวิถีนั้น จึงเป็นที่มาของความต้องการที่จะธำรงไว้ซึ่งความเรียบง่ายเช่นนั้น
เพราะรักและหลงใหลในวิถีความอบอุ่น ความผูกพันนั้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นที่มาของโครงการ “รักษ์บ้านนอก”

ค่ำนี้ที่บ้านนอก

กว่าจะเป็น “รักษ์บ้านนอก”

บ่ายวันนั้น  meetthinks.com นัดหมายสนทนากับ จักรพงษ์ ศรีสุนทร หัวหน้าโครงการ “รักษ์บ้านนอก” โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทบุคคลทั่วไป ในปี 2561 ให้เป็นตัวแทนกองทุนฯ ในการจัดทำกิจกรรม เดินหน้าโครงการฯ
เรานัดกันที่ร้านกาแฟชานกรุง บทสนทนาเริ่มต้นด้วยการถามไถ่ถึงความเป็นมาของโครงการฯ

“ก่อนจะพูดถึง ก่อนจะเป็น… ขอพูดถึง กว่าจะเป็น…ก่อนได้มั้ยครับ” เขาตอบถึงคำถามก่อนจะเป็น “รักษ์บ้านนอก” พร้อมกับยิ้มน้อยๆ

จักรพงษ์ ศรีสุนทร หัวหน้าโครงการ “รักษ์บ้านนอก”

เขาเล่าให้เราฟังว่า กว่าจะเป็นโครงการนี้นั้น ผ่านช่วงเวลายาวนานเกือบ 5 เดือน เพราะมีผู้ยื่นเสนอโครงการขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นจำนวนมากกว่า 900 โครงการ ทำให้คณะกรรมการพิจารณาของกองทุนฯ ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อคัดเลือกโครงการ โดยเฉพาะด้านเด็กและเยาวชน มีผู้ยื่นเสนอกว่า 400 โครงการ คัดแล้วเหลือ 36 โครงการ
“รักษ์บ้านนอก” เป็นหนึ่งในนั้น

“ผมรู้ข่าวว่า โครงการฯ ได้รับทุนสนับสนุนตอนดึกแล้วนะ ดีใจมาก รีบโทร. ไปบอกน้องที่ร่วมโครงการฯ
เขาถามอะไรพี่? …เขาลืม มันนานจนเขาลืม…” เขาเล่าให้ฟังแบบเหมือนจะพยายามให้ดูขำๆ

ก่อนจะเป็น “รักษ์บ้านนอก”

ปลายเดือนมิถุนายน ผมทราบข่าวเรื่องการเปิดรับข้อเสนอโครงการ หรือกิจกรรมแบบเปิดรับทั่วไป เพื่อพิจารณาให้ทุน โดยกองทุนพัฒนาสื่อฯ เป็นผู้ให้ทุน หลังไล่ดูรายละเอียด ผมตั้งหลักเขียนแผนเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนฯ
ผมคิดถึงความงาม ความเรียบง่าย ของการใช้ชีวิตแบบวิถีถิ่น
คิดถึงอาหารการกินแบบบ้านๆ ที่ต้องเน้นลงไปอีกว่า แท้ทรู

คิดถึงประเพณีที่สืบสานกันมายาวนาน
ที่บางอย่างกลับกลายเป็นร่วมสมัย คงอยู่อย่างกลมกลืนกับวิถีปัจจุบัน

ผมอยากให้เรื่องราวเหล่านี้ ได้รับการเล่าขาน
บอกต่อถึงความงามของวิถีถิ่น โดยผู้คนในพื้นที่
ผลิตออกมาเป็นสื่อ โดยผู้อยู่ใกล้ชิดกับวิถี

ผมตั้งชื่อโครงการว่า “รักษ์บ้านนอก”
เป็นบ้านนอกที่หมายรวมถึงบ้านเกิดของหลายคน ผู้จากบ้านมาไกล
เป็นบ้านนอกที่หมายรวมถึง ถิ่นที่อยู่อันเป็นที่รัก ผูกพันเสมอมาของอีกหลายผู้คน
เป็นบ้านนอกอันหมายรวมถึง ถิ่นอันเป็นที่รัก ของคนผู้ห่างไกล แต่รักและหลงใหลในวิถีถิ่นนั้น

