Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ความยุติธรรมแบบดิจิทัล สางความเหลื่อมล้ำในสังคมยุค New Normal

จากการแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากเป็นปัญหาด้านสาธารณะสุขแล้ว ยังเป็นตัวเร่งความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผู้คนทั่วโลกกำลังยากจนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น เกิดความเครียดต่อประชาชนมากขึ้น อาจลามไปถึงเกิดความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อเพศหญิง กระบวนการยุติธรรมยุคใหม่จึงจำเป็นตัวปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ตามทันปัญหาในบริบทสังคมยุคปัจจุบันที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่หันมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น

การประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤษภาคม 2564 ผ่านการเสวนาออนไลน์ หัวข้อหลัก “การอำนวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” (Enhancing Justice for People in the New Normal Era) เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสร้างเป็นตำราการบริหารงานยุติธรรมในยุคใหม่ จัดโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ซึ่งครั้งนี้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ เครือข่ายผู้บริหารหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development – RoLD) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมเสวนา แบ่งปันความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ความยุติธรรมดิจิทัล กระบวนการยุติธรรมที่เคารพความต่าง สร้างการมีส่วนร่วม (Inclusive) ในยุคโควิด-19

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี  นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกการทำงานของกองทุนยุติธรรม ได้กล่าวถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยว่า มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถยื่นความช่วยเหลือให้ได้เต็มที่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น ขอบเขตการให้ความช่วยเหลือจำกัดเฉพาะกรณีที่เป็นคดีความที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลแล้วเท่านั้น ช่วยได้เฉพาะคนที่ผ่านเกณฑ์ทางกฎหมาย และเกณฑ์ประเมินฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ซึ่ง ดร.กิรติพงศ์ มองว่า นี่คือประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งที่จริงแล้วประเทศที่ปกครองด้วยระบบนิติรัฐ ประชาชนจะต้องได้รับประกันสิทธิ์ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพราะฉะนั้น ประชาชนทุกคนจะต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอ และสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค

สำนักงานกองทุนยุติธรรมภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อสร้างความเสมอภาค มุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มคนยากไร้ โดยมีภารกิจหลัก 4 ข้อ คือ (1) เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี (2) การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย (3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีถูกขังเกิน ศาลยกฟ้องเนื่องจากเป็นแพะ และ (4) การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

ประเด็นสำคัญ คือ “ยังมีคำร้องของประชาชนจำนวนมากจึงไม่ได้รับการอนุมัติให้ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนยุติธรรม” ประเด็นนี้ ดร.กิรติพงศ์ ได้ชี้แจงถึงปัญหาด้านกฎหมายและเกณฑ์ในการตีความกฎหมาย ที่กองทุนยุติธรรมต้องหาแนวทางปรับแก้กันต่อไป ดังนี้

(1) การช่วยเหลือในการดำเนินคดี ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือว่าต้องอยู่ในสถานะที่กลายเป็นคดีความแล้วเท่านั้น หากยังไม่เป็นคดี จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้

(2) การช่วยเหลือให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี พบปัญหา คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการประเมินที่ใช้การตีความกฎหมาย โดยหลักการประเมินกำหนดว่า หากให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหามีความเสี่ยงจะหลบหนีคดี หรือก่อคดีที่เป็นภัยต่อความสงบสุขหรือไม่ การกำหนดเช่นนี้ ทำให้ผู้ต้องหาที่มีภูมิลำเนาใกล้ชายแดนและผู้ต้องหาคดียาเสพติดมักจะไม่ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือ

(3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พบว่า ปัญหาจากการตีความ ทำให้มีผู้ไม่ได้รับการอนุมัติคำร้อง เพราะกำหนดว่า ต้องเป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจงใจกลั่นแกล้ง หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ ซึ่ง ดร.กิรติพงศ์ มองว่า การตีความเช่นนี้ทำให้ประชาชนหลายคนถูกตัดโอกาสการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม

(4) การช่วยเหลือด้านการให้ความรู้กับประชาชน ก็ถูกตีกรอบว่าต้องเป็นโครงการที่มาจากส่วนกลางเท่านั้น ทำให้โครงการที่ได้รับอนุมัติขาดความหลากหลาย

ดังนั้น สำนักงานกองทุนยุติธรรมจึงมีแผนที่จะปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมากขึ้น

