
Phuket Gems & Jewelry Fest ส่องประกายแห่งความหวังส่งออกไทย
ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก และทำให้หลายธุรกิจต้องประสบอุปสรรคครั้งใหญ่ แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดี เช่น ธุรกิจเพื่อสุขภาพ เนื่องจากผู้คนหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น
และอีกธุรกิจหนึ่งซึ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมายของคนทั่วไป นั่นคือสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ รายงานจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4,869 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 4,936.00 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.43 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563
แสดงให้เห็นถึงชื่อเสียงของอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก พร้อมทั้งการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันยังถือเป็นโอกาสที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กำหนดจัดงาน “Phuket Gems & Jewelry Fest by Bangkok Gems and Jewelry Fair” ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ Online Business Matching จัดระหว่าง 29 พ.ย.-5 ธ.ค. และ Mini Exhibition จัดแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากผู้ส่งออกไทยชั้นนำ 50 ราย ระหว่าง 8-12 ธ.ค. ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จังหวัดภูเก็ต ตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและขยายมูลค่าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า Phuket Gems & Jewelry Fest by Bangkok Gems & Jewelry Fair จัดขึ้นเพื่อสร้างช่องทางและเวทีการค้าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ให้ผู้ผลิตและส่งออกไทย ให้สามารถพบปะ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและเจรจาการค้ากับผู้ซื้อ/ ผู้นำเข้าในประเทศเป้าหมายได้ในยุค New Normal ซึ่งเป็นไปตามนโยบายและตามยุทธศาสตร์การรักษาและขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ รวมถึงฟื้นตลาดเก่าที่เคยเป็นตลาดสำคัญ เพื่อมุ่งช่วยเหลือและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนกระตุ้นมูลค่าการส่งออก
“อัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศไทยได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อและผู้นำเข้าทั่วโลกด้วยจุดเด่นและศักยภาพ ทั้งด้านวัตถุดิบซึ่งไทยถือเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ขณะที่ด้านการผลิตช่างฝีมือไทยมีทักษะและความประณีตในการปรับปรุงคุณภาพพลอย การออกแบบที่โดดเด่นและการขึ้นรูปเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าและห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก”
โดยในวันแถลงข่าวการจัดงาน Phuket Gems & Jewelry Fest by Bangkok Gems & Jewelry Fair มีเวทีเสวนา “เสน่ห์จิวเวลรี่ไทย เปล่งประกายเฉิดฉายในเวทีโลก” จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในวงการอัญมณีและเครื่องประดับ
นายสิรพัฐ พิพัฒน์วีรวัฒน์ Creative Director บริษัท เดอมอนด์ อนัณดารา จำกัด กล่าวว่า แบรนด์ “เดอมอนด์” อยู่ในตลาดเครื่องประดับเพชรมา 29 ปี โดยตนเองเป็นทายาทที่เข้ามาร่วมต่อยอดสินค้า พร้อมแตกไลน์เครื่องประดับเงินแบรนด์ Another Way We Speak ซึ่งเป็นความชื่นชอบส่วนตัว เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า เครื่องประดับเงินสำหรับผู้ชายยังมีให้เลือกไม่หลากหลาย จึงเป็นโอกาสในการเข้ามาทำตลาด
