
“อ่างทอง” ใบนี้ มีดีอะไร
ที่ “อ่างทอง” แม้จะไม่ได้มีอ่างเป็นทองคำ แต่ล้ำค่ายิ่งกว่านั้น ด้วยสภาพภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์จนได้ชื่อว่า “อ่างทอง” ซึ่งหมายถึง อู่ข้าวอู่น้ำที่เป็นดังขุมทรัพย์อันล้ำค่า
ในวันนี้ อ่างทองก็ยังเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ พรั่งพร้อมไปด้วยงานหัตถกรรมพื้นถิ่นไม่ว่าจะเป็นงานปั้นตุ๊กตาชาววัง การทำกลอง การทำอิฐดินเผา หรือการผลิต เครื่องจักสาน เป็นอีกแหล่งของภูมิปัญญาที่ได้ชื่อว่า “มรดกแห่งสยาม”
ต้นกำเนิดเพลงลิเก
อ่างทองได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดเพลงลิเก ศิลปะการร้องรำที่จัดเต็มด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับอลังการ จังหวัดอ่างทอง ได้ให้กำเนิดคณะลิเกมากกว่า 100 คณะ อาทิ คณะของ ‘พงษ์ศักดิ์ สวนศรี’ ศิษย์ของ ‘หอมหวล’ หรือ ‘หอมหวล นาคศิริ’ ปรมาจารย์ลิเกชื่อดัง ซึ่งวันนี้ท่านยังคงสืบสานศิลปะการแสดงลิเกให้คงอยู่ พร้อมถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้ศิลปะอันงดงามนี้เลือนหายไป
ย้อนตำนาน100 ปี ที่ตลาดเก่า
หลักฐานสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นความรุ่งเรืองของเมืองอันอุดมสมบูรณ์ของอ่างทองอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ “ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” หรือ “ตลาดวิเศษชัยชาญ” ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เติบโตตามลำแม่น้ำน้อย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ปัจจุบันตลาดศาลเจ้าโรงทอง ยังคงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งตัวอาคารบ้านเรือนทรงเก่าโบราณสถานและโบราณวัตถุ แม้ว่าจะมีบางส่วนโดนไฟไหม้ไปเมื่อปี 2548 การเข้ามาในตลาดแห่งนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการจับจ่ายซื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเข้ามาเพื่อย้อนรำลึกความคึกคักของย่านตลาดโบราณ มีร้านค้าเก่าๆ ที่ยังคงเปิดให้บริการ นับเป็นช่วงเวลาที่แสนรื่นรมย์
พระนอนที่ยาวที่สุดในเมืองไทย
อ่างทองเป็นอีกจังหวัดที่มีความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ปรากฏให้เห็นเป็นวัดที่กระจายตัวอยู่ราว 200 แห่ง ซึ่งสามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อกันได้โดยไม่ไกล อีกทั้งยังเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถึง 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ “วัดขุนอินทประมูล” ซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร (25 วา) มีความงดงามมาก ซึ่ง “เขาเล่าว่า” หากได้สัมผัสที่ฝ่าพระบาทพระนอน ท่านจะประทานพรให้มีอายุยืนยาว
ตุ๊กตาชาววัง ปั้นเป็นเล่นได้
อ่างทองเป็นอีกจังหวัดที่มีของดีจากภูมิปัญญาอยู่หลายอย่าง แต่ที่ได้ชื่อว่าเป็นของดีวิถีเด็ดของคนอ่างทองคือการทำตุ๊กตาชาววัง จากพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร “ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ” เป็นเรือนไทยทรงสูง อยู่บริเวณวัดท่าสุทธาวาส ในพื้นที่ ต.บ้านบางเสด็จ เดิมทีตำบลนี้ชื่อ ว่า “บ้านวัดตาล” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “บ้านบางเสด็จ” เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ.2518 นำมาซึ่งความปลื้มปิติของพสกนิกรมาจนถึงปัจจุบัน
เทคนิครมควัน เอกลักษณ์จักสานบ้านเจ้าฉ่า
นอกจากนั้นยังมี ชุมชนบางเจ้าฉ่า หมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำน้อยใน อ. โพธิ์ทอง ที่เปี่ยมด้วยฝีมือในการจักสาน เป็นชุมชนเพื่อนการเรียนรู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวได้แบบเพลินๆ ผลงานการจักสานของชาวบ้านในชุมชนมีความละเอียดอ่อน ทั้งการสานไม้ไผ่และหวาย รูปแบบก็หลากหลาย ไม่จำเจ ราคาย่อมเยาเพราะเข้ามาถึงแหล่งผลิตโดยตรง เอกลักษณ์สำคัญของงานจักสานของที่นี่คือการรมควันจากฟางเข้าป้องกันปลวกไม้ไผ่เกิดสีสันอันทรงมนต์ขลัง ที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ แถมยังเป็นที่ถูกใจของชาวญี่ปุ่นอีกด้วย
นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเข้าพักในอ่างทองได้หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งโฮมสเตย์ที่บ้านเจ้าฉ่า ซึ่งบอกได้ว่า เป็นอีกช่วงเวลาดีๆ ในวิถีเรียบง่าย ได้ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่ต้องรีบร้อน ตื่นเช้ามายังได้ร่วมทำบุญตักบาตรภายในตัวหมู่บ้านอีกด้วย