จักรพงษ์ ศรีสุนทร เล่าถึงที่มาโครงการ “รักษ์บ้านนอก” ผ่านเฟซบุ้ค https://www.facebook.com/chakrapong.srisunthon ของตนเอง ในวันเข้าไปเซ็นสัญญากับกองทุนฯ

“รูปแบบกิจกรรมของโครงการฯ ก็คือการผลิตสื่อ โดยทีมของโครงการฯ ลงพื้นที่เป้าหมาย สอนเด็กให้รู้จักมุมมองในการถ่ายภาพ (จริงๆ เด็กอาจจะเก่งกว่าเรานะพี่…เสียงทีมงานกล่าวแทรก) ใช่ๆ บางคนที่สนใจเขาก็อาจจะไปได้ไกลแล้ว แต่ทีนี้เรามองถึงความสำคัญของเนื้อหาเป็นหลักด้วย โดยเนื้อหาเราจะให้เด็กไปพูดคุย ไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ในพื้นที่ ไปถามในเรื่องที่พวกท่านเหล่านั้นเป็นมือวางในเรื่องนั้น เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น

เช่น ย่าลิ คุณยายศูณย์ ในบ้านกอกพื้นที่เป้าหมายนี่ คือมือวางอันดับต้นๆ ในการทอผ้า ก็ให้พวกเด็ก ไปถ่ายรูป ไปพูดคุยมา เพื่อให้พวกเขาได้ซึมซับ ภาคภูมิใจในสิ่งที่คนรุ่นก่อนสืบสานมา

ทีนี้ มันมีตั้งหลายเรื่องใช่มั้ย ประเพณี วิถีถิ่นทั้งนั้น ให้เด็กเขาได้เรียนรู้ ถ้าบางอย่างเขาชอบ เขาสนใจ อยากจะสืบสานต่อ นี่คือโอกาสที่เขาจะได้ถามไถ่ หาความรู้จากผู้ใหญ่ที่มีองค์ความรู้ เป็นปราชญ์ชาวบ้านอยู่แล้ว

ทีมพวกเราจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ แต่ตอนผลิตเป็นเล่มอาจจะต้องเป็นทีมเราเองทำ เพราะโดยเงื่อนเวลา และเครื่องไม้เครื่องมือด้วย แต่เราจะให้พวกเขาเป็นไอเดียหลักในการผลิต” หัวหน้าโครงการเล่าให้ meetthinks.com ฟังถึงเป้าหมายในการทำโครงการฯ

“นอกจากจะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตสื่อแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานร่วมกัน คือเด็กและผู้ใหญ่ ได้ใกล้ชิดกัน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน บางทีช่องว่างที่อยู่ห่างกัน อาจจะกระชับเข้ามาบ้างก็เป็นได้

 วันที่เข้าอบรมและพรีเซนต์โครงการฯ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะพิจารณาฯ ของกองทุน บอกกับผมว่า ที่พิจารณาให้ทุนสนับสนุนโครงการ “รักษ์บ้านนอก” เพราะมองว่า มันสามารถทำเป็นโมเดลได้ นั่นหมายถึงว่า โครงการนี้ ไปทำที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่บ้านเกิดของคนในโครงการเท่านั้น” เขาบอกกล่าวถึงอีกหนึ่งหมุดหมาย

เขายังเล่าต่ออีกว่า “ผมมองว่า ถึงแม้เราจะรักบ้านนอกมากมาย ปลาบปลื้ม ยินดีกับวิถีถิ่นเช่นนี้ จริงอยู่ความรักที่เรามี ยังคงอยู่ตลอดไป แต่สิ่งที่เรารักล่ะ ยังคงมีอยู่มั้ย หรือเราจะปล่อยให้สูญสลาย เหลือเพียงความทรงจำ

นั่นคือสิ่งที่ผมอยากทำ ผมอยากให้สิ่งที่ผมรักยั่งยืน เป็นวิถีที่สืบต่อให้ผู้คนได้สัมผัส ได้รัก เหมือนที่ผมรัก แม้มิใช่คนที่เกิดจากบ้านนอก อยู่ที่บ้านนอก แม้มิใช่บ้านเกิด ก็สามารถรับรู้ สัมผัสได้ ใช่ครับ ผมหมายถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบยั่งยืน ให้เป็น sustainable culture ที่ทั่วโลกรู้จัก” หัวหน้าโครงการ “รักษ์บ้านนอก” กล่าวถึงความรักในวิถีที่อยากให้มีการสานต่อ

