
นครสวรรค์ ผสมผสาน สร้างสรรค์
หลายคนคงทราบว่านครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ช่วงประเพณีตรุษจีนและงานแห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ เราจะเห็นความอลังการ จากพลังของคนในพื้นที่ที่มารวมตัวกันด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความศรัทธา
หากไปเที่ยวนครสวรรค์ในช่วงมีเทศกาลหรืองานประเพณี ก็จะได้พบกับสีสันสดใสทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน แต่ในช่วงปกติ ที่นครสวรรค์ก็มีจุดให้แวะเที่ยวชมที่น่าตื่นตาตื่นใจ และยังคงเต็มไปด้วยความหลากหลาย เพราะนอกจากชาวจีนแล้ว ยังมีชาติพันธุ์อื่น ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่นครสวรรค์
โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 กิจกรรมพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ ได้พาเราไปชื่นชมกับเส้นทางท่องเที่ยวที่ผสมผสานเรื่องราวสร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจ
พาสาน ผสาน สร้างสรรค์
จุดไฮไลต์ที่บอกเล่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของนครสวรรค์ได้เป็นอย่างดีอยู่ที่ “พาสาน” ซึ่งหมายถึง “ผสมผสาน” เรื่องราวของผู้คนหลากหลายที่มา
ที่ตั้งของพาสาน อยู่บนแหลมเกาะยม ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบริเวณนี้เองที่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ได้ไหลมาบรรจบกัน สื่อความหมายของการ “ผสาน” ได้อย่างงดงาม
ตัวอาคารคล้ายสะพานโค้งถูกออกแบบให้รับกับสภาพภูมิประเทศ ไม่ว่าน้ำลดหรือน้ำหลาก สถาปัตยกรรมของพาสานมีการประกอบของเส้นสายอย่างมีชั้นเชิง ใครที่ชอบงานสถาปัตยกรรมก็จะเดินตรวจตราชื่นชมรายละเอียดกันเพลิน
จากพาสานยังมองเห็นความเป็นไปของเมืองปากน้ำโพ ทั้งฝั่งศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม และฝั่งเมืองซึ่งมองเห็นตึกรามบ้านช่อง ซึ่งมีถนนคนเดินอยู่ริมแม่น้ำ
ไทดำ บ้านวังหยวก
ชาวไทดำ หรือ ไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดั้งเดิมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนามเหนือ เชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ มีการย้ายถิ่นมาอยู่ในประเทศไทยในหลายจังหวัด
“ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ” บ้านวังหยวก อ.เมืองนครสวรรค์ เป็นจุดท่องเที่ยวชุมชนที่มีเอกลักษณ์ สิ่งแรกเมื่อมาถึง เราได้รับคำเชิญให้ขึ้นไปบนเรือนทรงหลังคาครอบ มุมเล็ก ๆ ด้านในสุดเป็นที่ตั้งของ “กะล้อห่อง” หรือห้องผีของไทดำ ซึ่งผู้มาเยือนจะต้องเข้ามาบอกกล่าวและกราบไหว้ผีบรรพบุรุษเพื่อเป็นสิริมงคล
หากนัดหมายมาล่วงหน้าก็จะได้ชิมอาหารฝีมือชาวไทดำ ร่วมวงการละเล่นพื้นบ้าน รวมทั้ง DIY ธุงใยแมงมุมไทดำ จากนั้นไปเลือกซื้อหาผ้าทอและสินค้าที่ระลึก ซึ่งมีความสวยงามของลายปักอันเป็นเอกลักษณ์
กราบหลวงพ่อจ้อย วัดศรีอุทุมพร
อีกหนึ่งเส้นทางความศรัทธาของชาวนครสวรรค์ อยู่ที่ “วัดศรีอุทุมพร” หรือ “วัดหลวงพ่อจ้อย” พระครูจ้อย จนฺทสุวณฺโณ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา อันเป็นที่เคารพบูชามาอย่างยาวนาน