“เสน่ห์ของอัญมณีและเครื่องประดับไทย มาจากหลายปัจจัยประกอบกัน อาทิ การเป็นแหล่งวัตถุดิบอัญมณีที่ผลากลาย ฝีมือในการปรับปรุงคุณภาพ เช่น การเผา เป็นที่ยอมรับของตลาด อีกทั้งช่างฝีมือไทยมีความประณีต พิถีพิถัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โควิด-19 ถือเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส อีกทั้งประเทศไทยเปิดประเทศค่อนข้างเร็วกว่าหลาย ๆ ประเทศ งานนี้จึงเป็นโอกาสที่คู่ค้าจากต่างประเทศจะเข้ามาเจรจาธุรกิจและท่องเที่ยวเมืองไทย” นายสิรพัฐ กล่าว
นายศรัณญ อยู่คงดี จิวเวลรี่ดีไซเนอร์ เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับ SARRAN กล่าวว่า แต่ละพื้นที่ในแต่ละประเทศทั่วโลก ต่างมีเรื่องราว เรื่องเล่า ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบและเทคนิคของอัญมณีและเครื่องประดับ เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งมีภูมิปัญญาของแต่ละพื้นที่ และมีเรื่องราวของแต่ละท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชิ้นงาน ถือเป็นวิธีการเล่าเรื่องใหม่ ๆ ซึ่งต่อจากนี้ไป เครื่องประดับจะไม่เป็นเพียงเครื่องบ่งบอกสถานะ แต่หมายถึงการบ่งบอกความเป็นตัวตนได้ด้วย
“นอกจากความอ่อนช้อย และต้นทุนทางวัตถุดิบที่มีหลากหลาย เวลาดูเครื่องประดับอัญมณีก็เหมือนมองผู้หญิง หากเป็นเวทีประกวดนางงามระดับโลก ทุกคนล้วนมีความงดงามหลากหลาย แต่จะรู้ได้ว่าแต่ละคนมาจากพื้นที่ไหน เช่นเดียวกับเครื่องประดับไทย ซึ่งมีเรื่องราว เรื่องเล่า ซึ่งเป็นคุณค่าที่สามารถนำมาสื่อสารกับคนทั่วโลกได้”
ศรัณญ ยกตัวอย่าง เพชร ที่เคยมองว่าเป็นเพียงเพชร แต่ประกายเจิดจ้าของเพชร สามารถสื่อความหมายถึง ความหวัง ความสุข ความสนุกสนาน หากแบรนด์อัญมณีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน และสื่อสารพร้อมกัน จะสามารถสร้างคุณค่าของประกายเพชร (Emotional) ได้มากกว่าคุณสมบัติหรือมูลค่า (Funtional)
“ก่อนหน้านี้อัญมณีและเครื่องประดับ บางคนเคยบอกว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็น แต่ปัจจุบันบอกว่า เป็นสิ่งที่เข้ามาเติมเต็ม เติมพลังให้กับชีวิต หลังจากต้องอยู่บ้านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเลือกซื้อเครื่องประดับเป็นอีกโอกาสในการเลือกของขวัญให้กับตัวเอง และหากมาในงาน จะพบว่า ปัจจุบันผู้ผลิตได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและตีความการออกแบบที่สนุกสนานมากขึ้น”
ด้าน “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ได้ให้ข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเลือกเครื่องประดับว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ก่อนจะเลือกเครื่องประดับจะดูก่อนว่า ใส่ชุดแบบไหน มีแขนหรือไม่มีแขน เปิดหรือปิดคอ ทำผมแบบไหน มัดรวบหรือปล่อยยาว เช่น ถ้าใส่เสื้อคอเว้า ก็จะเลือกสร้อยคอ ถ้าสวมชุดปิดคอ ก็จะเลือกต่างหูเด่น ๆ แล้วรวบผม ถ้าปล่อยผม ก็จะเลือกต่างหูยาว ๆ ”
พบกับงาน “Phuket Gems and Jewelry Fest by Bangkok Gems0 and Jewelry Fair” วันที่ 8-12 ธันวาคม นี้ ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 เซ็นทรัล ภูเก็ต เฟสติวัล สินค้าที่จัดแสดงในงานครอบคลุมหลากหลายประเภท
สามารถเข้าชมงานแสดงสินค้าที่เซ็นทรัลเฟสติวัล หรือชมถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง ออนไลน์ ในวันที่ 8-10 ธันวาคม ชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkgems.com หรือ Facebook และ Instagram: Bangkok Gems Official หรือโทรสายตรงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 1169