ถึงแม้เราจะรักบ้านนอกมากมาย ปลาบปลื้ม ยินดีกับวิถีถิ่นเช่นนี้ จริงอยู่ความรักที่เรามี ยังคงอยู่ตลอดไป แต่สิ่งที่เรารักล่ะ ยังคงมีอยู่มั้ย หรือเราจะปล่อยให้สูญสลาย เหลือเพียงความทรงจำ

ว่าวจุฬา อีสานเรียกว่าวขาเกก เมื่อเทียบขนาดกับเจ้าของที่สูงประมาณ 165 ซม. มีสนูติดบนคอว่าว พอขึ้นไปโดนลมบนท้องฟ้า ปื้นสนูที่ทำจากหวายฝานให้บางก็จะสะบัด ทำให้เกิดเสียง ที่เห็นหลอดเขียวตรงกลางอกว่าวนั่นแหละ ดาวดิจิตัล

“รักษ์บ้านนอก” ในความโมเดิร์น

“ประเพณีบางอย่างไม่ได้ล้าสมัยเลย ยิ่งมาถึงยุคนี้ ยิ่งโมเดิร์น วัยรุ่นคงบอกว่า สุดชิลล์ เช่น ประเพณีการแตกบ้านทางภาคอีสาน เป็นประเพณีที่ให้คนทั้งหมู่บ้านหอบเครื่องครัว สาด เสื่อ อพยพออกจากหมู่บ้านไปปักหลักรวมตัวกันไกลจากหมู่บ้าน อาจจะเป็นตามแหล่งน้ำ ทุ่งนา หรือป่า หาปู หาปลา นึ่งข้าว ปิ้งกบ ต้มไก่ กินกัน เริ่มจากเช้าจนมืด ค่อยกลับเข้าหมู่บ้าน

กุศโลบายของคนรุ่นก่อนน่าจะเพื่อความสามัคคี และบางทีอาจจะใช้ช่วงเวลานั้น พ่นยา ฆ่าเชื้อโรค ทั้งหมู่บ้าน พอมาถึงสมัยนึ้ ผมว่า นี่มันเป็น the best party ชัดๆ เลย ที่ให้คนทั้งหมู่บ้าน ทุกรุ่น ได้รู้จักกัน ผ่านการกิน “ข้าวป่า” ที่คนรุ่นใหม่สามารถ “ไลฟ์สด” ได้เลย”

ปกติจะมีตอนไหน…ไม่ได้มีทุกปีครับ มีช่วงประมาณเดือน 5 ขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ ที่ตรงกับวันอังคาร ถ้าปีไหนตรงกันแบบนั้น ต้องมีการอพยพออกจากหมู่บ้านเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการแก้เคล็ด เพราะถือว่าวันแบบนั้นเป็นวันแรง แรงแบบโลกาวินาศ ต้องแตกบ้านชั่วคราว

“อีกอันหนึ่ง ผมเรียกว่า เป็นนวัตกรรมแบบบ้านๆ คือการเล่นว่าว ปกติว่าวที่เล่นกันตามบ้านนอกในช่วงหน้าหนาวนี่ จะมีสนูติดอยู่บนคอว่าวดวงใหญ่ๆ พอปล่อยขึ้นไปบนฟ้า เวลาลมพัดมาเราจะได้ยินเสียงสนูดังตามจังหวะลมพัด ตอนนี้นอกจากสนูที่เป็นเสียงจากท้องฟ้าแล้ว ตอนนี้มีเพิ่มมาอีกอย่าง คือ แสงครับ เป็นแสงจากหลอดไฟเล็กๆ ที่ติดบนว่าว 

ตอนกลางคืน มองขึ้นไปจะเห็นไฟพวกนี้กะพริบวิบๆ ผมเรียกว่า ดาวดิจิตัล”

นั่งอยู่กลางทุ่งนา นุ่งผ้าขาวม้า ย่างปลากิน มองขึ้นไปบนท้องฟ้า เห็นแสงกะพริบวิบวับ สดับเสียงสนู
โอ…นี่ล่ะ มันเป็นอะไรที่ฟินสุดๆ เชื่อว่าคุณไม่มีทางลืมเลยเชียวล่ะ” หัวหน้าโครงการฯ เล่าด้วยน้ำเสียงคึกคัก ชวนให้เห็นภาพ

เวทีเสวนา วันเปิดตัวโครงการ “รักษ์บ้านนอก”