ความท้าทายสำคัญอีกประการที่กองทุนยุติธรรมต้องเผชิญ คือ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเข้าถึงสำนักงานกองทุนยุติธรรมได้อย่างยากลำบาก โดยพบปัญหา เช่น ระบบการรับเรื่องและรวบรวมข้อมูลทำได้ยาก การเข้าถึงบริการและ การประชุมพิจารณาอนุมัติ รวมถึงการเซ็นสัญญาและรายงานตัว ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

สำนักกองทุนยุติธรรมจึงกำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการต่อยอดพัฒนาระบบความช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัล เช่น การพัฒนา Mobile Applications เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้น การพัฒนาระบบ Digital Exchange Center ที่แข็งแรง และการพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data ของกองทุน

การปรับตัวดังกล่าว หวังให้การทำงานลดขั้นตอนมากขึ้น ลดการเดินทางของประชนและเจ้าหน้าที่ กระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ให้ประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนและเสมอภาคในอนาคต

“เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมยุคนิวนอร์มอล สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ ทำให้ประชาชนรับทราบว่า กองทุนยุติธรรมทำหน้าที่อะไร มากกว่านั้นในเชิงกฎหมายไม่เคยพูดเลยว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้ เบื้องต้นเราต้องสร้างความเข้าใจว่าประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิ์ตรงนี้ได้ทุกคน กองทุนยุติธรรมจะต้องขยายขอบเขตการทำงาน เช่น หาที่ปรึกษานักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อมาช่วยเหลือหรือช่วยไกล่เกลี่ยก่อนที่คดีความจะขยายออกไป แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วก็จะช่วยลดภาวะความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเป็นคดีความในอนาคตด้วย” ดร.กิรติพงศ์ กล่าวสรุป

การช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ ลดความเหลื่อมล้ำต่อเด็กและสตรีในยุคโควิด-19

ในงานเสวนาครั้งนี้ได้พูดถึงปัญหาของกลุ่มเปราะบางทั้งเด็กและสตรี อันเป็นผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหลายหน่วยงานในสังคมได้ร่วมแบ่งปันแนวทางการแก้ปัญหาสุดสร้างสรรค์และตอบโจทย์ปัญหายุคใหม่ได้ทันท่วงที

สุรเสกข์  ยุทธิวัฒน์

นายสุรเสกข์  ยุทธิวัฒน์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูลมอโร จำกัด ได้เล่าถึงโครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” ว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น พบปัญหาการติดโทรศัพท์มือถือ การติดเกมออนไลน์ รวมถึงเกิดภัยคุกคามออนไลน์เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนโดยที่ผู้ปกครองยังขาดองค์ความรู้วิธีดูแลลูกหลานอย่างถูกต้อง ผู้ปกครองมักดุด่าและทำร้ายร่างกายเด็กซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง

โครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” จึงเป็นระบบการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานติดมือถือ เปิดห้องเรียนออนไลน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองศึกษาแนวทางในการสื่อสารกับบุตรหลาน เพื่อแก้พฤติกรรมการติดมือถือด้วยรูปแบบการแชร์ประสบการณ์กลุ่ม โดยให้พ่อแม่เข้าเรียนรู้วิธีการดูแลบุตรหลานตามแต่ละช่วงวัย คือ ช่วงปฐมวัย ช่วงประถม และช่วงมัธยม และมีการติดตามผลให้ผู้ปกครองส่งการบ้านผ่านแอปพลิเคชัน Line พบว่า โครงการได้ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ค่าเรียน ค่าที่พัก ผู้ปกครองจากหลายพื้นที่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ ลดค่าใช้จ่ายในการปรึกษากับจิตแพทย์ในกลุ่มผู้ปกครองที่ไม่ได้มีกำลังทรัพย์เพียงพอ

นอกจากนี้ทีมทูลมอโรกำลังพัฒนาหลักสูตรที่เอื้อให้ “ผู้ปกครองทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ” เข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์นี้ด้วย หวังใช้พลังสื่อในการช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

“ปัจจุบันสื่อสามารถให้แรงบันดาลใจและให้ความรู้ต่อคนหมู่มากได้มากขึ้น กระบวนการสื่อที่สร้างสรรค์จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ เช่น Facebook Fanpage ร่วมมือกับเครือข่ายในการช่วยเหลือลูกเพจที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน สื่อออนไลน์จึงมีพลังมากที่ทำให้ผู้ประสบปัญหาเหล่านี้เข้าถึงการแก้ปัญหาได้เร็วมากขึ้น สื่อต้องมองว่าแฟนเพจเปรียบเสมือนพรรคพวกของตัวเองที่เราพร้อมให้การช่วยเหลือ ดีกว่าแค่สร้างความตระหนัก (awareness) อย่างเดียว ถือเป็นพลังของสื่อที่สามารถสร้างได้จริงในช่วงเวลานี้”  นายสุรเสกข์ กล่าวสรุป

