Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ผ้าบาติกในพระปิยะมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา

ภายใต้ความงดงามของลวดลายอันวิจิตรบรรจงบนผืนผ้าบาติก ที่จัดแสดงอย่างเรียบง่าย ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบรมมหาราชวัง เต็มไปด้วยเรื่องเล่าแห่งศรัทธาและความเชื่อของผู้คนหลายเชื้อชาติ เชื่อกันว่า ‘ผ้าบาติก’ หรือ ‘ผ้าปาเต๊ะ’ มีถิ่นกำเนิดจากอินโดนีเซีย โดยช่างฝีมือจะถ่ายทอดเทคนิคในการสร้างสรรค์ลวดลาย และการลงสีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังได้รับอิทธิพลในการสร้างสรรค์ลวดลายจากวัฒนธรรมต่าง ๆ อาทิ เปอร์เซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ จึงไม่ผิดหากกล่าวว่า ‘ผ้าบาติก’ เป็นผ้าที่มีประวัติศาสตร์ร่วมในหลายวัฒนธรรมมานานนับร้อยปี

ทว่าน้อยคนนักจะรู้ว่า ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดแสดงผ้าบาติกหาชมยาก ผ้าบาติกจากช่างฝีมือชื่อดังในประวัติศาสตร์ และผ้าบาติกที่มีเพียงผืนเดียวในโลก ที่ทำให้ผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมจากหลายประเทศแวะเวียนมาเยี่ยมชมนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยะมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา อยู่เสมอ ผ้าบาติกอายุนับร้อยปีกว่า ๓๐๐ ผืน เป็นของทรงสะสมและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีการให้หมายเลขกำกับ และบันทึกข้อมูลรายละเอียดแนบไว้ทุกผืน

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ชวนทุกท่านสัมผัสเรื่องเล่าผ่านลวดลายของผ้าบาติกหาชมยากถึง ๖ ผืน ถ่ายทอดด้วยถ้อยภาษาอันละมุนโดย คุณศาสตรัตน์ มัดดิน หรือ ‘คุณราฟ’ ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ ที่ควรหาโอกาสไปชมสักครั้งในชีวิต

๑. ผ้าบาติกจากโรงเขียนผ้าของนาง เอ. เจ. เอฟ. ยานส์ เมืองเปอกาลองงัน : ด้วยเป็นชาวตะวันตกที่มาตั้งรกรากและโรงเขียนผ้าบนเกาะชวา ลวดลายที่ถ่ายทอดบนผืนผ้าจึงได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในยุโรป ณ ช่วงเวลานั้น อาทิ ริบบิ้น นก ดอกไม้ บูเกต์ หรือ ‘บูเกตัน’ และเป็นศิลปินผ้าบาติกคนแรก ๆ ที่ลงลายเซ็นบนผืนผ้าโดยใช้ชื่อย่อว่า ‘J. Jans’ บริเวณด้านบนของหัวผ้า โดยเฉพาะลายดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโรงเขียนผ้าแห่งนี้ อันเกิดจากการผสมผสานศิลปะช่วงปลายยุควิกตอเรียนกับศิลปะอาร์ตนูโวบริเวณหัวผ้า ส่วนท้องผ้าเป็นลายช่อดอกไม้สลับกับนกคู่ มีดอกมะลิรายรอบบนพื้นหลังของผ้า เอกลักษณ์อันโดดเด่นของโรงเขียนผ้าแห่งนี้อยู่ที่การลงสีพาสเทล เช่น สีฟ้า สีชมพู สีเหลือง เป็นต้น มาสร้างสรรค์ลวดลายให้มีความอ่อนช้อยและงดงามมากขึ้น

