
ความหวังที่ส่องประกาย GIT’s World Jewelry Design Awards 2023
ความหวังของผู้คน เกี่ยวข้องอะไรกับการเลือกเครื่องประดับ
เมื่อวิกฤตโรคระบาดผ่านพ้นไป หลากชีวิตต่างเคลื่อนไหว ผู้คนออกเดินทางพร้อมความหวังที่เจิดจ้า เปรียบเสมือนเครื่องประดับที่ส่องประกายระยิบระยับ เปล่งประกายแห่งแสงสู่วันที่ดีกว่า
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง จนมาถึงการเปิดประเทศ อุตสาหกรรมนี้ก็กลับมาส่องประกายเจิดจ้าอีกครั้ง ผู้คนหันมาเดินทางและออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะงานเลี้ยงสังสรรค์ที่กลับคืนสู่ปกติ แน่นอนว่าพวกเขาต้องการแต่งตัวแบบจัดเต็มให้สมกับที่รอคอย
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดในปี 2565 มีมูลค่าส่งออกเทียบเท่ากับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19
เรื่องราวเหล่านี้ เป็นที่มาของโครงการ GIT’s World Jewelry Design Awards 2023 การประกวดออกแบบเครื่องประดับภายใต้หัวข้อ “Glitter & Gold – The Brilliant way of Gold Shine” เครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทองอร่ามกับประกายระยิบระยับของอัญมณีหลากชนิดที่ผสมผสานเข้ากันจนเป็นงานสร้างสรรค์ที่ลงตัว
17 ปีกับเวทีอันเฉิดฉาย
สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT กล่าวว่าสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีภารกิจในการพัฒนาบุคลากรในด้านต่าง ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และมีการฝึกอบรมทางด้านการออกแบบที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
GIT ได้จัดโครงการประกวดการออกแบบเครื่องประดับขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเปิดกว้างให้นักสร้างสรรค์ และนักออกแบบ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจได้มีเข้าร่วม อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้วงการอัญมณีและเครื่องประดับตื่นตัวอยู่เสมอ โดยโครงการ GIT’s World Jewelry Design Awards 2023 จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “Glitter & Gold – The Brilliant way of Gold Shine” เครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทองอร่ามกับประกายระยิบระยับของอัญมณีหลากชนิดที่ผสมผสานเข้ากันจนเป็นงานสร้างสรรค์ที่ลงตัว เกิดเป็นผลงานเครื่องประดับที่งดงาม โดดเด่น และมีเอกลักษณ์
จากงานประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2022 นั้น มีนักออกแบบจากทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดรวม 527 ชิ้นงาน จาก 22 ประเทศ ที่ส่งมาที่สุดใน 5 ประเทศแรก ได้แก่ อิหร่าน, ไทย, อินเดีย, ไต้หวัน และจีน นอกจากนั้น ยังมีบาห์เรน อียิปต์ และประเทศในยุโรป และ สหรัฐอเมริกา
ชูศักยภาพไทย ฮับแห่งอัญมณีระดับโลก
ประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตพลอยสีโลก การจัดการประกวดระดับนานาชาติ จะเป็นอีกมิติหนึ่งในการเสริมศักยภาพให้กับนักออกแบบ และการสร้างแบรนด์ของไทย
ในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ผู้คนล้วนอยู่ด้วยความระแวดระวัง ภายใต้มาตรการ Social Distancing เครื่องประดับจึงถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบ และใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น อย่างเครื่องประดับที่เป็น Functional ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งเครื่องประดับสุขภาพ รวมถึงเครื่องประดับที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม
เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ผู้คนได้พบเจอกันมากขึ้น แนวโน้มเครื่องประดับจึงต้องการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง เป็นการเริ่มต้นยุคแห่งการฟื้นฟู เยียวยา และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างวันพรุ่งนี้ที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ทิ้งในเรื่องเทรนด์ที่ต่อเนื่องจากปีก่อน ๆ ทั้งในเรื่องของความยั่งยืน บ่งบอกถึงแหล่งที่มาอย่างมีจริยธรรม และการใช้วัสดุที่รักสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น GIT จึงนำความคิดต่าง ๆ นี้มาผสมผสานรวมกัน โดยนำแนวคิดหลักประจำปี 2023 คือการผสมผสานระหว่างโลกแห่งความจริง ผสานกับจินตนาการ และความฝันที่เป็นไปได้ มาเป็นแนวคิดของการประกวด โดยเน้นเรื่องของของนำความเปล่งประกายของอัญมณีนานาชาติ และ ความระยิบระยับของสีทอง ที่เปล่งประกาย ที่แสดงถึงความหรูหรา มารังสรรค์เป็นรูปแบบที่ทันสมัย ในแบบของ Rare and unique represents the ultimate luxury.
“เราคาดหวังว่าจะได้เห็นผลงานที่สามารถนำเสนอความสวยงามของวัสดุอันล้ำค่าอย่างทองคำ และประกายระยิบระยับของอัญมณี ประกอบกันเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม สอดคล้องกับเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอย่างลงตัว และจะต้องสามารถนำมาพัฒนาเป็นจิวเวลรี่ที่จำหน่ายได้จริงต่อไป” สุเมธ กล่าว
GIT’s World Jewelry Design Awards 2023
การประกวดครั้งนี้มีรางวัลมูลค่ารวมกว่า 240,000 บาท โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 3,000เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ โดยจะประกาศผลการตัดสินรอบแรกจากแบบวาดในวันที่ 23 พฤษภาคม นี้ โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก อาทิ
- คุณสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ
- คุณสิริน ศรีอรทัยกุล ตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด
- ม.ล. ภาวินี สันติศิริ ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อโยธยาเทรด (93)
- คุณธนิษฐ์ ดุรงคพิทยา ตำแหน่ง กรรมการบริหาร บจก.พรีเมียร์เจมส์เทรดดิ้ง
- ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ Lee Seng Jewelry Group
- Mr. Yutaka Fukasawa (Japan Precious Magazine Director & Chief Editor)
ทั้งนี้ นักออกแบบจะต้องส่งแบบวาดไม่จำกัดเทคนิค หรือภาพเขียนจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ตรงกับหัวข้อ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ชิ้นใน 1 ชุดหรือคอลเลคชั่น โดยในคอลเลชั่นนั้นจะต้องมีสร้อยคอเป็นหลัก และเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ต่างหู แหวน กำไล เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – 12 พฤษภาคม 2566ผ่านทางเว็บไซต์ www.gitwjda.com หรือส่งผลงานพร้อมใบสมัครทางไปรษณีย์ หรือส่งผลงานด้วยตัวเองที่ฝ่ายฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เลขที่ 140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 3 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ฝ่ายฝึกอบรม โทร. +66 2 634 4999 ต่อ 301-306 และ 311-313 และดูรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.gitwjda.com