มณฑิรา  นาควิเชียร

นางสาวมณฑิรา  นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้นำเสนอ งานวิจัยของ UN Women ในหัวข้อ “COVID-19 and Violence Against Women: The evidence behind the talk” ระบุถึงปัญหาความรุนแรงหลายรูปแบบต่อเพศหญิงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคที่เกิดขึ้นในช่วงแพร่ระบาดของโควิด 19 วิจัยช่วงเดือนกันยายน

พ.ศ.2562 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยใช้การค้นหา 20.5 ล้าน unique searches และ 3,500 คีย์เวิร์ด พบว่าผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงผ่านคำต่างๆ อีกทั้งเมื่อใช้ AI ก็ยังพบภาพร่องรอยที่ผู้หญิงถูกทำร้ายและถูกโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ถึงร้อยละ 80 จากคำค้นหา พบว่า ผู้หญิงมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า กลัว เหงา เปล่าเปลี่ยว ติดต่อครอบครัวไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงล็อคดาวน์ ทวิตเตอร์ในประเทศไทยมีการใช้คำที่มีความหมายที่แสดงถึงการรังเกียจเดียดฉันท์ มุ่งทำร้ายให้เสื่อมเกียรติศักดิ์ศรี

ความเป็นหญิงมากขึ้นถึง 22,384% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ผู้หญิงยังเจอปัญหาการถูกประณามหรือประจาน (Victim Shaming) ผ่านทางออนไลน์ รวมถึงถูกใช้ความรุนแรงจากคนในครอบครัวและชุมชนด้วย

ประเด็นสำคัญ คือ ในช่วงล็อคดาวน์ ผู้หญิงต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดกับบุคคลเหล่านั้นตลอดเวลา ดังนั้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากขึ้น

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า “กลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติเพศหญิง” ก็มักถูกสังคมมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมตามได้ตามปกติ ซึ่งการมองในลักษณะนี้ถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ต่อผู้หญิงกลุ่มนี้ด้วย

UN Women จึงร่วมมือกับ ภาคีเครือข่าย นักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และกลุ่ม อสม. ท้องถิ่น ต่อสู้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของเพศหญิง เช่น การให้อาสาสมัครเยี่ยมบ้านกลุ่มเปราะบางในเชิงรุก

รวมถึงผลักดันการสื่อสารที่พยายามกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างทั่วถึง ถือเป็นบทบาทสำคัญของเพศหญิงต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในช่วงที่ผ่านมา

“ผู้หญิงควรได้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการวางแผนนโยบายระดับสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของเพศหญิงเป็นพิเศษ ปัจจุบันยังมีการใช้กรอบความคิดของเพศอื่นมามองความต้องการของเพศหญิง รวมถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศก็ต้องมีผู้แทนหรือภาคประชาสังคมที่ทำงานให้กับกลุ่มคนเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อเข้ามาให้ความเห็นและทำงานกับภาครัฐได้อย่างแท้จริง นี่เป็นกลไกสำคัญที่เราจะสามารถนำความเห็นของพวกเขามารวม เพื่อวางแผนตัดสินใจร่วมกัน สร้างพื้นที่ยืนให้ทุกคนในสังคม ซึ่งจะดีต่อการวางแผนในเชิงนโยบาย” นางสาวมณฑิรา กล่าวสรุป

ในงานแสวนาครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการทำงานเฉพาะด้าน แต่ก็มาเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในภาพรวมสังคมไทยโดยเฉพาะยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทุกคนกำลังปรับตัวสู่ยุคนิวนอร์มอล เชื่อว่ากลไกต่าง ๆ ก็ยังต้องเดินหน้าทำงานต่อไปให้สอดคล้องกับบริบทสังคม ให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมเราแคบลง

ผู้สนใจสามารถติดตามชมบันทึกการประชุมเสวนาย้อนหลังออนไลน์ได้ทาง

https://www.facebook.com/watch/live/?v=179246547315822&ref=watch_permalink

Post a comment

seven + eighteen =