๒. ผ้าบาติก ‘ปัง บิรู อูงัน’ เมืองลาเซ็ม : ผ้านุ่ง (โสร่ง) แบบปัง บิรู อูงัน มาจากโรงเขียนผ้าของพ่อค้าชาวจีน ลวดลายบนผ้าบาติกจึงสะท้อนความเชื่อของชาวจีนผ่านสัตว์มงคลต่าง ๆ เช่น ‘ปลาคาร์ปกระโดดข้ามประตูมังกร’ สื่อถึงความมานะ อดทน ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการเอาชนะอุปสรรคในการสอบเข้ารับราชการ นอกจากนี้ ยังมีลวดลายของกิเลน ผีเสื้อ ไก่ฟ้า นกฟีนิกซ์คู่ ฯลฯ ร่วมกับการใช้สีมงคลของชาวจีนอย่างสีแดง รวมถึงการนำสีมาใช้ตั้งชื่อลาย เช่น ปัง (สีแดง) บิรู (สีน้ำเงิน) อูงัน (สีม่วง) โซกะ (น้ำตาล) อีโจ (สีเขียว) เป็นต้น

คุณราฟกล่าวเสริมว่า “ผ้าบาติกชวานิยมใช้ประมาณ ๕-๖ สี ส่วนสีเขียวจะพบเห็นได้น้อยมาก นอกจากโรงเขียนแห่งหนึ่งในเมืองเซมารัง โดยแต่ละเมืองจะสร้างสรรค์ลวดลายของผ้าบาติกที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน ส่วนเปอกาลองงันและลาเซ็มเป็นสองเมืองที่รัชกาลที่ ๕ ไม่ได้เสด็จฯ เยือน เนื่องจากสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พระราชโอรส) ทรงประชวรระหว่างเสด็จฯ เยือนชวา (พ.ศ. ๒๔๔๔)  พ่อค้าจึงนำผ้าจากสองเมืองนี้มาให้ทอดพระเนตร ณ โรงแรมที่ประทับ อันเป็นที่มาของผ้าบาติกที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ครั้งนี้”

๓. ผ้าบาติกลาย ‘ปารัง รือสัก บารอง’ โรงเขียนผ้าของนางแวน ลาวิก แวน แพบสต์ เมืองยอกยาการ์ตา: หนึ่งในโรงเขียนผ้าบาติกที่มีชื่อเสียงระดับโลก ด้วยเป็นโรงเขียนผ้าของชาวฮอลันดา เชื้อสายจีน ลวดลายส่วนใหญ่จึงได้แรงบันดาลใจจากศิลปะตกวันตก ยกเว้นลาย ‘ปารัง รือสัก’ ที่จัดอยู่ในกลุ่มลายชั้นสูงสวมใส่ได้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูง ถือเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของกริช มักทำเป็นลักษณะแนวทแยง แต่ละแถวแทรกด้วยลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดเล็กเรียกว่า ‘มิลิยง’ และเป็นลวดลายเดียวกับที่สุลต่านถวายให้แก่รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนชวา ลายปารังเป็นที่นิยมอย่างมากในชวากลางโดยเฉพาะเมืองยอกยาการ์ตาและสุราการ์ตา

๔. ผ้าบาติก ‘ลายฮุก’ โรงเขียนผ้าของนางแวน ลาวิก แวน แพบสต์ เมืองยอกยาการ์ตา: อีกหนึ่งลวดลายที่สงวนไว้ใช้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูง ‘ลายฮุก’ มีลักษณะเป็นวงกลม มีนกอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเปลือกหอย ๔ ด้าน โดยวงกลมเปรียบเสมือนไข่ สื่อถึงจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ขณะที่เปลือกหอยตามความเชื่อของชาวฮินดูถือเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ส่วนความเชื่อของชวาหมายถึง ความร่ำรวยและมั่งคั่ง