นั่งฟังการเสวนาใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่

แอ่งน้ำดินเผา ใส่น้ำดื่มจะเย็นฉ่ำใจมาก มาคู่กับกระบวย ทำจากกะลามะพร้าว วันเปิดตัว เด็กรุ่นเล็กเดินเข้ามาเมียงมองไถ่ถาม เนื่องด้วยไม่เคยเห็น

ภาพวันเปิดตัวโครงการ ในเว็บไซต์ สยามธุรกิจ

เวทีเสวนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สู่วิถี  “รักษ์บ้านนอก”

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม จัดเวทีเสวนา พร้อมแนะนำโครงการรักษ์บ้านนอกโดยมีนายสุรีย์ บัวรัตน์ ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 ให้การต้อนรับ และมีทีมงานโครงการ วิทยากร ชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 . หัวเรือ . วาปีปทุม . มหาสารคาม

นายจักรพงษ์ ศรีสุนทร หัวหน้าโครงการรักษ์บ้านนอก” กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็ก และเยาวชน อยู่ท่ามกลางการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร หลงใหลไปกับความแปลกใหม่ของวิถีทันสมัย จนหลงลืมการมีส่วนร่วม ธำรงไว้ซึ่งวิถีถิ่นโครงการ รักษ์บ้านนอก (LUX BAANNOK) เป็นโครงการที่จะนำเอาวิถีดั้งเดิมผ่านการถ่ายทอดจาก ผู้ใหญ่ ที่เป็นผู้มีองค์ความรู้ใน วิถีถิ่น ผลิตออกมาเป็น สื่อสร้างสรรค์” โดย เด็กและเยาวชน ที่เปรียบเสมือน คนรุ่นใหม่ ในพื้นที่เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ เข้าใจ ภูมิใจ ตระหนักถึงการ รักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธำรงไว้ซึ่งวิถีของท้องถิ่น

โครงการรักษ์บ้านนอก จะดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสื่อสารเบื้องต้นและการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในพื้นที่ โดยนำเรื่องราวของภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นออกมานำเสนอในรูปแบบสื่อออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีเป้าหมายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการส่งต่อและรับข่าวสาร จาก สื่อสร้างสรรค์ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการสืบสานเรื่องราวอันทรงคุณค่าในท้องถิ่น ลดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่ดีของคนระหว่างวัย สร้างความภาคภูมิใจให้คนในท้องถิ่น อันจะเชื่อมโยงการพัฒนางานหัตกรรมท้องถิ่นและการท่องเที่ยวชุมชน โดยจะมีระยะเวลาโครงการในเดือน มกราคมพฤษภาคม 2562

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ปรีชา สาคร หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสาร คามนายชูสง่า ชัยวัฒน์ ผอ.โรงเรียนบ้านชาด ฝาง หัวเรือ อ.วาปีปทุมนายจักรินทร์ สวาศรี ผอ.โรงเรียนบ้านหนองแก ต.หัวเรือ วาปีปทุม ได้ร่วมเสวนา แสดงความคิดเห็นในวิถีชีวิตท้องถิ่น เชื่อมโยงการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ ให้แก่คณะครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แขกผู้เกียรติจากองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเรือ ผู้นำชุมชน และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก หลังจากจบกิจกรรมเสวนา ผู้เข้าร่วมงานยังได้รับประทานอาหารท้องถิ่น ซึ่งปรุงจากวัตถุดิบในพื้นที่โดยฝีมือแม่บ้านในชุมชนอีกด้วย

ข่าวจากเว็บไซต์ สยามธุรกิจ https://www.siamturakij.com/news/19603

สไลด์ที่ใช้ประกอบการบรรยายกิจกรรม บ้านนอกบอก“รักษ์โลก”

บ้านนอก บอก“รักษ์โลก”

หลังจากเปิดตัวโครงการ กลางเดือนมกราคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โครงการ “รักษ์บ้านนอก” ได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้กับเด็ก เยาวชน ตลอดจนผู้ใหญ่ ประชาชน ในพื้นที่หลายครั้ง ทุกครั้งได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น นอกจากตอบรับแล้วหลายคนยังเสริมต่อแนวคิดอีกด้วย