มาถึงตัววัดจะเห็นถึงความงดงามอลังการของศิลปะปูนปั้น และลวดลายเบญจรงค์ ที่ “อุโบสถ์ลอยฟ้า” ผ่านทางเข้าเป็นรูปหนุมานกำลังอ้าปาก ภายในประดิษฐานพระพุทธศรีอุทุมพรปฏิมากรรัตนมณี พระพุทธชินสีห์จำลอง และหลวงพ่อสุโขทัยสุขใจ
อีกฝั่งเป็น “พระมณฑป” ด้านหน้ามีซุ้มประตูและบันไดนาคทอดยาว พร้อมด้วยรูปปั้นช้างสามเศียร เทพที่ยืนเฝ้าบันไดทางเดิน ฯลฯ ภายในประดิษฐานพระพุทธชินสีห์เป็นพระประธาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และมีสรีระสังขารของหลวงพ่อจ้อยให้กราบไหว้
ในตัววัดยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิ หอพระ หอเทพ หอระฆัง-กลอง เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง หอมีดเทพศาสตราวุธ ภายในมีมีดหมอที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาว 9 เมตร น้ำหนัก 3,000 กิโลกรัม ใบมีดทำมาจากเหล็กกล้า ส่วนด้ามมีดทำมาจากต้นตะเคียนทองอายุ 100 ปี
Deegood Nakhonsawan
เปลี่ยนบรรยากาศการนั่งร้านกาแฟ ไปเดินเล่นกันในซอยนิติธรรม จ.นครสวรรค์ ย่านการค้าที่ยังมีกลิ่นอายแบบย้อนยุค และเคยเป็นฉากในละคร “ทุ่งเสน่หา”
หนึ่งในมุมเล็ก ๆ น่ารักในซอยนี้คือร้าน “Deegood Nakhonsawan” เป็นร้านกาแฟ และร้านจำหน่ายของที่ระลึก ทั้งโปสการ์ด กระเป๋าผ้าและเสื้อแฮนด์เมดงานปักมือ เป็นมุมเล็ก ๆ ที่รอให้ทุกคนแวะไปพูดคุยทักทาย พร้อมเครื่องดื่มหลากหลายรายการ
อุทยานสวรรค์ หนองสมบุญ
ในช่วงเช้าและเย็น เวลาแดดร่มลมตกกำลังดี ชาวนครสวรรค์จะพากันออกมาเดินเล่น ออกกำลังกายกันที่ “อุทยานสวรรค์” สวนสาธารณะขนาดใหญ่ในตัวเทศบาล มีหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า “หนองสมบุญ” อยู่ตรงกลาง

จักรกฤษณ์ เอ่งฉ้วน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครสวรรค์
ความโดดเด่นของอุทยานสวรรค์ คือ “มังกรสวรรค์” ขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมแบบจีน ล้อมรอบด้วยศาลา 4 หลัง มีสะพานเชื่อมสู่มังกรสวรรค์ บริเวณริมหนองน้ำยังมีมังกรประจำธาตุ ทั้งธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
ศาลเจ้าพ่อมังกรทอง
ศาลเจ้าพ่อมังกรทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในประดิษฐานเทพเจ้าของชาวจีนแต้จิ๋ว คือ “เหล่งบ้วยเซี่ยอ๊วง” หรือ “เหล่งบ่วยเอี๊ย” ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล
หลายคนคงทราบดีว่า ที่นครสวรรค์มีคณะเชิดมังกรและสิงโตอยู่เป็นจำนวนมาก แต่จะหาชมได้เฉพาะเทศกาลงานสำคัญ ๆ เท่านั้น
แต่ที่ศาลเจ้าพ่อมังกรทอง มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ในระดับประถมศึกษาเข้ามาเรียนรู้การเชิดมังกร เชิดสิงโต และการเล่นเอ็งกอ
หนึ่งในคณะมังกรวัยเยาว์ที่เราได้รับชมวันนี้ คือ “หลานมังกร” จากโรงเรียนอนุบาลนครสวรรค์ หากเดินทางมาเป็นหมู่คณะและทำการติดต่อล่วงหน้า ก็จะได้ชมการแสดงอันน่าประทับใจนี้
เมื่อการแสดงจบลง ค่ำคืนนี้ที่นครสวรรค์ยังคงเดินทางต่อไป ไม่ว่าจะหามุมนั่งเล่นชมวิวแม่น้ำ หรือจะออกไปหาของกินในตลาด
รวมทั้งจุดที่น่าแวะชมที่ “คลองญวนชวนรักษ์” แหล่งอาศัยของชาวญวนในอดีต ปัจจุบันมีการออกแบบพื้นที่สวนสาธารณะ เป็นธารน้ำที่ผ่านการบำบัดจนใสก่อนจะปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยา ในค่ำคืนจะประดับประดาด้วยแสงไฟ จนกลายเป็นสีสันยามราตรีที่น่าตื่นตาตื่นใจ