คุณราฟเล่าว่า “โรงเขียนผ้าแห่งนี้รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ เยือนถึงสองครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ และ พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงพบกับนางแวนและบุตรสาวคนโต (ซึ่งมีชื่อเดียวกัน) ทรงบรรยายถึงเนื้อผ้าและขั้นตอนการทำผ้าบาติกของโรงเขียนแห่งนี้ไว้อย่างละเอียด และทรงชื่นชมว่าเป็นผ้าบาติกเนื้อดีนำเข้าจากยุโรป สันนิษฐานว่าผ้าบาติกของโรงเขียนแห่งนี้น่าจะมีชื่อเสียงอย่างมาก เพราะมีการนำผ้าไปจัดแสดงในงาน The Brussels International Exposition of 1910 (World’s Fair) ณ ประเทศเบลเยียม และจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Tropenmuseum (กรุงอัมสเตอร์ดัม) จุดเด่นของโรงเขียนนี้นอกจากจะอยู่ที่ลวดลายละเอียดอ่อนช้อยบรรจง แล้วยังเน้นการลงสีครามได้งดงามราวกับผ้าไหม”

๕. ผ้าบาติกลาย ‘ปาสแรน’ แห่งเมืองสุราการ์ตา: ท่ามกลางผ้าบาติกมากมายภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังมีผ้าบาติกลายปาสแรนที่โดดเด่น สะดุดตา และดึงดูดความสนใจของผู้คนเป็นอย่างดี ผ้าผืนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อเรื่องแม่โพสพหรือ ‘เทพีแห่งข้าว’ ของชาวญี่ปุ่น ช่างฝีมือบรรจงวาดลวดลายและให้สีสันอ่อนช้อยอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ ‘ร่ม’ หมายถึงการคุ้มครองป้องกัน ‘พัด’ หมายถึงความสงบสุข ลวดลายบนผ้าผืนนี้จึงสื่อถึง ‘ศรี’ หรือจิตวิญญาณแห่งแผ่นดิน ซึ่งได้ ‘น้ำ’ มาจากซาโดโน (Sadono) ผู้เป็นพี่ชายฝาแฝดที่เป็นตัวแทนของท้องฟ้า เพื่อก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิต เห็นได้จากลายนกที่เกาะอยู่บนต้นไม้ ผ้าบาติกผืนนี้เป็นอีกหนึ่งหาชมยาก นอกจากในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แห่งนี้

๖. ผ้าบาติกลาย ‘สิริกิติ์’ (Sirikit): ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สื่อถึงพระสิริโฉมและพระจริยวัตรอันงดงาม เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ และเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและอินโดนีเซีย คุณมาเรีย วาโวรันตู ที่ปรึกษานิทรรศการได้แปลความหมายคำว่า ‘สิริกิติ์’ โดย ‘สิริ’ มาจากคำว่า ‘ศรี’ แปลว่าสวย และ ‘กิต’ แปลว่า การรวมกัน เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายความถึง “สิ่งสวยงามอันหลากหลายที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแข็งแกร่งขึ้น”

“ลวดลายในผืนผ้าประกอบด้วยสามเหลี่ยมหน้าจั่วที่ภายในเต็มไปด้วยดอกไม้หลากหลายชนิด อาทิ ‘ใบเฟิร์น’ สัญลักษณ์ของพลังและความแข็งแกร่ง ‘ดอกกานพลู’ และ ‘ดอกกาแฟ’ แทนกลิ่นดอกไม้หอม ซึ่งเชื่อว่าช่วยส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ‘เมล็ดข้าว’ บนพื้นหลังของผืนผ้าเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง ส่วนพื้นหลังสีน้ำทะเลและลายเกล็ดปลา เชื่อว่าสามารถปกป้องผู้สวมใส่จากโรคภัยไข้เจ็บได้” คุณราฟกล่าวเสริม

นอกจากผ้าบาติกหาชมยากทั้ง ๖ ผืน ภายในนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยะมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา ยังนำเสนอเรื่องราวการเสด็จฯ เยือนชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทั้งสามครั้ง จัดแสดงผ้าบาติกสะสมจากเมืองต่าง ๆ บนเกาะชวา เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ ห้องจัดแสดง ๓-๔ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓๐ น.

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง

ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง

เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐

โทรศัพท์ (+๖๖) (๒) ๒๒๕ ๙๔๒๐

เว็บไซต์ http://www.qsmtthailand.org/

Post a comment

two × 3 =