“ผมลงพื้นที่เพื่อแนะนำโครงการ บอกกล่าวเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อ สร้างภาคีเครือข่าย “รักษ์บ้านนอก” 4 โรงเรียน 3 ตำบล 2 อำเภอ แต่เป็น 2 จังหวัด และ 2 ภาค ด้วยนะ
คือ ภาคอีสานและภาคกลาง ภาคอีสานนี่ คือที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 บ้านกอก ตำบลหัวเรือ และที่โรงเรียนชุมชนบ้านโพธิ์สองห้องวิทยา ที่โรงเรียนวาปีปทุม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ ทั้งสองโรงเรียนนี้ อยู่ที่ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

กิจกรรมบอกน้องให้รู้เท่าทันสื่อ ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 ตำบลหัวเรือ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ที่นี่ช่วงเล่นเกม ตอบคำถาม ตอนแรกยังเหนียม จากนั้นก็เสียงดังลั่น แย่งกันตอบ

อีกตำบล ที่โรงเรียนชุมชนบ้านโพธิ์สองห้องวิทยา ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ที่นี่ค่อนข้างจะเป็นเด็กมากกว่า แต่กล้าแสดงออก และแย่งกันตอบอย่างสนุกสนาน

ที่โรงเรียนวาปีปทุม เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ตอบคำถามได้ลึกซึ้งสมกับเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ

จากนั้นข้ามฟากไปเลย ไปที่โรงเรียนบรรพตพิสัยพิทยาคม อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ อันนี้ คือ ภาคกลาง เรียกว่า ข้ามภาคมาเลย”

ข้ามมาอีกภาค ที่โรงเรียนบรรพตพิสัยพิทยาคม อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ สนุกกันมากช่วงตอบคำถาม จนอยากต่อเวลา

แม้จะแตกต่างซึ่งวัฒนธรรม วิถีถิ่น แต่ทั้งสองพื้นที่นี้กลับเหมือนกันในความต่าง นั่นคือ ต่างก็ต้องการจะ “รักษ์บ้านนอก” เอาไว้เช่นเดียวกัน

“ที่นครสวรรค์มีคุณครูที่สนใจเรื่องดนตรีไทย อยากให้มีการสานต่อและอนุรักษ์เอาไว้ ไม่อยากให้สูญหายไป อีกอย่างคือ อาหารพื้นถิ่น ที่เริ่มจะเลือนหายไป อาจจะไม่ใช่บ้านนอกจ๋า แต่ว่า ก็คือวิถีถิ่น เช่นกัน”

ย้อนกลับมาที่ภาคอีสาน ในวันเปิดตัวโครงการฯ ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 หลังจากเห็นกองเฟืองที่เอามาวางแทนเก้าอี้ และโต๊ะกินข้าว เห็นแอ่งน้ำที่เอามาแทนขวดน้ำพลาสติก เขาก็มองหาอุปกรณ์ที่มาจะมาเคียงคู่กัน

“ตอนนั้นเราคิดว่า ทำยังไงจะให้งานเปิดตัวโครงการฯ มีขยะเกิดขึ้นน้อยที่สุด เพราะนอกจากจะ “รักษ์บ้านนอก” แล้ว เรายังคิดต่อไปอีกว่า บ้านนอกก็บอก “รักษ์” โลกได้เช่นกัน” หัวหน้าโครงการเล่าย้อนไปถึงวันเปิดตัว

“ตอนแรกคิดว่า จะใช้จานกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง พอดีผู้ใหญ่บ้านได้ยิน ตะโกนบอกผมเลย …ญาพี่(พี่ชาย) สิเอามาเฮ็ดหยังจานกระดาษ ใบตองชาดโลด เข้ากันได้ดีคักโพดกับกองเฟือง”

ใบตอง กองเฟือง ไปกันได้ดีกับข้าวเหนียว ปิ้งปลาและส้มตำ ส่วนลาบนั้น เป็นเมนูพ้องเสียง “ลาภ” เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่

ใบตองชาด ใช้เแทนจานได้ดี ลดขยะ

“โอ้ ผมนี่สว่างวาบเลย ความจำผุดขึ้นมาเป็นฉากๆ ตอนเป็นเด็กเวลาล้อมวงกินข้าวที่ทุ่งนา จาน ช้อน ค่อนข้างจะหายาก และอีกอย่างผมเข้าใจว่า สมัยก่อนพวกถ้วย จาน ชาม พลาสติกนี่ไม่ค่อยมี จะมีก็แต่แบบที่เป็นกระเบื้อง ค่อนข้างแพง ทีนี้ เวลาคนจากหมู่บ้านหาบ คอน สำรับกับข้าวไปส่งข้าวที่นานี่ ถ้าเป็นกระเบื้องทั้งนั้นคงหนัก และกลัวแตก ฉะนั้น อุปกรณ์ที่ใช้ในตอนกินข้าวที่นาจึงเป็นแบบที่หาได้จากธรรมชาติตามป่า ตามท้องนา นั่นแหละ”

ใบแต้ พับเป็นทรงกรวยใช้เป็นช้อนได้

จาก“ใบตองชาด”ใช้แทนจานภูมิปัญญาท้องถิ่น ไล่มาถึง“ใบแต้” ที่เล่าให้เขาฟังโดยคุณครูหนุ่มจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 16 “ใบแต้ เวลาเอามาพับเป็นกรวยนี่ใช้แทนช้อนได้เลย เพราะเวลาโดนน้ำร้อนมันทน ไม่เหี่ยว เมื่อก่อน เวลากินข้าวตามท้องนาใช้เปลือกหอยจีบจี้แทนนะ สมัยโน้นหอยชื่อเล็กนี่ตัวใหญ่ เปลือกใช้เป็นบ่วง(ช้อน)ตักน้ำแกงได้สบาย…

เก็บภาพอุปกรณ์ทอผ้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น เตรียมไว้ทำอินโฟกราฟฟิกแบบบ้านๆ

แอก ไว้คล้องคอ วัว ควาย

ข้อง เป็นอุปกรณ์สำหรับเก็บปลา ระหว่างลงทุ่งนา หาปลา ปู หอย

แงบ สำหรับดักกบ ใช้ปลาซิวหรือไส้เดือนที่ตายแล้วเป็นเหยื่อล่อ เมื่อกบเข้าไปกินก็จะออกมาไม่ได้เพราะติดตรงทางออกที่สานเป็นงากั้นเอาไว้

ต่อยอด…บันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่น

จากการลงพื้นที่หลายครั้ง เห็นภูมิปัญญาวิถีถิ่นอันน่าทึ่งมากเข้า ทำให้เขาเกิดไอเดียว่า โครงการฯ น่าจะทำอะไรเพิ่ม เพื่อเก็บไว้ให้เป็นประโยชน์สืบต่อไปได้

“วันเปิดตัวโครงการฯ มีของใช้สอย อุปกรณ์ทำมาหากินพื้นถิ่น มาประดับเวทีเยอะมาก หลายชิ้นไม่ค่อยจะได้เห็นกันง่ายๆ คุณครูที่ช่วยกันดูแลการตกแต่งเวทีบอกผมว่า น่าจะถ่ายรูปเก็บไว้เยอะๆ นะ ทำเป็นปูม สมุดบันทึกบ้านนอก…

…พอได้ฟัง ผมแว่บ! ขึ้นมาเลย…” (อีกแล้ว..เสียงทีมงานโครงการฯ แซว พร้อมกับประสานเสียงกันหัวเราะลั่น)

“เขาหมายถึงงานงอกอีกแล้วครับ” หัวหน้าโครงการ “รักษ์บ้านนอก” ไขข้อสงสัยพร้อมเสียงหัวเราะ แล้วกล่าวต่ออีกว่า “นอกจากจะบรรจุเป็นเนื้อหาในหนังสือตอนช่วงสุดท้ายของโครงการฯ แล้ว ผมนึกถึงอินโฟกราฟฟิกแบบง่ายๆ เพื่อให้สะดวกในการเผยแพร่ในวงกว้าง และน่าจะเหมาะกับจริตของคนรุ่นใหม่มากกว่า
ตอนนี้ กำลังไล่เก็บภาพ ข้อมูล อาจจะไม่ถึงกับจะเรียกได้ว่า เป็นปูมบันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นหรอกครับ เอาเป็นแค่ อินโฟกราฟฟิกแบบบ้านๆ ก็พอ (…ขอให้ได้ทำก็ปลื้ม…เสียงทีมงานพึมพำแซวเสียงแผ่ว)

รังไหมสีสวย อีสานเรียก “ฝักหลอกหลีบ”

“อัก” เอาไว้เก็บเส้นไหม

ใบมอญและตัวหม่อน

เส้นไหมสีไพลเน่า ที่มาของสี คือ สีของใบไม้ที่กำลังจะเน่า เทียบกับสี YMCK ได้ประมาณ C20 Y100

สืบสาน เส้นไหม สายใย“รักษ์”

หนึ่งในเนื้อหาที่จะบรรจุลงในหลักสูตรการผลิตสื่อของโครงการ “รักษ์บ้านนอก” คือ การทอผ้า
ทั้งผ้าไหม และผ้าฝ้าย ที่บ้านกอก ถักทอ สืบสานมายาวนาน จนเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของชุมชน

“ตอนเป็นเด็ก ตื่นเช้าเดินลงมาใต้ถุนบ้านวันใด ผมต้องเห็นแม่อยู่ข้างล่างก่อนแล้วตลอด ถ้าไม่นั่งกระตุกกี่ทอผ้า ก็ต้องนั่งสาวเส้นไหมจากฝักหลอกหลีบ(รังไหม)” เมื่อพูดมาถึงตอนนี้ จักรพงษ์ หัวหน้าโครงการ “รักษ์บ้านนอก” หยุดชะงักไปชั่วครู่ หลับตาเหมือนจะย้อนความคิดกลับไป 

เพราะเห็นถึงความพิถีพิถัน การเอาใจใส่ ความตั้งใจ และความเหนื่อยยากในแต่ละขั้นตอนของการทอผ้า ทำให้เขาอยากมีส่วนช่วยในการสร้างตลาด สร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ โดยหวังว่า จะทำให้สินค้าผ้าไหมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้บ้าง

“วันที่เซ็นสัญญากับทางกองทุนฯ ทางเจ้าหน้าที่ถามผมว่า มั่นใจหรือว่าจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่เป็นอัตตลักษณ์ของชุมชนได้ คิดบวกมากไปหรือเปล่า? “ หัวหน้าโครงการ“รักษ์บ้านนอก” เล่าย้อนกลับไป
“ตอนนั้น ผมตอบทันทีว่า มั่นใจครับ เพราะกลัวไม่ได้เซ็นสัญญา” ฮา…เสียงหัวเราะประสานกันอีกครั้ง

เมื่อถึงเวลาลงพื้นที่ สิ่งที่มุ่งหวังก็เป็นจริง แม้จะเป็นแค่วงเล็กๆ แต่ก็พอทำให้ใจอิ่มเอิบ
“วันเปิดตัวโครงการฯ เราเอาผ้าขาวม้า ผ้าไหมมาตกแต่งเวที พอตอนจะเก็บกลับคืน เกิดการประมูลซิ่นไหมขึ้น ตอนนั้นผมยิ้มปลื้มเลย คิดในใจว่า นี่ไง มีหลักฐานแล้ว”

หลังจบการเสวนา วงประมูลซิ่นไหมก็เกิดขึ้น

ทีมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว เข้ามาดูสินค้าผ้าไหม

สาวนักสำรวจซักไซ้ชาวบ้าน ถึงกรรมวิธีการสาวเส้นไหมจากฝักหลอกหลีบ

ถักทอ ก่อเส้นทาง“รักษ์”

จากวงเล็กในวันนั้น กระเพื่อมสู่อีกวงในความมุ่งหวัง เมื่อทีมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ 5 จังหวัดภาคอีสานของการท่องเที่ยว สนใจจะเข้ามาดูการผลิต การทอผ้าไหม ซิ่นหมี่ ตลอดจนสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อเสนอเป็น 1 ใน 5 เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ของภาคอีสาน

“น้องที่อยู่ในทีมสำรวจเส้นทาง เขาเห็นจากเพจเฟซบุ้ค “รักษ์บ้านนอก” เขาเลยสอบถามรายละเอียดเส้นทาง และสินค้าว่า อยู่ตรงไหน มีอะไรบ้าง? เขาอยากจะแวะเข้ามาดูที่บ้านกอก”

ประชุมกับชาวบ้าน หารือเรื่องเนื้อหาที่จะบรรจุเป็นหลักสูตรของ“รักษ์บ้านนอก” พร้อมแจ้งข่าวเรื่องทีมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวจาก ททท.

“พอผมไปบอกชาวบ้านตอนประชุมหมู่บ้าน ทุกคนต่างก็ดีใจกันใหญ่ อยากให้มาดู อยากให้มีคนรู้ว่า ที่นี่เรามีอะไรบ้าง บางคนถึงกับเสนอว่า เดี๋ยวเอารถแท็กเตอร์ไปปรับพื้นที่ศูนย์อาชีพฯ ที่จะให้ทีมสำรวจเข้ามาดูให้เรียบ จะทำถึงขนาดนั้น” จักรพงษ์ เล่าต่อพร้อมรอยยิ้ม

หูกทอผ้า

ปลาร้าสับ ตราเภตรา(หัวเรือ) สินค้าขึ้นชื่อของหมู่บ้าน

แม้จะพยายามบอกชาวบ้านว่า นี่คือการมาแบบ จอบเบิ่ง(แอบดู) โดยทีมขนาดเล็กเพื่อสำรวจเส้นทางในเบื้องต้นเท่านั้น มิใช่มาแบบเต็มที่มีนักท่องเที่ยวมากันเป็นรถตู้ รถบัส เพื่อซื้อผ้าไหม ไม่ใช่ขนาดนั้น และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า จะได้รับการบรรจุเป็นเส้นทางท่องเที่ยวไหม?

ผญบ. ชาวบ้าน ยิ้มปลื้มอวดผ้าไหมต่อสายตาทีมสำรวจ

“ชาวบ้านบอกไม่เป็นไร อย่างน้อยก็มีคนสนใจ เห็นชาวบ้านดีใจ ผมยิ่งดีใจ ดีใจว่า โครงการ “รักษ์บ้านนอก” นอกจากจะผลิตสื่อปลอดภัยที่เป็นเป้าหมายหลักแล้ว เรายังต่อยอดทำประโยชน์ให้ชาวบ้านได้อีกช่องทาง”

แต่นอกจากดีใจแล้ว ลึกลงไปกว่านั้น คือความหวั่นใจ หวั่นใจว่า ถ้าเกิดอุปสรรค หรือติดปัญหาไม่สะดวกอื่นใด เป็นไปได้ว่า ทีมสำรวจอาจจะยกเลิก ไม่แวะเข้ามาในวันที่นัดหมาย

“ตอนแรก ผมว่าจะยกเลิกการนัดหมายกับทีมสำรวจ เพราะตอนนั้นวัน เวลา ที่นัดกันยังไม่แน่นอน ผมไม่กล้าบอกชาวบ้าน กลัวถึงเวลาแล้วไม่มีใครมา ไม่อยากให้พวกเขาเสียใจ แต่พอดีเป็นจังหวะที่ตรงกันกับกิจกรรมท้ายๆ ก่อนจะปิดช่วงของโครงการฯ พอดี ผมก็เลยยืนยันการนัดกับทีมสำรวจเส้นทางของ ททท.”

ผ้าไหมผืนสวย

จบของอีกวัน สานต่อของอีกเรื่อง

เช้าวันนัดหมาย ทีมสำรวจแจ้งว่า ต้องกลับเข้าไปตัวจังหวัดอีกที มีอีกภาระกิจที่ต้องไปทำไม่สามารถจะตรงดิ่งมาที่หมู่บ้านได้เลย ช่วงบ่ายแก่ ถึงจะมาได้

“ผมใจหายแว่บ..! แต่ก็พยายามมองในแง่ดี ดีเหมือนกันชาวบ้านจะได้มีเวลาเตรียมตัวได้มากขึ้น (บางคนมีกิจธุระประจำวัน ทุกเช้าต้องเอาวัว ควาย ออกจากคอกไปหากินกลางทุ่งนา) จากนั้นผมก็ตั้งใจบรรยาย ทำกิจกรรมที่โรงเรียน รอเวลา แบบว่า ทำใจสบายๆ”
เขาหยุดพักการสนทนาไปชั่วครู่ ก่อนจะกล่าวต่อ
“รู้ไหม? ขนาดว่า วางฟอร์มแบบสบายๆ นี่ ผมกินข้าวไม่ลงเลย” ฮา ! เสียงหัวเราะดังลั่นพร้อมกันทั้งวง

แม้มีเรื่องให้ได้ลุ้นใจหายใจคว่ำ บ่ายนั้นก็จบลงด้วยดี เป็นการจบของอีกวัน ขณะเดียวกันก็เสมือนเป็นการเริ่มต้นของอีกเส้นทาง เป็นเส้นทางที่ต้องอาศัยการร่วมแรง ร่วมใจ โอบอุ้ม ร่วมกันก้าวเดิน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความงามในความง่ายแบบวิถีถิ่น

ติดต่อโครงการ “รักษ์บ้านนอก” :

รักษ์บ้านนอก

Luxbaankok

https://www.facebook.com/chakrapong.srisunthon

Post a comment

14 − thirteen =